Loading...

ธรรมศาสตร์ ร่วมจัดนิทรรศการฯ ‘สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา’ ณ ยูเนสโก กรุงปารีส

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับหน่วยงานรัฐบาล จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ครบรอบ 100 ปี วันประสูติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

วันอังคารที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2566

     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสมาคมศิลปศาสตร์ธรรมศาสตร์ ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงการต่างประเทศ จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ในวาระครบรอบ 100 ปี วันประสูติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 ณ สำนักงานใหญ่องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยนิทรรศการเฉลิมพระเกียรตินี้เป็นหนึ่งในแผนงานเฉลิมฉลองฯ

     ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้ทรงเป็นทูตสันถวไมตรีขององค์การยูเนสโกด้านการส่งเสริมศักยภาพของเด็กชนกลุ่มน้อยและการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงานนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองครบรอบ 100 ปี วันประสูติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยมีนางออเดรย์ อาซูเล ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก นางทามารา รัสโตวัค เซียมาชวีลี ประธานคณะกรรมการบริหารยูเนสโก นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมรับเสด็จ

     สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงมีพระกรุณาธิคุณต่อคณะศิลปศาสตร์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทรงเป็นอาจารย์ประจำที่คณะศิลปศาสตร์ ระหว่าง พ.ศ. 2513-2519 และทรงเป็นอาจารย์พิเศษ ระหว่าง พ.ศ. 2519-2526 ตลอดระยะเวลาดังกล่าว ทรงพัฒนาการจัดเรียนการสอนภาษาต่างประเทศในคณะศิลปศาสตร์ให้ก้าวหน้า โปรดให้สร้างหลักสูตรวิชาภาษาต่างประเทศสาขาใหม่ ทรงพัฒนาหลักเกณฑ์การประเมินผลการเรียนการสอนให้ทันสมัย ตลอดจนทรงบริหารและพัฒนาอาจารย์ผู้สอนภาษาต่างประเทศ

     ด้วยพระวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลและพระวิริยะอุตสาหะส่งผลให้คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลายเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นที่รู้จักด้านการสอนภาษาต่างประเทศในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังทรงประกอบพระกรณียกิจและทรงอุปภัมภ์สมาคมหรือหน่วยงานด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ การสาธารณสุข การดนตรี และการส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม

     ด้วยเหตุนี้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนาและกองทุนการกุศล กว. จึงร่วมกันขออัญเชิญพระนามสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสนอให้องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งประชาชาติ ร่วมเฉลิมฉลองยกย่องพระเกียรติคุณในฐานะบุคคลสำคัญผู้มีผลงานเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับภารกิจขององค์การยูเนสโก โดยเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 องค์การยูเนสโกได้เผยแพร่มติการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 41 อย่างเป็นทางการประกาศยกย่อง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นบุคคลสำคัญของโลก

     การจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเฉลิมฉลองในวาระอันสำคัญยิ่งดังกล่าว โดยคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยเกี่ยวกับพระประวัติ แนวพระดำริและพระกรณียกิจในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งคณะศิลปศาสตร์ได้จัดทำขึ้น 2 เรื่อง ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2554 และ พ.ศ. 2561 มาเป็นข้อมูลในการนำเสนอนิทรรศการเป็นภาษาฝรั่งเศส อังกฤษ และไทย ประกอบด้วยเนื้อหา 6 ส่วน ดังนี้

   ▪️ นิทรรศการส่วนที่ 1 แสดงพระประวัติและพระบุคลิกภาพ สามารถใช้โทรศัพท์มือถือสแกน QR Code เพื่อเข้าถึงเนื้อหานิทรรศการภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

   ▪️ นิทรรศการส่วนที่ 2 แสดงพระกรณียกิจด้านการสร้างและพัฒนาเยาวชนอัจฉริยะของประเทศไทยด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ใช้เทคนิคเครื่องฉายสไลด์เพื่อเล่าเรื่องราวกิจกรรมของมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์

   ▪️ นิทรรศการส่วนที่ 3 แสดงพระกรณียกิจด้านการสาธารณสุข ใช้เทคนิควีดิทัศน์เล่าเรื่องราวพระกรณียกิจในฐานะทรงเป็นประธานมูลนิธิต่าง ๆ ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข

   ▪️ นิทรรศการส่วนที่ 4 แสดงพระเกียรติยศที่ทรงรับจากองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ใช้โทรศัพท์มือถือสแกนเทคนิค Augmented Reality ที่เหรียญทองวิกเตอร์ อูโก เพื่อให้เกิดภาพเคลื่อนไหว

   ▪️ นิทรรศการส่วนที่ 5 แสดงพระกรณียกิจด้านการส่งเสริมการศึกษา สามารถใช้แว่นตาสามมิติ Virtual Reality หรือสแกน QR Code เพื่อนำผู้ชมนิทรรศการไปเยี่ยมชมห้องทรงงานที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

   ▪️ นิทรรศการส่วนที่ 6 แสดงพระนิพนธ์และพระกรณียกิจด้านการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและดนตรีคลาสสิก ใช้มือสัมผัสจุดที่กำหนดเพื่อให้เกิดเสียงเพลงดนตรีคลาสสิก

     โดยจุดสุดท้ายของงานเป็นจุดแสดงความคิดเห็นผ่านอุปกรณ์แท็บเล็ต (Digital Sign) ภายหลังการชมนิทรรศการ