Loading...

“แยกขวดช่วยหมอ” โครงการของนักศึกษาแพทย์ ธรรมศาสตร์ คว้ารางวัลเยาวชนประกายเพชร จาก กทม.

นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รับรางวัลเยาวชนประกายเพชร ครั้งที่ 17 ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ.2565

     ทีม “Less Plastic TU” นักศึกษาแพทย์ หลักสูตรภาษาอังกฤษ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบด้วย นศพ.ศิรชัช หาญวิวัฒนกูล (หัวหน้าโครงการ) นศพ.ศิรดา พงษ์เภตรา นศพ.ศรุตยา สุขประกอบ นศพ.รินรดี ลีนะวัต และ นศพ.พรฑิตา แซ่หลี่ ได้รับรางวัลเยาวชนประกายเพชร ครั้งที่ 17 ประจำปี 2565 จัดโดย สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นรางวัลเยาวชนดีเด่นแห่งชาติของกรุงเทพมหานคร ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากผลงาน “แยกขวดช่วยหมอ”

     นศพ.ศิรชัช หาญวิวัฒนกูล เผยว่า ทางทีมได้เริ่มทำโครงการ Less Plastic TU ในช่วงที่ศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ ซึ่งปัจจุบันมาศึกษาอยู่ภายใต้คณะแพทยศาสตร์ โดยโครงการนี้ เป็นโครงการจิตอาสาที่จะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งขยะขวดพลาสติกและขยะติดเชื้อจากการใช้ชุด PPE แบบใช้แล้วทิ้ง ควบคู่ไปกับการต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่สร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะพลาสติกในช่วง Work from Home รวมถึงเรื่องของจำนวนชุด PPE ที่ไม่เพียงพอสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ณ เวลานั้น

     Less Plastic TU มีเป้าหมายเพื่อจัดการปัญหาดังกล่าวผ่านการจัดกิจกรรม 2 ด้าน คือ 1. การลดขยะขวดพลาสติก โดยการแปรรูปขวดพลาสติกไปเป็นชุด PPE และ 2. การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ผ่านการให้ความรู้ในช่องทางสื่อออนไลน์ เช่น Instagram

     นศพ.ศิรดา พงษ์เภตรา กล่าวว่า สำหรับการลดขยะขวดพลาสติก ทางทีมได้นำถังขยะแยกขวดพลาสติกพร้อมติดป้ายประชาสัมพันธ์โครงการ จำนวน 3 ถัง ตั้งไว้บริเวณหน้าโรงอาหารคณะแพทยศาสตร์ เนื่องจากอยู่ติดกับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ และคณะที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณสุข จึงทำให้มีนักศึกษาแพทย์ อาจารย์แพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงพี่พนักงานภายในอาคารมาใช้บริการ ซึ่งหลังจากเริ่มโครงการฯ มีการแยกขยะขวดพลาสติกและขยะพลาสติกอื่น ๆ มากยิ่งขึ้น

     นศพ.ศรุตยา สุขประกอบ เผยว่า ทางทีมได้ทำความร่วมมือกับหอพักนักศึกษารอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยตั้งจุดรับขวดพลาสติกภายในหอพักนักศึกษา เพื่อให้ง่ายสำหรับนักศึกษาในการบริจาคขวดพลาสติก สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการแยกและทิ้งขวด อีกทั้งยังเป็นการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกับนักศึกษาและหอพักนักศึกษาแพทย์ เช่น หอพักนักศึกษา TUdio หนึ่งในหอพักนักศึกษาที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการฯ โดยทางหอพักจะช่วยทำการรวบรวมขวดพลาสติกจากนักศึกษารวมถึงช่วยแยกขวดพลาสติกจากขยะของหอพักนักศึกษาด้วย

     นอกจากนี้ โครงการฯ ได้ตั้งจุดรับขวดพลาสติกภายในตึกปิยชาติ 2 และบริเวณข้างตึกปิยชาติ 2 ซึ่งผู้บริจาคสามารถจอดและนำขวดหย่อนทิ้งลงถังขยะขนาดใหญ่ที่เตรียมไว้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องลงจากรถ เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับผู้ที่มีความกังวลต่อสถานการณ์ Covid-19 ซึ่งบุคคลภายนอกสามารถเข้ามาบริจาคได้

     นศพ.รินรดี ลีนะวัต กล่าวเสริมว่า ขวดพลาสติกจะถูกนำส่งไปยังโรงงานผลิตชุด PPE เพื่อคัดแยกและล้างทำความสะอาด ก่อนเข้ากระบวนการบด ไปสู่เม็ดพลาสติกขนาดเล็ก และนำไปผลิตเป็นเส้นด้ายถักทอเป็นผ้าโพลีเอสเตอร์ โดยจะนำไปเคลือบกันน้ำก่อนนำไปทำชุด PPE ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ โดย ค่าใช้จ่ายในกระบวนการการแปรรูปขวดและผลิตชุด PPE จำนวน 450 บาท มาจากเงินในการขายขวดพลาสติก และเงินบริจาคสนับสนุนโครงการฯ ผ่านบัญชีของ วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ โดยสามารถขอใบลดหย่อนภาษีจากวิทยาลัยฯ ได้

     “สำหรับการได้รับรางวัลเยาวชนดีเด่นแห่งชาติของกรุงเทพมหานครในครั้งนี้ พวกเรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่มีโอกาสได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัลในปีนี้ และรู้สึกประทับใจที่ได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับน้อง ๆ คณะแพทยศาสตร์ ผู้สนใจทำกิจกรรมรวมถึงเป็นแรงบันดาลใจให้นักศึกษาแพทยศาสตร์ใช้ความรู้และความสามารถของเราเพื่อเป็นประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศชาติต่อไป” นศพ.พรฑิตา แซ่หลี่ กล่าว