Loading...

วันคุณภาพแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2565 "สร้างความรู้ สร้างนวัตกรรม สู่ความยั่งยืน"

กองพัฒนาคุณภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานวันคุณภาพแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2565 ส่งเสริมหน่วยงานภายใน ยกระดับคุณภาพมหาวิทยาลัยสู่ความเป็นเลิศ

วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2565

     เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 กองพัฒนาคุณภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานมหกรรมคุณภาพแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2565 (TU - QD Day) "สร้างความรู้ สร้างนวัตกรรม สู่ความยั่งยืน" ณ ห้องประชุมนานาชาติ ห้อง 2014 ชั้น 2 อาคารเรียนและปฏิบัติการรวม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศูนย์รังสิต นำโดย รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธานในพิธี

     รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเปิดงานและแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลว่า เป็นเรื่องน่ายินดีและเป็นความสำเร็จของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มีผลงานคุณภาพ ในหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านคุณภาพการบริการ การพัฒนานวัตกรรม การส่งเสริมแนวปฏิบัติที่ดีในการทำงาน สิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงสนับสนุนการบรรลุยุทธศาสตร์ และวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยได้เป็นอย่างดี

     “ในฐานะผู้นำของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เราสนับสนุนการยกระดับมาตรฐาน ส่งเสริมการบูรณาการศาสตร์ด้านการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพบนความแตกต่าง ซึ่งในปีนี้เราได้พิสูจน์แล้วว่า EdPEx เป็นเครื่องมือคุณภาพที่เหมาะสมในการนำมาใช้พัฒนาคุณภาพมหาวิทยาลัย เมื่อการพัฒนาคุณภาพร่วมกับการพัฒนาโครงสร้างด้านหลักสูตร และการมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ สิ่งเหล่านี้ย่อมช่วยให้เกิดการ "ยกระดับสู่มหาวิทยาลัยระดับโลกเพื่อประชาชน” ตามวิสัยทัศน์ที่มหาวิทยาลัยได้ตั้งไว้” รศ.เกศินี กล่าว

     รศ.ดร.ดนุพันธ์ วิสุวรรณ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาคุณภาพ กล่าวว่า เกณฑ์ EdPEx เป็นเครื่องมือคุณภาพในการใช้บริหารองค์กรสู่ความเป็นเลิศ ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้นำมาใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยจึงผลักดันให้คณะและสถาบันต่าง ๆ นำเกณฑ์ EdPEx มาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของคณะ และส่งเสริมให้คณะเข้ารับการประเมินมาตรฐานคุณภาพ EdPEx200 จากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

     ในปี พ.ศ. 2562 คณะพยาบาลศาสตร์ เป็นหน่วยงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ผ่านการประเมิน EdPEx200 ครั้งแรก และในปี พ.ศ. 2564 มีหน่วยงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ผ่านการประเมิน EdPEx200 จำนวน 4 หน่วยงาน คือ 1) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2) คณะแพทยศาสตร์ 3) คณะทันตแพทยศาสตร์ และ 4) คณะสาธารณสุขศาสตร์

     “ในปีนี้ฝ่ายพัฒนาคุณภาพได้มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับมหาวิทยาลัยและหน่วยงาน ให้ก้าวสู่การเป็นสถาบันแห่งการเรียนรู้ และนวัตกรรม โดยสนับสนุนให้หน่วยงานใช้เครื่องมือคุณภาพ และกระบวนการจัดการความรู้ ในการพัฒนาคุณภาพการทำงาน พัฒนาคุณภาพการให้บริการ ส่งเสริมการเรียนรู้และถอดองค์ความรู้ของหน่วยงาน และการสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในหน่วยงาน”
รศ.ดร.ดนุพันธ์ ระบุ

     กองพัฒนาคุณภาพ จึงได้จัดโครงการ TU - QD Day ประจำปี 2565 โดยมีการประกวดผลงานในวันคุณภาพแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 4 ประเภท คือ

     1. TU-Best Practices ผลงานการปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่องจนมีประสิทธิผลถึงระดับ “วิธีปฏิบัติที่เป็นแบบอย่างที่ดีเยี่ยม” หน่วยงานที่ได้รับรางวัลประกอบไปด้วย

             1.1 รางวัลดีเด่น ได้แก่ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ชื่อผลงาน : การนำเทคโนโลยีและ 
นวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยทารกแรกเกิดเพื่อการลดความคลาดเคลื่อนทางยา

             1.2 รางวัลดี ได้แก่ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ชื่อผลงาน : OKRS SPEC MI Fast Track TUH (Time is Muscle) เพราะเวลาคือชีวิต

             1.3 รางวัลชมเชย ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ ชื่อผลงาน : ห้องปฏิบัติการปลอดภัยด้วยมาตรฐาน ESPReL

     2. TU-Continuous Quality Improvement รางวัลที่หน่วยงานแสดงถึงการปรับปรุงกระบวนการทำงานโดยใช้หลัก PDCA อย่างต่อเนื่อง หน่วยงานที่ได้รับรางวัลประกอบไปด้วย

               2.1 รางวัลดีเด่น ได้แก่ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ชื่อผลงาน : การพัฒนาคุณภาพการดูแลทารกเกิดก่อนกำหนดในการป้องกันภาวะอุณหภูมิกายต่ำในระยะแรกเกิด

               2.2 รางวัลดี ได้แก่ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ชื่อผลงาน : One Stop Service in Smoking Cessation for AMI & CHF Patients

               2.3 รางวัลชมเชย ได้แก่ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ชื่อผลงาน : การสร้างระบบคงคลังเวชภัณฑ์ (แบบเติมเต็ม) ของรังสีวิทยาทั้ง 4 หน่วยงาน

     3. TU-Service excellence รางวัลที่หน่วยงานออกแบบระบบปฏิบัติการให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของการจัดการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ หน่วยงานที่ได้รับรางวัลประกอบไปด้วย

             3.1 รางวัลดีเด่น ได้แก่ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ชื่อผลงาน : ลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันชนิดไม่พบ ST Segment Elevation (NSTE-ACS)

             3.2 รางวัลดี ได้แก่ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ชื่อผลงาน : พัฒนาระบบบริการศูนย์พัฒนาความเป็นเลิศสุขภาพเพศ

             3.3 รางวัลชมเชย ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ชื่อผลงาน : พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เพื่อบริการการศึกษาและเพื่อประชาทั่งมวล

     4. TU-Innovation รางวัลที่หน่วยงานแสดงถึงการนำองค์ความรู้สมัยใหม่ เทคโนโลยีสมัยใหม่ และโอกาสเชิงกลยุทธ์ มาประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน การบริการรูปแบบใหม่ การพัฒนาระบบปฏิบัติการหรือกระบวนการใหม่ที่ดีขึ้น หน่วยงานที่ได้รับรางวัลประกอบไปด้วย

             4.1 รางวัลดีเด่น ได้แก่ หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชื่อผลงาน : ระบบแนะนำหัวเรื่องและเลขหมู่อัตโนมัติ

             4.2 รางวัลดี ได้แก่ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชื่อผลงาน : ระบบสวัสดิการด้านสุขภาพแบบยืดหยุ่น

             4.3 รางวัลชมเชย ได้แก่ คณะเศรษฐศาสตร์ ชื่อผลงาน : โครงการพัฒนาระบบตรวจสอบยอดเงินคงเหลือค่ารักษาพยาบาลและเงินอุดหนุนการเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน (งบคอมพิวเตอร์)

     การประกวดแข่งขันรางวัลคุณภาพครั้งนี้มีหน่วยงานให้ความสนใจ ส่งผลงานคุณภาพเข้าร่วมแข่งขันเป็นจำนวนมากถึง 41 ผลงาน

     ภายในงานนอกจากกิจกรรมมอบโล่รางวัลต่าง ๆ แล้ว ยังมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความสำเร็จของหน่วยงานที่ผ่านการประเมิน EdPEx200 ซึ่งมีคณบดีจากคณะพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะสาธารณสุขศาสตร์ ร่วมพูดคุย แบ่งปันแนวทางและประสบการณ์แก่หน่วยงานต่าง ๆ ในการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพของคณะจนสามารถผ่านการประเมิน EdPEx200 และมีการนำเสนอผลงานที่ได้รางวัลคุณภาพในประเภทต่าง ๆ อีกด้วย

     ผู้ที่สนใจสามารถรับชมงานวันคุณภาพแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประจำปี 2565 (TU - QD Day) ย้อนหลังได้ทางเพจเฟสบุ๊ค กองพัฒนาคุณภาพ มธ.