Loading...

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทูลเกล้าฯ ถวายดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมีฯ องค์พระประมุขแห่งภูฏาน

 

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทูลเกล้าฯ ถวายดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมีฯ องค์พระประมุขแห่งภูฏาน

วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2567

     เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 67 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดย ศ. วุฒิสาร ตันไชย อุปนายกสภาฯ ศ. ดร. ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะผู้บริหาร ได้เดินทางไปราชอาณาจักรภูฏาน เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพัฒนาเชิงสร้างสรรค์ แด่สมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก พระราชาธิบดีองค์ที่ 5 องค์พระประมุขแห่งประเทศภูฏาน ตามที่วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เสนอ และสภามหาวิทยาลัย ได้มีมติอนุมัติในการประชุมครั้งที่ 8/2560

     สมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ทรงเป็นผู้นำแห่งการพัฒนาเชิงสร้างสรรค์ สนับสนุนเกื้อกูลให้หน่วยงานทั้งหลายมีความพร้อมที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร โดยทรงบูรณาการความรู้ พระปรีชาสามารถในหลายด้านหลายมิติ พระราชทานเป็นแนวพระราชดำริเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเท่าเทียมแก่ประชาชนโดยทั่วหน้าผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการปฏิรูปที่ดินและการตั้งถิ่นฐานใหม่ให้กับประชาชนผู้ยากไร้ในพื้นที่ชนบทห่างไกล และโครงการสร้างชุมชนใหม่ที่พร้อมด้วยระบบสาธารณูปโภคและการบริการขั้นพื้นฐาน อาทิ การศึกษา การแพทย์ และการส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรและหัตถกรรมในครัวเรือนเพื่อเพิ่มรายได้ของชุมชน ทั้งทรงเป็นต้นแบบของความเสียสละ ความใฝ่รู้ และการพัฒนาในเชิงสร้างสรรค์

     นอกจากนี้ ท่านยังทรงเป็นผู้สนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น พร้อมทั้งให้ความรู้ด้านการปกครองตามระบอบรัฐสภาและกฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนตามหลักการประชาธิปไตย จนในปี พ.ศ.2551 ประเทศสามารถเปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญและรัฐสภาโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของราชอาณาจักรภูฏาน

     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิจารณาถึงพระเกียรติคุณจึงทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาดังกล่าวแด่สมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ถือเป็นเกียรติของมหาวิทยาลัย ที่ได้รับพระราชานุญาตให้เข้าเฝ้าฯ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาในครั้งนี้

     และ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 67 ทางคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังได้เดินทางไป Royal Bhutan university พบคณบดีและผู้แทนจากภาควิชา Sustainable Development และ Development Practice หารือถึงความร่วมมือในอนาคต เรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน จากการที่มีการพัฒนาทางทรัพยากรที่คล้ายกันระหว่างสองประเทศ โดยทั้งสองสถาบันจะนำสิ่งที่มีมาแลกเปลี่ยนกัน สู่การพัฒนาที่จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศต่อไป