Loading...

ธรรมศาสตร์ จับมือ 30 นักธุรกิจชั้นนำ ปลุกไฟ สร้างแรงบันดาลใจ ปั้นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ด้วย ‘TU 109’

ก้าวแรกสู่การเป็น Start Up ตั้งแต่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย นี่คือก้าวสำคัญที่จะยกระดับไปสู่การเป็นเจ้าของกิจการ นักธุรกิจ และเป็นยูนิคอร์นตัวต่อไป

วันอังคารที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2564

     “วิธีเปลี่ยนแปลงตัวเองที่เร็วที่สุด ก็คือการทำความรู้จักและคบหากับคนที่เป็นในแบบที่เราอยากจะเป็นนี่คือคำกล่าวที่เรียบง่ายแต่สื่อความได้ชัดเจนของรีด ฮอฟแมน ผู้ก่อตั้ง LinkedIn จาก  Startup เล็ก ๆ จนกลายเป็นบริษัทใหญ่ระดับโลกที่มีผู้ใช้งานในทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งหากคุณเชื่อเช่นนั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาสาเป็นนำพาคุณเดินไปสู่ความฝันในยุค Next Normal ด้วยความมั่นใจ

     ไม่ว่าคุณจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่กำลังสิ้นหวัง มองไม่เห็นหนทาง มีเพียงแสงสว่างอันริบหรี่ในสถานการณ์โควิด-19 หรือคุณจะเป็นผู้ปกครองที่รู้สึกห่วงหาอาทร เมื่อต้องเฝ้ามองลูกหลานเผชิญวิบากกรรมในโลกที่ไม่ปกติ

     ธรรมศาสตร์ขอปลุกไฟของคุณให้กลับมาลุกโชนอีกครั้ง ด้วยวิชา TU 109 : Innovation & Entrepreneurial Mindset หรือ นวัตกรรมกับกระบวนคิดผู้ประกอบการ ที่จะช่วยติดอาวุธให้คุณสามารถรับมือกับสถานการณ์ในยุคหลังโควิด-19 ได้อย่างมืออาชีพ

     แม้ว่าโควิด-19 จะเขย่าเศรษฐกิจจนพังครืน สร้างผลกระทบเลวร้ายครั้งประวัติศาสตร์ หากแต่ผู้ประกอบการกลุ่มหนึ่งซึ่งอยู่แถวหน้าของประเทศไทย กลับสามารถพลิกฟื้นวิกฤต ปรับเปลี่ยนเป็นโอกาสครั้งยิ่งใหญ่ พร้อมต่อยอดความสำเร็จไปสู่มาตรฐานใหม่ได้อย่างไม่มีสิ้นสุด

     แล้วอะไรที่ทำให้นักธุรกิจชั้นนำทั้ง 30 ชีวิตแตกต่าง !!?

     กลเม็ดแห่งความสำเร็จระดับ Top Secret จะถูกคลี่ออกแบบหมดเปลือกที่นี่เป็นที่แรก !

     ผู้ประกอบการทั้ง 30 ชีวิตในฐานะ “พี่เลี้ยงประจำหลักสูตร” จะทำหน้าที่ช่วยจุดประกายความคิด สร้างแรงบันดาลใจ ถ่ายทอดประสบการณ์ และ Coaching นักศึกษากันแบบถึงพริกถึงขิง

     นี่คือก้าวแรกสู่การเป็น Start Up ตั้งแต่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย นี่คือก้าวสำคัญที่จะยกระดับไปสู่การเป็นเจ้าของกิจการ นักธุรกิจ และเป็นยูนิคอร์นตัวต่อไป

     ตี๋-พัฒนพงศ์ รานุรักษ์  และตง-ธเนศ จิระเสวกดิลก สองผู้ก่อตั้งแบรนด์สปาระดับพรีเมียม Divana และ Dii Group ในฐานะ Course Director วิชา TU 109 เล่าว่า มีโอกาสได้จัดการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาหลากหลายสถาบัน พบว่าคนรุ่นใหม่มีความรอบรู้ รวดเร็ว และเฉลียวฉลาด ฉะนั้นการเรียนการสอนโดยใช้ Knowledge-based learning เป็นตัวตั้ง อาจไม่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ เราจึงพัฒนาหลักสูตรและจัดการเรียนการสอนด้วย Project-based learning – activity -based learning และ team -based learning โดยมี case study ประกอบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน

     “เราจะสร้างการเรียนที่หลากหลาย ดึงผู้ประกอบการตัวจริงเสียงจริงมาแชร์ทั้งความความสำเร็จ ความล้มเหลว ข้อผิดพลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้จากประสบการณ์ในเวลาอันสั้น รวมถึง เชิญผู้เชี่ยวชาญในการปั้นบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ฯลฯ เข้ามาเจอกับนักศึกษาแบบใกล้ชิด โดยวิชา TU 109 จะสอนน้อง ๆ ปี 1 เทอม 1 ดังนั้นเราจะเน้นไปที่การสร้าง Passion และการ inspire เขาด้วย

     “หลักการคือสอนให้น้อย บรรยายให้น้อย สิ่งที่บรรยายจะเป็นเรื่องของประสบการณ์ Passion ที่สำคัญคือเราจะสอนเรื่องความล้มเหลว เพราะการเรียนการสอนส่วนใหญ่มักจะศึกษาจากความสำเร็จเป็นหลัก ส่วนการศึกษาจากความล้มเหลวยังมีน้อย” Course Director วิชา TU 109 อธิบาย

     สำหรับ TU 109 ตั้งต้นมาจากไอเดียของ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ต้องการสร้างทักษะการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) ในโลกยุคใหม่ และต้องการปั้นนักศึกษาสู่เส้นทางการเป็นผู้ประกอบการที่ดี มีคุณธรรม ใส่ใจสังคม อย่างน้อยปีละ 1,000 คน

     รศ.เกศินี จึงได้ออกแบบพัฒนาหลักสูตรร่วมกับ รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ กระทั่งสกัดออกมาเป็น 3 วิชา ได้แก่ TU 109, TU 209 และ TU 309 ซึ่งจะจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับ Basic ไปถึงขั้น Advanced โดยมุ่งหวังให้นักศึกษาพัฒนาตัวเองขึ้นไปเรื่อย ๆ จนสามารถสร้างรายได้ได้ตั้งแต่ในรั้วมหาวิทยาลัย โดยมี 88 Sandbox ที่เป็น Ecosystem ใหม่ล่าสุดของธรรมศาสตร์ที่จะทำหน้าที่เป็นแพลทฟอร์มสร้างการก้าวกระโดดให้กับ Startup ที่มีศักยภาพทั้งจากใน และนอกมหาวิทยาลัย

     รศ.เกศินี เล่าว่า วิชา TU 109 เกิดขึ้นจากการวิเคราะห์เทรนด์การศึกษาทั่วโลก ร่วมกับ micro behavior คือดูจากพฤติกรรมของนักศึกษาว่าเขาต้องการเรียนรู้เรื่องอะไร จากนั้นก็นำมาควบรวมกับ DNA ของชาวธรรมศาสตร์ที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม คำนึงถึงสังคม และช่วยดูแลสังคม

     “เราตั้งเป้าเอาไว้ว่า ก่อนที่นักศึกษาจะเรียนจบจะต้องมีธุรกิจของตัวเอง และสามารถเอาธุรกิจเข้าไปทดลองใน crowdfunding ได้ โดยเราจะมีพี่เลี้ยงประจำหลักสูตรเข้ามาประกบเพื่อให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด ดิฉันมั่นใจว่านักศึกษาจะได้รับประสบการณ์ที่ฝังลึกเกี่ยวกับนวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการที่ดี มีคุณธรรม และจะเป็นกำลังสำคัญในการสังคมที่ดีขึ้นกว่านี้อย่างแน่นอน” รศ.เกศินี ระบุ

     รศ.ดร.พิภพ กล่าวว่า วิชา TU 109 นวัตกรรมกับกระบวนคิดผู้ประกอบการ เป็นวิชาศึกษาทั่วไปที่ได้รับการออกแบบให้สามารถสร้างผู้ประกอบการที่มีความพร้อมสำหรับโลกแห่งอนาคต ด้วยการบ่มเพาะแนวความคิดและทักษะสำคัญจากคณาจารย์ผู้มีประสบการณ์โดยตรงในโลกธุรกิจสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็น แนวทางการสอนจะต้องอยู่บนกรอบทางเดินไปสู่ Sustainable Development Goals รวมถึงมุ่งเน้นในการเสริมคุณลักษณะสำคัญของชีวิตตามหลักการ GREATS Plus Plus ของธรรมศาสตร์

     “นักศึกษาจะได้เรียนรู้ทั้งด้านความคิดและทักษะในการสร้างความสำเร็จให้กับธุรกิจ Start Up พร้อมทั้งได้ลงมือปฏิบัติจริง ทั้งในเรื่องของการทำ crowdfunding การทำ 1-minute pitch การทำ story telling การวิเคราะห์ธุรกิจด้วย Business model canvas และการวิเคราะห์ทางการเงิน” รศ.ดร.พิภพ อธิบาย