Loading...

เติม “ทักษะการเรียนรู้” สู้ชีวิตในปี 2023 เมื่อโลกยังหมุนทุกวัน ความรู้ของคุณในวันนี้ อาจขึ้นสนิมในวันหน้า

ในปี 2023 ทักษะกี่ด้านอาจไม่ได้สำคัญ สิ่งสำคัญเราต้องรู้จักตัวเอง เพราะแต่ละวงการวิชาชีพมีความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เหมือนกัน

วันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม พ.ศ.2566

     ในปี 2023 ทักษะกี่ด้านอาจไม่ได้สำคัญแล้ว แต่สิ่งสำคัญคือ เราต้องรู้จักตัวเองก่อน เพราะแต่ละวงการวิชาชีพมีความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เหมือนกัน เราต้องค้นให้เจอว่าอะไรคือการเปลี่ยนแปลงที่จะเข้ามา Disrupt วงการเรา แล้ว Skill เราจะรองรับการเปลี่ยนแปลงนั้นได้มั้ย

     พูดคุยกับ ศ.ดร.นภดล ร่มโพธิ์ ผู้อำนวยการโครงการปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ว่า เราจะเรียนรู้ อัปเดตความรู้อย่างไร เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง และทักษะอะไรที่ขาดไม่ได้เลย สำหรับแรงงานในปี 2023

“ความรู้” ที่เรามีอาจ “เก่า” เกินที่จะใช้ได้แล้ว

     ในตลาดแรงงานปี 2023 ทักษะที่มีความสำคัญและมีความจำเป็นตั้งแต่ในปีนี้และในอนาคต คือ “ทักษะการเรียนรู้” เพราะโลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก สิ่งที่เราเรียนในปัจจุบันอาจล้าสมัยได้เร็วมาก เช่น หากเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย เรียนแล้วรู้แค่คอนเทนท์ที่อยู่ในห้องเรียน ระยะยาวจะอยู่ได้ยาก เพราะความรู้ที่เราเรียนในวันนี้ อาจใช้ประโยชน์ในองค์กรได้เพียง 1-2 ปีเท่านั้น เพราะโลกที่เปลี่ยนไป องค์กรต้องการองค์ความรู้ใหม่ ๆ

     “หากมีเรื่องใหม่เข้ามา เราจะเรียนรู้ได้เร็วแค่ไหน “Learning How to Learn” ที่ไม่ใช่แค่การ Learning Content แต่เราต้องเรียนรู้ทักษะที่ว่า ถ้าเราไม่เคยรู้เรื่องเลยสักเรื่องนึง จะทำอย่างไรให้เรารู้เรื่องนั้น ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญทั้งในปัจจุบันและในอนาคต”

     แต่เราไม่สามารถบอกได้ว่าทุกคนควรมีทักษะแบบเดียวกัน เพราะแต่ละวงการวิชาชีพใช้ทักษะที่ไม่เหมือนกัน เช่นหากมีคนบอกว่าทุกคนควรมีทักษะที่เกี่ยวข้องกับการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ คำถามคือ ทุกอาชีพต้องใช้ไหม? ฉะนั้น ขึ้นอยู่กับเฉพาะบุคคล แต่ทักษะที่ควรมีร่วมกันคือ Learning Skill เป็นทักษะที่สำคัญมาก ๆ

     “ผมมองว่าเราควรปลูกฝังความรักในการเรียนรู้ให้กับทุกคนตั้งแต่การเรียนในโรงเรียน การเรียนในมหาวิทยาลัย คือ คุณห้ามหยุดเรียนรู้ ถ้าคุณหยุดเรียนรู้เมื่อไหร่ แล้วทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้วที่ไม่อยากเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ คุณช่วยพัฒนาองค์กรได้ 1-2 ปี เพราะทักษะที่คุณเรียนมันล้าสมัย คุณอาจจะประสบความสำเร็จในวงการวิชาชีพของคุณได้ยากมาก และเลวร้ายกว่านั้นอาจโดน Lay off”

คุณถนัดเรียนรู้แบบไหน ให้ใช้ทักษะการเรียนรู้ในแบบของตน

     ทักษะการเรียนรู้ ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ในแบบเดียวกัน เพราะแต่ละคนมีความชอบหรือความถนัดในการเรียนรู้ต่างกัน เช่น บางคนชอบการเรียนรู้ผ่านการอ่านหนังสือ เพราะเพลินและสนุกดี จะอ่านเร็วอ่านช้าได้ตามที่ต้องการ บางคนชอบการเรียนรู้ผ่านการเรียนในห้องเรียน บางคนชอบฟัง Podcast บางคนอยากเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ ฉะนั้น เราสามารถเลือกได้ หรือเราอาจทำหลากหลายรูปแบบไปพร้อม ๆ กันได้

     “ผมอยากกระตุ้นให้ทุกคนควรให้ความสำคัญกับเรื่องการเรียนรู้ เพราะในที่สุดความรู้ที่เราเรียนมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นระดับปริญญา หรือการเข้าคอร์ส มันจะใช้ได้ไม่นานครับ มันจะต้องถูกอัปเดท “Reskill/Upskill” อยู่เสมอ”

ที่คนชอบพูดว่า ปัจจุบันเก่งด้านเดียวไม่พอแล้ว

     มีทฤษฎีหนึ่งคือ ทฤษฎีการเรียนรู้แบบ T-Shape คือไม่ใช่การรู้ลึกอย่างเดียว ต้องรู้กว้างด้วย ถ้านึกถึงตัว T เส้นที่ขีดตั้งตรงลงมา คือความรู้เชิงลึก แต่ส่วนบนที่ขีดเป็นแนวนอน คือความรู้เชิงกว้าง สมมติว่าคุณเป็นโปรแกรมเมอร์ที่เขียนโปรแกรมเก่งมาก รู้โปรแกรมภาษาคอมพิวเตอร์อย่างเดียว ถามว่าอยู่ได้ไหม ก็คงอยู่ได้ ตราบใดที่คุณยังอัปเดทความรู้เรื่องการเขียนโปรแกรม บริษัทก็ยังคงจ้างคุณ แต่คุณจะประสบความสำเร็จได้ยากหน่อย นั่นหมายถึงคุณจะเป็นเพียงพนักงานบริษัทอย่างเดียว

     แต่ถ้าคุณอยากทำ Startup คุณต้องเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับธุรกิจด้วย คุณเริ่มมีหัวด้านธุรกิจ เริ่มเข้าใจว่าโปรแกรมของคุณจะไปตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างไร คุณเริ่มเข้าใจว่ามันจะทำให้เกิดรายได้ได้อย่างไร หากคุณมองในมุมนี้ คุณก็จะมีความรู้เชิงกว้างที่เกี่ยวข้องกับการเขียนโปรแกรม ฉะนั้น หากเราพัฒนาตนเองให้ตรงกับศาสตร์หรือเข้ากับศาสตร์ที่เราทำงานอยู่ได้ ก็จะสามารถช่วยผลักดัน ต่อยอด และส่งเสริมให้เราไปได้ไกลยิ่งขึ้น

“ทางลัด” ของคนอยากพัฒนาตนเองด้านธุรกิจ แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร

     หลายคนอาจเคยได้ยินว่า “การทำธุรกิจ คุณไม่จำเป็นต้องเรียนก็ได้ หรือการบริหาร คุณต้องลองทำเอง” จริง ๆ แล้ว ทักษะของการบริหารหรือการจัดการ ถามว่าเรียนรู้เองได้ไหม เรียนรู้เองได้ แต่ต้องใช้เวลาพอสมควร 

     การเรียนจึงเป็นทางลัดของคนที่อยากทำธุรกิจ อย่างการเรียน MBA ที่ธรรมศาสตร์ เพราะการเรียนที่นี่ได้ถูกออกแบบหลักสูตรว่าคุณจะต้องเรียนวิชาใดบ้าง โดยออกแบบร่วมกับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญและกลุ่มนักธุรกิจ ผู้บริหาร และศิษย์เก่า จนกระทั่งออกมาเป็นหลักสูตร ถ้าคุณอยากเป็นนักบริหารที่เก่งที่ดี คุณควรเรียนวิชาเหล่านี้ตามลำดับแบบนี้

     “ทุกคนที่มาสอนที่ MBA คือผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นโดยเฉพาะ และหากมีคนบอกว่า ไปเรียนกับอาจารย์ทำไม อาจารย์ไม่เคยทำธุรกิจ แสดงว่าคุณยังไม่เคยเรียน MBA ที่ธรรมศาสตร์ เพราะที่นี่มีทั้งอาจารย์ที่เชี่ยวชาญ และอาจารย์ก็เชิญผู้บริหารที่ทำงานด้านนั้นมาสอนโดยตรงเช่นเดียวกัน หากคุณมีประสบการณ์ทำงาน 3 ปี คุณคิดว่าอยากพัฒนาตัวเอง ก็กลับมาที่ทักษะการเรียนรู้ อันนี้คือทางแห่งความสำเร็จอย่างหนึ่งครับ”