Loading...

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดปาฐกถา “วันสตรีสากล” เปิดบทบาทความก้าวหน้าของสตรีในสังคมโลกปัจจุบัน

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลฯ จัดปาฐกถวันสตรีสากล ชี้ความเท่าเทียมทางเพศในปัจจุบัน สู่ความยั่งยืนในวันพรุ่งนี้

วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2565

     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ได้จัดปาฐกถาวันสตรีสากล เรื่อง : บทบาทความก้าวหน้าของสตรีในสังคมโลกปัจจุบัน ภายใต้แนวคิด “ความเท่าเทียมทางเพศในปัจจุบันสู่ความยั่งยืนในวันพรุ่งนี้” (Global Gender Equality Challenge : Global Gender Euquality Challenge) ขึ้น เนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี 2565 โดยได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ นางออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย คุณแอนชิลี สก็อต-เคมมิส มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2021 คุณณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมเป็นองค์ปาฐก และ รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงนโยบายของมหาวิทยาลัยที่ให้ความสำคัญในการส่งเสริมความเท่าเทียมแก่คนทุกกลุ่มซึ่งสอดคล้องกับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในเป้าหมายที่ 5 "Achieve gender equality and empower all women and girls" เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

     ฯพณฯ นางออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ในโลกที่เราอาศัยอยู่นี้ จะต้องใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อพิสูจน์ว่าเพศหญิงก็มีความสามารถที่ทัดเทียมไม่น้อยไปกว่าเพศชาย” ทั้งนี้เธอยังได้ร่วมแบ่งปันประสบการที่เเสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเพศหญิง โดยยกตัวอย่างจากประสบการณ์การเป็นทหารในกองทัพอิสราเอลเมื่อตอนอายุ 18 ปี ซึ่งต้องผ่านการฝึกฝนอย่างหนัก ภายหลังเธอได้กลายมาเอกอัครราชทูตหญิงที่รับภารกิจทางการทูต ซึ่งเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพที่เท่าเทียมกับเพศชาย ทั้งนี้ในตอนท้ายของปาฐกถา เธอได้ทิ้งท้ายไว้ว่า “แม้ว่าในปัจจุบันผู้หญิงจะมีโอกาสมากขึ้น แต่ก็ยังมีอีกหลายสิ่งที่จำเป็นจะต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เท่าเทียมกับเพศชายอย่างแท้จริง”

     ด้าน คุณแอนชิลี สก็อต-เคมมิส มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2021 ได้กล่าวให้กำลังใจผู้หญิงในการตั้งเป้าหมายและบรรลุเป้าหมายนั้นโดยไม่ยึดติดกับค่านิยมเดิม ๆ ของสังคมที่มีต่อเพศหญิง นอกจากนั้นยังได้กล่าวถึงคำนิยามของเพศหญิงไว้ว่า “ความงามไม่ใช่คำนิยามเดียวของการเป็นผู้หญิง แต่ความมั่นใจและความเชื่อมั่นในตนเองต่างหาก จึงจะสามารถสร้างผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จได้”

     ต่อจากนั้น คุณณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมแบ่งปันเรื่องราวความสำเร็จของเธอ ที่แสดงให้เห็นว่าความพิการทางร่างกายไม่ได้เป็นข้อจำกัดของความสามารถแต่อย่างใด โดยเธอยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นการว่ายน้ำ หรือแม้กระทั่งการเข้าร่วมการแข่งขันมาราธอน และแม้ว่าการสูญเสียขาทั้งสองข้างจะเป็นเรื่องที่น่าเศร้า แต่เธอก็สามารถก้าวข้ามความลำบากมาได้ และกลายมาเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้คนอีกจำนวนมาก อีกทั้งเป็นผู้ก่อตั้งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอีกด้วย

     โดย รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของความเท่าเทียมอันเป็นหลักสิทธิมนุษยชนที่สำคัญที่สุด โดยกล่าวว่า “มนุษย์ทุกคนล้วนเกิดมาพร้อมเชื้อชาติ สีผิว รูปร่าง ศาสนา และ “เพศ” ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งที่กำหนดไม่ได้ เราจึงจำเป็นที่ต้องตระหนักและให้ความเคารพในความเท่าเทียมของกันและกัน” และได้อธิบายเพิ่มเติมถึงความอยุติธรรมในสังคมและการถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมที่ผู้หญิงทั่วโลกต้องเผชิญในอดีต หากแต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปส่งผลให้แนวความคิดเก่า ๆ ถูกเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้สังคมในปัจจุบันกลายเป็นสังคมแห่งความหลากหลายซึ่งไม่สามารถแบ่งแยกเพศเพียงชาย-หญิงได้อีกต่อไป แต่หมายรวมถึงกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ LGBTTQQAAIP อีกด้วย ซึ่งความหลากหลายทางเพศนี้จะเป็นรากฐานความเจริญของโลกทั้งในวันนี้และอนาคต โดยรองศาสตราจารย์เกศินีได้กล่าวทิ้งท้ายเอาไว้ว่า “โลกนี้จะสามารถก้าวหน้าต่อไปอย่างสันติได้หากเรายอมรับความแตกต่าง โดยเฉพาะการยอมรับความแตกต่างและหลากหลายทางเพศ ด้วยหลัก 2R นั่นคือ การตระหนักรู้ (Recognize) และความเคารพ (Respect)”

     ภายหลังการปาฐกถายังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้ตั้งคำถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าทั้ง 4 ท่านเป็นตัวแทนของความเท่าเทียมในทุกมิติโดยแท้จริง แต่ทั้งนี้ความเท่าเทียมทางเพศจะสามารถเกิดขึ้นได้ในสังคมจะต้องเกิดจากการร่วมแรงร่วมใจและการผลักดันของทุกคนในสังคมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สังคมของเราสามารถกลายเป็นสังคมแห่งความเท่าเทียมได้อย่างแท้จริงในอนาคต