Loading...

ธรรมศาสตร์ คว้า 5 รางวัลประกวดนวัตกรรมนานาชาติ มุ่งสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยวิจัย” ระดับแนวหน้า

นักวิจัยธรรมศาสตร์ ผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรมโดดเด่น คว้า 5 รางวัลระดับโลก จากการประกวดนวัตกรรมนานาชาติ ครั้งที่ 48

วันอังคารที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2564

     เมืองนวัตกรรมแห่งธรรมศาสตร์ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปักหมุดเดินเครื่องมุ่งสู่การผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรมระดับแนวหน้าที่ตอบโจทย์สังคมไทยและสังคมโลก ยกระดับธรรมศาสตร์ให้เป็นมากกว่าพื้นที่ที่ใช้สำหรับการจัดการเรียนการสอนเพียงอย่างเดียว แต่พื้นที่แห่งนี้จะสร้างพลังการทำงานแห่งอนาคต (Future Workforce) ให้กับทุกคน ซึ่งระหว่างวันที่ 10 - 14 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สร้างผลงานอันโดดเด่นและคว้ารางวัลระดับโลกมาได้ถึง 5 รางวัล จากเวทีการประกวดนวัตกรรมนานาชาติ ครั้งที่ 48 (The 48th International Exhibition of Inventions Geneva) ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส จัดขึ้นในรูปแบบ Online

     รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า รางวัลด้านนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้รับจากเวทีการประกวดนวัตกรรมนานาชาติ ครั้งที่ 48 (The 48th International Exhibition of Inventions Geneva) แสดงให้เห็นถึงศักยภาพทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของทีมคณาจารย์และนักวิจัยธรรมศาสตร์ โดยการนำองค์ความรู้ใหม่ ๆ มาพัฒนาต่อยอดเป็นแนวคิดและนวัตกรรมที่สามารถตอบโจทย์โลกในอนาคต ตามกลยุทธ์ที่มหาวิทยาลัยตั้งไว้คือ Future Workforce ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยในทุกมิติ

โดยรางวัลที่ได้รับประกอบด้วย รางวัลเหรียญเงิน (Silver Medal) จำนวน 3 รางวัล และเหรียญทองแดง (Bronze Medal) จำนวน 2 รางวัล ได้แก่

รางวัลเหรียญเงิน

     1. ระบบระบุตำแหน่งลิ่มเลือดในสมองโดยอัตโนมัติบนภาพ NCCT ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือด (Middle Cerebral Artery) อุดตันในระยะเฉียบพลัน (Automatic thrombus localization system on NCCT for ais stroke patient (Middle cerebral artery)) โดย ดร.ณัฐสุดา เกาทัณฑ์ทอง สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT)

     ระบบนี้จะช่วยวิเคราะห์ภาพถ่าย CT สมองแบบไม่ฉีดสี เพื่อระบุตำแหน่งของลิ่มเลือดอุดตันโดยอัตโนมัติ เพื่อให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้รวดเร็ว โดยใช้การประมวลผลภาพถ่ายเพื่อระบุตำแหน่ง sylvain และ circlr of willis และพื้นที่เนื้อสมองที่น่าจะเป็นลิ่มเลือด โดยใช้วิทยาศาสตร์ข้อมูลร่วมกับการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) สำหรับระบุตำแหน่งที่ใกล้เคียงกับวิธีที่รังสีแพทย์ใช้ เนื่องจากการระบุตำแหน่งหลอดเลือดอุดตันในปัจจุบันจะใช้ภาพถ่าย CT ร่วมกับการฉีดสารทึบแสง แต่การใช้สารทึบแสงนั้น ไม่สามารถทำได้ทันทีและไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการแพ้

     2. ผลิตภัณฑ์ เซรั่มและไมเซร่าชำระเครื่องสำอาง จากสารสกัดใบไผ่ซางหม่นนวลราชินี (Serum of bamboo extract for sensitive skin) โดย ผศ.ดร.สุภกร บุญยืน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

     เซรั่มจะช่วยลดการอักเสบและการเหี่ยวย่นของผิวหนัง ลดการเกิดอนุมูลอิสระ และยังมีสาร Isoorientin ที่มีขนาดเล็กจะสามารถซึมผ่านเข้าสู่เซลล์และเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับเซลล์และส่งผลให้ผิวหนังดูเปร่งปรั่ง สุขภาพดี ป้องกันการเสื่อมสลายของเซลล์จากสภาวะมลพิษในปัจจุบัน การนำสารสกัดจากใบไผ่มาพัฒนาเป็นเวชสำอางนับเป็นการทำวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่เศษวัสดุชีวภาพ และยังเป็นการสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรไทย ทั้งนี้ กระบวนการสกัดสารได้รับการจดอนุสิทธิบัตรแล้ว รวมถึงเซรั่ม ได้รับการจดแจ้งจาก อย. แล้ว และทำการผลิตจากบริษัทเครื่องสำอางที่ได้มาตรฐาน

     3. อุปกรณ์การสอนกายภาพบำบัดทรวงอกในทารก (Infant respiratory care – simulation for nursing education) โดย อาจารย์สุภาวดี ทับกล่ำ คณะพยาบาลศาสตร์

เป็นนวัตกรรมในรูปแบบสื่อการสอนในการสร้างสถานการณ์จำลอง (Simulation Based Learning) เพื่อใช้ในการเรียนการสอนทางการพยาบาล ด้านการดูแลผู้ป่วยทารกที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ ประกอบด้วยอุปกรณ์เตียงปรับองศาแบบอัตโนมัติ และหุ่นจำลองทารก ใช้ในการฝึกปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะเสมหะคั่งค้าง สามารถกำหนดรูปแบบการทำงานของอุปกรณ์ด้วยโปรแกรมอัตโนมัติตามเสียงหายใจที่ผิดปกติที่ได้จากหุ่นจำลองทารก และแสดงผลลัพธ์จากบอร์ดควบคุมผ่านคอมพิวเตอร์ หรือTablet ช่วยให้ผู้เรียนสามารถทราบผลการตัดสินใจการปฏิบัติการพยาบาล แบบ Real-time

รางวัลเหรียญทองแดง

     1. อุปกรณ์ตรวจวัดมุมการเปลี่ยนแปลงการทรงตัวและแจ้งเตือนก่อนสูญเสียการทรงตัว (Postural sway meter : a new developed accelerometry based device) โดย รศ.ดร.ไพลวรรณ สัทธานนท์ คณะสหเวชศาสตร์

เป็นอุปกรณ์ที่แจ้งเตือนก่อนสูญเสียการทรงตัวในการทำกิจวัตรประจำวัน ในกลุ่มผู้สูงอายุ หรือกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการล้ม โดยจะทำการวัดความสามารถในการทรงตัว/ตำแหน่ง ที่สามารถเอียงลำตัวไปและดึงลำตัวกลับสู่ภาวะปกติได้โดยไม่ล้ม เป็นการวัดแบบเฉพาะเจาะจงในแต่ละคน จากนั้นจะทำการกำหนดค่ามุมที่มีความเสี่ยงและตั้งการเตือนไว้ หากมีการเคลื่อนไหวที่มีความเสี่ยงต่อการล้มดังกล่าวจะมีการเตือนในรูปแบบสั่น และ/หรือเสียง และยังเป็นอุปกรณ์ในการตรวจประเมินความสามารถในการทรงตัว ใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับฝึกการทรงตัว ซึ่งจะมีสัญญาณในรูปแบบเสียงและ/หรือแบบสั่น เพื่อสามารถปรับตำแหน่งของร่างกายให้เหมาะสม

     2. เครื่องฆ่าเชื้อโรคอัจฉริยะสำหรับฆ่าเชื้อโรคที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์พืชและธัญพืช (Smart automatic machine for pathogen-free seeds and grains) โดย รศ.ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เครื่องนี้จะใช้สำหรับลดการปนเปื้อนจากเชื้อสาเหตุโรคในเมล็ดพันธุ์พืชเศรษฐกิจ สามารถควบคุมอุณหภูมิของน้ำที่ใช้ฆ่าเชื้อโรคในเมล็ดพันธุ์พืชแบบอัตโนมัติได้ตั้งแต่ 1-95 องศาเซลเซียส โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนของอุณหภูมิในแต่ละจุดไม่เกิน ± 0.1 องศาเซลเซียส และมีระบบควบคุมอุณหภูมิเป็นแบบ Microprocessor Controller

     ศ.ดร.ทพญ.ศิริวรรณ สืบนุการณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า งานวิจัยและนวัตกรรมมีความสำคัญของต่อการพัฒนาประเทศไทย พระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 กำหนดให้มหาวิทยาลัยมีหน้าที่ทำวิจัยและสร้างนวัตกรรม เร่งให้มหาวิทยาลัยผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อความงอกเงยทางวิชาการ และใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์โดยร่วมมือกับภาคเอกชน และอนุญาตให้มหาวิทยาลัยตั้งบริษัทเพื่อผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ผลิตขึ้นไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์

     “เพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปสู่มหาวิทยาลัยวิจัยระดับแนวหน้า กลยุทธ์ที่สำคัญคือส่งเสริมให้อาจารย์ผลิตนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ในเชิงรุก คือการจัดให้มีกองทุนพัฒนานวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ให้การสนับสนุนอาจารย์ที่มีประสบการณ์และผลงานแล้ว และอาจารย์ที่มีศักยภาพและมีความประสงค์เริ่มงานด้านพัฒนานวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ สนับสนุนการยื่นจดสิทธิบัตรส่งเสริมให้ต่อยอดผลงานไปสู่ Startup และ Smart SME” ศ.ดร.ทพญ.ศิริวรรณ กล่าวทิ้งท้าย

     สำหรับงาน The 48th International Exhibition of Inventions Geneva ในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 48 ซึ่งเป็นงานที่ได้รับการสนุนจากจากรัฐบาลสวิตฯ อาทิ The Swiss Federal Government of the State และ The City of Geneva และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลกหรือ The World Intellectual Property Organization (WIPO) และสหพันธ์สมาคมนักประดิษฐ์นานาชาติ หรือ International Federation of Inventors' Associations (IFIA) เป็นเวทีการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติที่สำคัญในทวีปยุโรป โดยมีนักวิจัย/นักประดิษฐ์จากทั่วโลกนำผลงานเข้าประกวดและจัดแสดงในงานจำนวนกว่า 600 ผลงาน จากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก