Loading...

ประกาศรายชื่อ! ‘20 ผลงานวิชาการ’ ผ่านการคัดเลือก ‘TTF AWARD’ 2564-2565

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย เผยผลการพิจารณากลั่นกรองหนังสือเข้ารอบสุดท้าย ผลงานวิชาการดีเด่น TTF AWARD ประจำปี 2564-2565 หลังร่อนตะแกรงจาก 136 ผลงาน เหลือเพียงแค่ 20 ผลงาน

วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2565

     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย ประกาศผลการคัดเลือก “ผลงานวิชาการดีเด่น” รางวัลมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย หรือ TTF AWARD ประจำปี 2564-2565 ที่ผ่านการพิจารณากลั่นกรอง จำนวน 136 ผลงาน โดยจะประกาศผลผู้ที่ได้รับรางวัลเกียรติยศ และรางวัลผลงานทางวิชาการดีเด่น พร้อมทั้งมอบรางวัลอย่างเป็นทางการอีกครั้งในเดือนธันวาคมนี้

     สำหรับรางวัล TTF AWARD เป็นรางวัลที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย มอบให้กับนักวิชาการไทยที่สร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ ตอบโจทย์ยุคสมัยและสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาประเทศได้จริง แบ่งออกเป็น 4 สาขา ได้แก่ ด้านสังคมศาสตร์ ด้านมนุษยศาสตร์ ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ด้านสิ่งแวดล้อมและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี โดยเริ่มครั้งแรกในปี 2538 จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 27 ปี โดยผู้ที่ได้รับรางวัลเกียรติยศจะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 300,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ และรางวัลผลงานวิชาการดีเด่นอีก 4 รางวัล รางวัลละ 200,000 บาท รวมเป็นมูลค่าเงินรางวัลทั้งสิ้น 1,100,000 บาท

     ในส่วนของผลงานวิชาการดีเด่นประจำปี 2564-2565 มีผู้ส่งผลงานเข้าสู่การพิจารณารางวัลฯ รวมทั้งสิ้น 136 ผลงาน โดยคณะกรรมการแต่ละสาขาได้พิจารณากลั่นกรองหนังสือที่ผ่านการคัดเลือก สาขาละ 5 ผลงาน

ทั้งนี้ ประกอบด้วย ด้านสังคมศาสตร์ ได้แก่

   1. กฎหมายว่าด้วยอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ และอาชญากรรมไซเบอร์ โดย ผศ.สาวตรี สุขศรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

   2. อัตลักษณ์เอกสาร: วงศาวิทยาการควบคุมประชากรของรัฐไทย โดย รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

   3. สร้างความแข็งแกร่งให้ระบบภาษีไทย โดย รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

   4. เบญจปัญญา โดย รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

   5. ส่องผ่านเพดานแก้ว: ผู้บริหารหญิงกับความไม่เท่าเทียมทางเพศ โดย รศ.ดร.เนตนภา ไวทย์เลิศศักดิ์ (ยาบุชิตะ) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ด้านมนุษยศาสตร์ ได้แก่

   1. งานช่างกุลาในสิมอีสาน หลักฐานศิลปกรรมผ่านคาราวานพ่อค้าเร่ โดย รศ.ดร.ชวลิต อธิปัตยกุล บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีจากเมืองตากสู่สะเทิม: ความสัมพันธ์ทางศิลปกรรมไทย พม่า มอญ กะเหรี่ยง ตามเส้นทางสู่ปากน้ำสาละวิน โดย ศ.ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

   2. ประพันธศาสตร์ของความหลัง: ความทรงจำวัฒนธรรมกับวรรณกรรมศึกษา โดย รศ.ดร.นัทธนัย ประสานนาม คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

   3. ศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัย: ตะวันตกและไทย โดย อาจารย์สุธี คุณาวิชยานนท์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

   4. "กบฏเงี้ยว" การเมืองของความทรงจำ: ประวัติศาสตร์ขบวนการเคลื่อนไหวของ "คนล้านนา" โดย ดร.ชัยพงษ์ สำเนียง คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้แก่

   1. ตำราโรคระบบทางเดินอาหารและตับในเวชปฎิบัติ (Practical Gastroenterology and Hepatology) โดย รศ.พญ. มณฑิรา มณีรัตนะพร, อาจารย์ นพ.สุพจน์ นิ่มอนงค์, อาจารย์ พญ.อวยพร เค้าสมบัติวัฒนา และคณะสาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

   2. การดูแลรักษาผู้บาดเจ็บก่อนถึงโรงพยาบาล (prehospital Trauma Care) โดย รศ.ดร.นพ.ไชยพร ยุกเซ็น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

   3. การปลูกถ่ายไต (Kidney Transplant) โดย ผศ.นพ.ณัฐพล อาภรณ์สุจริตกุล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

   4. โรคภูมิแพ้ (Allergic Disease) โดย รศ.ดร.นพ.พงศกร ตันติลีปิกร, รศ.นพ.ต่อพงษ์ ทองงาม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

   5. พรีไบโอติก: ฟังก์ชันนัลโอลิโกแซ็กคาไรด์ โดย รศ.ดร.จารุณี ควรพิบูลย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ด้านสิ่งแวดล้อมและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ได้แก่

   1. เชลแล็ก-การประยุกต์ใช้ในอาหารและยา โดย ศ.ดร.สนทยา ลิ้มมัทวาภิรัติ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

   2. พันธุศาสตร์ระดับเซลล์ โดย ศ.ดร.อลงกลด แทนออมทอง, รศ.ดร.กฤษณ์ ปิ่นทอง, ดร.อิสระ ปะทะวัง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์, คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

   3. ชีวเคมีของโปรตีนในน้ำพิษของสัตว์พิษในไฟลัมสัตว์ขาปล้อง (อาร์โทรพอด) และการประยุกต์ใช้ โดย ศ.ดร.ศักดา ดาดวง คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

   4. กลศาสตร์ควอนตัม โดย นายทีปานิส ชาชิโย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

   5. วิธีไฟไนต์เอลิเมนต์ และการสร้างตาข่ายสามเหลี่ยม โดย ศ.ดร.สุทธิศักดิ์ พงศ์ธนาพาณิช มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

     รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะประธานคณะกรรมการรางวัล TTF AWARD กล่าวว่า รางวัล TTF AWARD เป็นรางวัลที่ธรรมศาสตร์และมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยภาคภูมิใจ เนื่องจากเป็นโครงการที่มุ่งมั่นสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้นักวิชาการไทย โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่โลกเผชิญกับความท้าทายนับไม่ถ้วน ทั้งการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี โรคระบาด ปัญหาสิ่งแวดล้อม การพัฒนาที่ไม่สมดุลกับความยั่งยืน ฯลฯ เหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยมีงานวิชาการ-งานวิจัย เป็นฐานในการจัดทำและตัดสินใจเชิงนโยบาย

     รศ.เกศินี กล่าวว่า ผลงานที่ร่วมโครงการทั้งหมดเป็นหนังสือที่เขียนขึ้นใหม่หรือตีพิมพ์มาไม่เกิน 5 ปี มีเนื้อหาวิชาการที่เป็นการค้นพบองค์ความรู้ใหม่ (Original) หรือแสดงถึงการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (Creative) ไม่เป็นลักษณะบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ พร้อมมีหัวข้อวิชาการที่ร่วมสมัยสอดคล้องกับโลกปัจจุบันและเอื้อประโยชน์ทางภูมิปัญญาแก่สังคมไทย