Loading...

นักศึกษาปริญญาโท เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ สร้างผลงานวิจัย “Real-Financial Connectedness” คว้ารางวัลจากตลาดหลักทรัพย์ฯ

นักศึกษาปริญญาโท คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนองานวิจัยด้านตลาดทุน คว้ารางวัลงานวิจัยดี จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2565

     นายวัชรพัฐ มาแสง นักศึกษาปริญญาโท คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอผลงานวิจัย “ความเชื่อมโยงระหว่างภาคเศรษฐกิจจริง ตลาดทุนไทย และตลาดทุนในภูมิภาคเอเชีย (Real-Financial Connectedness)” คว้ารางวัลงานวิจัยดี ด้านตลาดทุน จากโครงการสนับสนุนทุนวิจัยด้านตลาดทุน ประจำปี 2564/2565 จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

     นายวัชรพัฐ กล่าวว่า ผลงานวิจัย “ความเชื่อมโยงระหว่างภาคเศรษฐกิจจริง ตลาดทุนไทย และตลาดทุนในภูมิภาคเอเชีย (Real-Financial Connectedness)” เริ่มต้นมาจากหัวข้อวิทยานิพนธ์ ปริญญาโท โดยได้ตั้งต้นศึกษาเกี่ยวกับด้านการส่งผ่านความผันผวน และเจอหัวข้อเกี่ยวกับด้านผลลุกลาม (Contagion) เลยลองไปปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ จากนั้นอาจารย์ที่ปรึกษาจึงแนะนำเพิ่มเติมในมุมต่าง ๆ ของการส่งผ่านความผันผวนในตลาดทุน และแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับด้านความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ ซึ่งในปัจจุบันงานศึกษาด้านความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในไทยยังคงมีน้อย อีกทั้งหลังจากการทบทวนวรรณกรรม ค้นพบว่างานวิจัยสามารถประยุกต์เชื่อมโยงตลาดหุ้นกับปัจจัยและภาคส่วนต่าง ๆ ได้อีกมากมาย

     จากการวิจัยพบว่า ตลาดหุ้นมีความเชื่อมโยงกับหลายภาคส่วน ซึ่งหมายถึงตลาดหุ้นรับความผันผวนมาจากภาคส่วนต่าง ๆ แต่ละภาคส่วนมีปัจจัย มีตัวแปรมากมาย ทำให้ภาคของความผันผวนในตลาดหุ้นไทยมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น และมีความผันผวนมากขึ้น ในส่วนของความเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจจริงพบว่า ตลาดหุ้นมีบทบาทเป็นผู้ส่งผ่านความผันผวนไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริง ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจให้สะดุดตัวหรือชะลอตัวลงได้

     นายวัชรพัฐ กล่าวเสริมว่า ส่วนความเชื่อมโยงกับนโยบายเศรษฐกิจต่างประเทศพบว่า ตลาดหุ้นไทยจะรับความผันผวนจากนโยบายเศรษฐกิจต่างประเทศมากในช่วงวิกฤติ ซึ่งแสดงถึงความสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจในช่วงวิกฤติต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน หากมีความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบายจะส่งผลอย่างมากต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนซึ่งแสดงผ่านความผันผวนในตลาดหุ้น อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นไทยยังคงมีความเชื่อมโยงและรับความผันผวนจากตลาดหุ้นต่างประเทศมากที่สุดเมื่อเทียบกับสองภาคส่วนก่อนหน้า

     งานวิจัยชิ้นนี้จะช่วยสร้างองค์ความรู้ และเป็นเครื่องมือสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ออกนโยบาย และผู้ลงทุน ในการเฝ้าระวังความผันผวนและการบริหารจัดการความเสี่ยง ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งหวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาคตลาดทุนจะนำไปประยุกต์ใช้ต่อ เพราะงานวิจัยนี้สามารถสร้างความเชื่อมโยงกับภาคส่วนต่าง ๆ ได้อีกหลากหลายภาคส่วน ซึ่งเหมาะกับบริบทของโลกในปัจจุบันที่ทุกสิ่งทุกอย่างมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น นอกจากนี้ตัวแบบจำลองสามารถอธิบายและแสดงภาพของความเชื่อมโยงและการส่งผ่านความผันผวนที่ซับซ้อนให้เห็นได้ในรูปแบบที่ง่ายขึ้น จึงทำให้คนที่สนใจศึกษาสามารถประยุกต์ใช้งานในสถานการณ์จริงได้ง่ายเช่นเดียวกัน

     “รู้สึกดีใจมากครับ เพราะไม่เคยคิดว่าจะผ่านเข้ารอบไปได้ถึงขนาดนี้ การที่ได้รางวัลนี้มันเกินไปกว่าที่คาดไว้เยอะมาก ๆ ขอขอบคุณ ผศ.ดร.วศิน ศิวสฤษดิ์ อาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัยชิ้นนี้ ที่แนะนำให้สมัครและให้คำแนะนำเสมอมาจนออกมาเป็นผลงานชิ้นนี้ ขอบคุณคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะการเรียนที่นี่ได้ช่วยส่งเสริมการคิดค้นผลงานวิจัยนี้เป็นอย่างสูง เนื่องจากการเรียนที่มีเนื้อหาเข้มข้น และมีฐานข้อมูลต่าง ๆ ให้เข้าใช้เพื่อรวบรวมข้อมูลสำหรับทำการศึกษา” นายวัชรพัฐ กล่าวถึงความรู้สึกหลังจากได้รับรางวัล

     นอกจากนี้ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังได้คว้ารางวัลประกาศเกียรติคุณติดมือกลับมาอีก 2 รางวัล จากผลงานวิจัยเรื่อง The Relationship between Agricultural Commodities and Stock Market in Case of Thailand: Safe-haven, Hedge, or Diversifier? - Cross-Quantilogram Analysis โดย นายกาจบัณฑิต บัณฑิตสกุลพร ซึ่งมี ผศ.ดร.ษิฌา ทับทิมพรรณ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และผลงานวิจัยเรื่อง ผลการดำเนินงานของกองทุนรวมตราสารทุนในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ด้วยวิธี Bootstrapping โดย นายจิรสิน ศิริประชัย ซึ่งมี รศ.ดร.ธาตรี จันทรโคลิกา เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

     ทั้งนี้ โครงการสนับสนุนทุนวิจัยด้านตลาดทุน จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนงานวิจัยด้านตลาดทุนที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในทางปฏิบัติหรือสามารถนำไปต่อยอดได้ โดยการผสานองค์ความรู้และแนวคิดใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนในหลายมิติ ซึ่งต้องการองค์ความรู้ที่จะผสานในหลายสาขาวิชา