Loading...

‘GHB AI-Home’ แพลตฟอร์มครบจบเรื่องบ้าน ผลงาน ‘นักศึกษา ว.นวัตกรรม’ คว้ารางวัลชนะเลิศ

นักศึกษาวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คิดค้นแพลตฟอร์มที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ในการซื้อที่อยู่อาศัยของคนไทย

วันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ.2567

     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอแสดงความยินดีกับ ชณิษชา พูลเพิ่ม นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชานวัตกรรมการบริการ (หลักสูตรนานาชาติ) (BSI) และ จินต์พิสุทธิ์ อาชาเพ็ชร นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชานวัตกรรมและการแปรรูปทางดิจิทัล (dX) วิทยาลัยนวัตกรรม ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ พร้อมเงินรางวัล 100,000 บาท จากการแข่งขัน GHB Open Innovation Hackathon 2024 ด้วยผลงาน ‘GHB AI-Home’

เล่าถึงโปรเจกต์ GHB AI-Home ครบจบเรื่องบ้าน

     ชณิษชา: เราอยากนำนวัตกรรมมาส่งเสริมความเท่าเทียมของคนไทยค่ะ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลทางการเงินของตนได้อย่างโปร่งใสและปลอดภัย การทำให้คนไทยมีบ้านได้จากการเข้าถึงข้อมูลและให้คำแนะนำในการสร้างเครดิตในการกู้ที่ดี รับรู้สภาพคล่องทางการเงินของตน รวมทั้งช่วยเหลือกลุ่มคนที่ขาดแหล่งในการขายบ้านมือสองให้สามารถมีแหล่งปล่อยได้ทันท่วงที ก่อนจะเกิดเป็นหนี้เสีย

     GHB AI-Home จะช่วยให้ข้อมูลในการตัดสินใจในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ด้วยฟีเจอร์ต่าง ๆ เช่น AI สินเชื่อบ้าน ที่จะช่วยคำนวณคะแนนเครดิตด้วย AI ช่วยลดเวลาในการคำนวณและเพิ่มประสิทธิภาพ โดยใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความแม่นยำด้วย Machine Learning และ AI เพียงแค่ผู้ใช้อัปโหลดไฟล์เอกสารที่จำเป็น หลังจากนั้น ระบบจะทำการตรวจสอบว่าเอกสารเหล่านั้นเป็นของจริงหรือของปลอม นอกจากนี้ ยังมีฟีเจอร์ประเมินราคาบ้านปัจจุบันและแนวโน้มราคาในอนาคตได้ ช่วยให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลเปรียบเทียบประกอบการตัดสินใจ

     “เราได้เล็งเห็นโอกาสในการต่อยอดจึงคิดถึงแพลตฟอร์มบริการครบวงจร เปรียบเสมือน One stop Service เรื่องบ้าน ช่วยให้ผู้ใช้สามารถค้นหาและจ้างบริการซ่อมแซมบ้าน ในทางกลับกันก็จะเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้กับคนไทยอย่างยั่งยืนด้วยค่ะ”

ประสบการณ์และความรู้สึกที่อยากแบ่งปัน

     ชณิษชา: การแข่งครั้งนี้ได้ให้ประสบการณ์หลายอย่าง เช่น การทดสอบความเป็นไปได้ของโปรเจกต์ การสร้าง Prototype ตั้งแต่เริ่มจนจบ ซึ่งเปลี่ยนรูปแบบนับครั้งไม่ถ้วน เพื่อให้ Prototype ตอบโจทย์กับทาง ธอส. และลูกค้ามากที่สุด ทั้งยังต้องทำความเข้าใจรูปแบบธุรกิจของ ธอส. โดยในการแข่งขันนี้ อย่างแรกที่ศึกษาคือข้อมูลขององค์กร พันธกิจ กลุ่มเป้าหมาย รวมถึงคุยกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียของโปรเจกต์ อย่างพนักงานของ ธอส. ลูกค้า หรือผู้ที่เคยใช้บริการประเภทเดียวกัน

     จินต์พิสุทธิ์: อยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้ผู้คน สามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ในราคาที่ยุติธรรม โดยอยากสร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ตลอดจนแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการอยู่อาศัยได้อย่างทั่วทุกกลุ่ม โดยเทคนิคในการคว้าชัยชนะในครั้งนี้ คือการทำความเข้าใจกลุ่มคนที่เราอยากจะทำแพลตฟอร์มตัวนี้ขึ้นมาให้เขา โดยต้องเข้าใจเขาจริง ๆ ว่าอะไรคือ Pain point ของเขา จึงได้ทำการสัมภาษณ์กลุ่มคนต่าง ๆ เพื่อที่จะได้ออกแบบ solution ที่ตอบโจทย์ เพราะถ้าหากแพลตฟอร์มนี้ถูกนำไปใช้จริงจะเป็นประโยชน์ต่อผู้คน ไม่ใช่แค่เฉพาะกับผู้ที่ต้องการซื้อหรือขายบ้าน แต่ยังมีกลุ่มคนอื่น ๆ ที่แพลตฟอร์มเราสามารถช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้เขาได้

เรียนที่ วิทยาลัยนวัตกรรม ให้อะไรเราบ้าง?

     ชณิษชา: วิทยาลัยนวัตกรรรมสอนหลายอย่างมาก และเกือบจะทุกอย่างที่ใช้ในการพัฒนาโปรเจกต์ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ที่อาจารย์สอนในคลาสเรียน ตั้งแต่การเก็บข้อมูล การหา pain point วิเคราะห์ธุรกิจ แผนกลยุทธ์ การพัฒนา จนไปถึงสร้างตัวต้นแบบ เคสต่าง ๆ ที่อาจารย์ยกตัวอย่างในห้องเรียนมีประโยชน์มากตอนที่ต้องวิเคราะห์ตลาด และที่ขาดไม่ได้เลยคือ ได้เรียนในหลากหลายธุรกิจ และอุตสาหกรรม ทำให้นำมาปรับใช้และต่อยอดในงานได้

ส่งต่อแรงบันดาลใจ

     จินต์พิสุทธิ์: ขอแค่มีความเชื่อ เชื่อในตัวเอง เชื่อในทีมของเรา และเชื่อในผลงาน เพราะถ้ามีความเชื่อ เราจะทำมันได้อย่างแน่นอน ทำได้ในที่นี้ ไม่จำเป็นว่าต้องชนะเสมอไปนะ เพราะถ้ามีความเชื่อและเราได้ทำมัน เท่านี้ก็เป็นการที่เราได้ก้าวมาอีกขั้นหนึ่งแล้ว และประสบการณ์ก็จะหล่อหลอมเรา จนวันหนึ่งเราก็จะสำเร็จได้อย่างแน่นอนเลย ;)

     โดยการแข่งขัน GHB Open Innovation Hackathon เป็นการประกวดนวัตกรรมการเงิน ภายใต้โจทย์ “GHB Digital Life Customer Experience นวัตกรรมการเงินที่มุ่งเน้นการพัฒนาชีวิตเพื่อการมีที่อยู่อาศัยในยุคดิจิทัล” จัดขึ้น โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่นำแนวคิดนวัตกรรมทางการเงิน มาพัฒนาเพื่อ ตอบโจทย์ลูกค้ารวมไปถึงสนับสนุนพันธกิจของ ธอส. ที่มีเป้าหมายเพื่อ “ทำให้คนไทยมีบ้าน”