Loading...

จะรู้ได้อย่างไร? ว่าเป็น “โรคแพ้อาหาร” และอาหารประเภทไหนเสี่ยงแพ้ได้บ่อย!

อีกหนึ่งโรคที่เราไม่ควรมองข้าม นั่นคือ “โรคแพ้อาหาร” ความรุนแรงของมันอาจถึงแก่ชีวิตได้ ส่วนใหญ่มักพบว่าแพ้อาหารประเภทนมวัว หรือแม้แต่ในผลไม้บางชนิดด้วย

วันพุธที่ 26 มกราคม พ.ศ.2565

     ศ.พญ.ดร.อรพรรณ โพชนุกูล (หมอแอน) ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศโรคภูมิแพ้ โรคหืด และโรคระบบหายใจ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า โรคแพ้อาหาร (Food Allergy) คือ ภาวะแพ้อาหารเป็นปฏิกิริยาทางอิมมูนที่ตอบสนองไวผิดปกติต่ออาหารที่รับประทาน โดยมีอาการเฉียบพลัน มักมีอาการหลังจากรับประทานอาหารชนิดนั้นทันที หรือภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง และบางครั้งอาจมีอาการรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งอาการที่เกิดจากระบบอิมมูนชนิด IgE ที่พบได้แก่ ผื่นลมพิษ คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว น้ำมูก หอบ ผื่นแพ้ผิวหนัง หรืออาจมีอาการหลายระบบร่วมกันเรียกว่า Anaphylaxis ได้แก่ อาการทางผิวหนัง แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ความดันโลหิตต่ำ

     นอกจากนี้ อาการอาจเกิดช้าหลายสัปดาห์หลังจากรับประทานอาหาร โดยกรณีเกิดจากปฏิกิริยาที่ไม่ผ่านอิมมูนชนิด IgE อาจมีอาการหลังรับประทานอาหารไปหลายสัปดาห์ ซึ่งอาการที่พบได้แก่ กรดไหลย้อน ปวดท้อง ถ่ายเหลว อาเจียน หรือถ่ายเป็นเลือด

     ส่วน Food Intolerance ไม่ได้เกิดจากปฏิกิริยาทางอิมมูน แต่เกิดความผิดปกติทางเมตาโบลิซึม ที่ทำให้ไม่สามารถย่อยอาหารชนิดนั้นได้สมบูรณ์ มักจะมีอาการเล็กน้อย ไม่รุนแรง เช่น ภาวะท้องเสียจากขาดเอ็นไซต์แลคโตส (lactose intolerance) ซึ่งอาการที่พบได้แก่ ถ่ายเป็นน้ำ ท้องอืด มีแก๊สในท้อง ลำไส้แปรปรวน และอาจมีอาการจากไม่สามารถย่อยอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต ซึ่งมีการดูดซึมในลำไส้ได้น้อย และมักอุดมไปด้วยน้ำตาลจากธรรมชาติสูง (Fermentable Oligosaccharides Disaccharides Monosaccharide and Polyols; FODMAPS) โดยคนไข้จะมีอาการท้องอืด ปวดท้อง ท้องเสีย หลังทานอาหารในกลุ่มนี้ หรืออาจเกิดไมเกรนหลังทานอาหารบางชนิด เช่น แอลกอฮอล์ ช็อกโกแลต ชีส ผงชูรส แอสปาแตม คาเฟอีน ถั่ว และอาหารที่มีส่วนผสมของไนไตรท์

จะสังเกตอาการของโรคแพ้อาหารได้ อย่างไร?

     วิธีสังเกตแบ่งเป็น 2 กรณี คือ 1. อาการเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ ที่หาสาเหตุไม่ได้ เช่น คันตามตัว ผิวหนังอักเสบ ท้องอืด ท้องเสียเรื้อรัง อาเจียนบ่อย ถ่ายเป็นเลือด และ 2. อาการเฉียบพลัน ได้แก่ ผื่นคัน ลมพิษ หน้าบวม ตัวบวม แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก กลืนลำบาก หากมีอาการรุนแรง หลายระบบให้รีบไปโรงพยาบาล ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์เมื่อมีอาการทางผิวหนัง หรือทางเดินอาหารเป็น ๆ หาย ๆ หรือมีอาการทันทีหลังได้รับอาหาร หรืออาจมีอาการหลาย ๆ ระบบโดยที่หาสาเหตุไม่ได้

อาหารที่ทำให้แพ้ได้บ่อย?

     สำหรับอาหารที่ทำให้แพ้ได้บ่อย ได้แก่ นมวัว ไข่ อาหารทะเล แป้งสาลี ถั่ว นมถั่วเหลือง เป็นต้น ส่วนอาหารชนิดอื่นอาจทำให้แพ้ได้ แต่พบน้อย เช่น ผลไม้บางชนิด เนื้อสัตว์

มีวิธีไหนบ้างที่ช่วยทดสอบโรคแพ้อาหาร?

   1. การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง หรือ skin prick test (SPT) วิธีนี้อาจทำให้ทราบคร่าว ๆ ว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นจากอาหารหรือไม่ เหมาะสำหรับใช้คัดกรองเบื้องต้น โดยกรณีที่ทดสอบให้ผลบวก จะแพ้จริงประมาณร้อยละ 50 เพราะคนที่ไม่แพ้อาหารก็อาจให้ผลบวกได้ แต่กรณีที่ให้ผลลบ แสดงว่าไม่แพ้อาหารถึงร้อยละ 95 นอกจากนี้การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง คนไข้ควรเตรียมตัวก่อนมาทดสอบ โดยงดยาต้านฮีสามีน (ยาแก้แพ้) ก่อนมาทดสอบอย่างน้อย 5-7 วัน และทราบผลภายใน 15 นาที

   2. การตรวจเลือดวัดระดับ Specific IgE หรือ IgE ที่จำเพาะต่ออาหารชนิดนั้น เหมาะสำหรับเด็กเล็กที่อาจให้ผลทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังเป็นลบได้ หรือกรณีคนไข้สามารถงดยาแพ้ได้ หรือไม่สามารถทดสอบทางผิวหนังได้ เหมาะสำหรับใช้คัดกรองเบื้องต้นว่าเป็นโรคแพ้อาหารหรือไม่ และติดตามอาการแพ้อาหารว่าดีขึ้นแล้วยัง โดยทั่วไปจะทราบผลภายใน 1-2 สัปดาห์

   3. การทดสอบโดยวิธี Oral Food Challenge หรือโดยวิธีรับประทานอาหาร ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่สงสัยว่าแพ้ โดยเริ่มจากปริมาณน้อย ๆ แล้วค่อยเพิ่มปริมาณขึ้นทุก 20-30 นาที โดยวิธีนี้ควรทำในโรงพยาบาล อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ภูมิแพ้ และเตรียมอุปกรณ์ช่วยชีวิตให้พร้อม เนื่องจากอาจเกิดอาการภูมิแพ้ชนิดรุนแรงได้ คนที่ควรทดสอบโดยวิธีนี้คือ

     3.1 คนที่เคยมีประวัติว่าแพ้อาหารมาก่อน และงดอาหารมาสักระยะ และต้องการดูว่าอาการหายแล้ว ซึ่งก่อนทำควรเจาะเลือดหรือทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังก่อนว่าแพ้ลดลงแล้ว

     3.2 กรณีที่สงสัยว่าแพ้อาหาร แต่อาการและผลทดสอบอื่น ๆ ให้ผลไม่ชัดเจน

     3.3 กรณีที่ผลทดสอบจากเลือดและผิวหนังขึ้นหลายอย่าง แล้วไม่มั่นใจว่าแพ้ตัวไหน

     3.4 กรณีที่จะเข้ารับการรักษาภาวะแพ้อาหารโดยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัด (oral immunotherapy)