Loading...

วันคุณภาพแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU–QD Day) ประจำปี 2566 ยกระดับสู่มหาวิทยาลัยระดับโลก

กองพัฒนาคุณภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานวันคุณภาพแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2566 พัฒนาความรู้ คู่นวัตกรรม สู่ความยั่งยืน

วันศุกร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ.2567

     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการองค์การทางการศึกษา เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและชุมชน โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมีความมุ่งมั่น พยายามในการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการศึกษาอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศ สร้างสรรค์สังคมแห่งการเรียนรู้ ตอบโจทย์สถานการณ์โลกในปัจจุบัน

     ในปี 2566 วันคุณภาพแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU - QD day) จึงได้ดำเนินการภายใต้แนวคิดการพัฒนาความรู้ คู่นวัตกรรม สู่ความยั่งยืน จัดประกวดแข่งขันรางวัลคุณภาพ 4 ประเภท คือ (1) TU - Best Practices (2) TU - Continuous Quality Improvement (3) TU – Service Excellence และ (4) TU – Innovation มีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดจำนวน 60 ผลงาน ซึ่งมากกว่าผลงานในปี 2565 โดยคิดเป็น 46% ถือเป็นการเติบโตทางด้านผลงานคุณภาพของชาวมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้อย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของหน่วยงาน ในการพัฒนาคุณภาพขององค์กร ซึ่งจะเป็นแรงสนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย และวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยได้เป็นอย่างดี

     เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 กองพัฒนาคุณภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีการจัดโครงการวันคุณภาพแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2566 (TU - QD Day) ณ ห้องประชุมนานาชาติ 500 ที่นั่ง ห้อง 2014 ชั้น 2 อาคารเรียนและปฏิบัติการรวม (ปิยชาติ 2) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยมี รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธานในโครงการ กล่าวแสดงความยินดีกับหน่วยงาน และผู้ได้รับรางวัล และ รศ.ดร.ดนุพันธ์ วิสุวรรณ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาคุณภาพ เป็นผู้กล่าวรายงาน

    รศ.ดร.ดนุพันธ์ วิสุวรรณ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาคุณภาพ ได้กล่าวแสดงความยินดีกับผู้ประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ หน่วยงานที่มีผลการดำเนินการที่เป็นเลิศตามเกณฑ์ EdPEx ผู้ชนะผลงานการประกวดรางวัลการพัฒนาคุณภาพระดับมหาวิทยาลัย และขอบคุณคณะกรรมการพิจารณาผลงาน    

     “ฝ่ายพัฒนาคุณภาพได้มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับมหาวิทยาลัยและหน่วยงาน ให้ก้าวสู่การเป็นสถาบันแห่งการเรียนรู้ และนวัตกรรม สนับสนุนให้หน่วยงานใช้เครื่องมือคุณภาพ และกระบวนการจัดการความรู้ ในการพัฒนาคุณภาพการทำงาน พัฒนาคุณภาพการให้บริการ ส่งเสริมการเรียนรู้และถอดองค์ความรู้ของหน่วยงาน และต่อยอดไปสู่การสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในหน่วยงาน

     ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ได้ให้ความสนใจ ส่งผลงานคุณภาพเข้ามาประกวดเป็นจำนวนมาก และหวังว่าองค์ความรู้ และผลงานดังกล่าว จะได้รับการถอดบทเรียนและเผยแพร่ เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ นำไปประยุกต์ใช้และต่อยอดต่อไป” รศ.ดร.ดนุพันธ์ กล่าว

     ด้าน รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า นับว่าเป็นความสำเร็จของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มีผลงานคุณภาพ ในหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านการบริการ การพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง การพัฒนานวัตกรรม และการส่งเสริมการมีแนวปฏิบัติที่ดีในการทำงาน สิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงสนับสนุนการบรรลุยุทธศาสตร์ และวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยได้เป็นอย่างดี

     “ในฐานะผู้นำของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เราสนับสนุนการยกระดับมาตรฐาน ส่งเสริมการบูรณาการศาสตร์ด้านการศึกษา ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพบนความแตกต่าง ซึ่งในปีนี้ได้พิสูจน์แล้วว่า EdPEx เป็นเครื่องมือคุณภาพที่เหมาะสมในการนำมาใช้พัฒนาคุณภาพมหาวิทยาลัย เพื่อตอบโจทย์สังคมไทย

     เมื่อการพัฒนาคุณภาพร่วมกับการพัฒนาโครงสร้างด้านหลักสูตร และการมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ สิ่งเหล่านี้ย่อมช่วยให้เกิดการ “ยกระดับสู่มหาวิทยาลัยระดับโลกเพื่อประชาชน (The world-class university for the people)” ตามวิสัยทัศน์ที่มหาวิทยาลัยได้ตั้งไว้” รศ.เกศินี กล่าว

     ในปีนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจประเมินรางวัลคุณภาพ (TQA) ประจำปี 2566 จำนวน 3 ท่าน คือ 1. ผศ.ดร.อารี เทเลอร์ คณะแพทยศาสตร์ 2. ผศ.พญ.ศิริภัทร เกียรติพันธุ์สดใส คณะแพทยศาสตร์ และ 3. รศ.ดร.ภก.รัฐพล อาษาสุจริต คณะเภสัชศาสตร์

     และหน่วยงานที่มีผลการดำเนินงานด้านเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (EdPEx) จำนวน 4 หน่วยงาน ได้แก่ คณะพยาบาลศาสตร์ หน่วยงานที่มีคะแนนการประเมินสูงสุดในช่วง 200 – 300 คะแนน วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน และวิทยาลัยนวัตกรรม หน่วยงานที่มีคะแนนการประเมินสูงสุดในช่วง 150 - 200 คะแนน

     ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนำเสนอผลงานของผู้ได้รับรางวัล TU - QD Day ในด้านต่าง ๆ และมีการมอบรางวัลโปสเตอร์ยอดเยี่ยมจากผลโหวตของผู้ร่วมกิจกรรมอีกด้วย