Loading...

สังคมสงเคราะห์ ธรรมศาสตร์ ตั้งกลุ่มนักวิจัย เป็นโค้ชช่วยเหลือและเสริมพลังชุมชน รับมือโควิด-19

 

นักวิจัยและผู้นำชุมชนให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการเสริมพลังชุมชนเฝ้าระวังทางสังคมและดูแลช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคมจากการโควิด-19

วันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2564

     คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดตั้งโครงการเสริมพลังชุมชนเฝ้าระวังทางสังคมและดูแลช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคมจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดยได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ซึ่งมีนักวิจัยและผู้นำชุมชนเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก

     ดร.น้ำผึ้ง มีศีล อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ หนึ่งในนักวิจัยโครงการเสริมพลังชุมชนฯ กล่าวว่า ได้ชักชวนผู้นำชุมชนศิริสุข ต.บางเมืองใหม่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ให้เข้าร่วมโครงการเสริมพลังชุมชนฯ โดยได้อบรมจัดระเบียบตั้งกลุ่มกรรมการในชุุมชน ขณะที่ สสส. นำนักวิจัยเข้าไปสร้างพลังบวกพร้อมกับเสนอแนะให้ตั้งกลุ่มไลน์ของชุมชนเป็นการเฉพาะเพื่อเป็นประโยชน์ในการสื่อสารให้ทั่วถึงในภาวะวิกฤตซึ่งก็ได้ผล กลุ่มไลน์หมู่บ้านได้เข้ามามีบทบาทสร้างพลังเป็นสื่อกลางแก้ปัญหาในชุมชนในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน

     เดิมทีชุมชนแห่งนี้ ไม่มีปัญหาเรื่องโควิด แต่การระบาดครั้งล่าสุด ประธานชุมชนทำทุกวิถีทางเพื่อแก้ปัญหาโดยใช้ทุนส่วนตัวช่วยลูกบ้าน เช่น ทำชุดอบสมุนไพร ต้มน้ำขิงที่เป็นภูมิปัญญาป้องกันโควิดให้ผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยงในชุมชน

     “สิ่งสำคัญที่มีการต่อยอดจากไลน์หมู่บ้าน คือ เป็นตลาดออนไลน์ที่ใช้ซื้อขายของกันในชุมชนกันคึกคักเพื่อลดการเดินทางในช่วงโควิด ไลน์กลุ่มยังทำหน้าที่ร้องทุกข์ บอกปัญหาต่าง ๆ แจ้งเตือนข่าวสารเรื่องโควิดในหมู่บ้านกลายเป็นกลไกพลังบวกสนับสนุนจุดเด่นช่วยให้ประธานชุมชน แจกจ่ายสมุนไพรรักษาโควิดให้ลูกบ้านได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น” ดร.น้ำผึ้ง กล่าว

     นายกอบกิจ สุริยะมณี ประธานชุมชนศิริสุข ต.บางเมืองใหม่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ กล่าวว่า ได้เข้าอบรมโครงการเสริมพลังชุมชนฯ เมื่อปี 2563 โดยพา อสม. เยาวชน เข้าร่วมทำให้ได้รับความรู้นำไปปรับปรุงช่วยชุมชน เช่น ทำความเข้าใจกับชาวบ้านซึ่งมีอยู่กว่า 2,000 คนว่า เราจะป้องกันโควิดอย่างไร จากเดิมเมื่อปีที่แล้ว ชุมชนเราไม่ค่อยให้ความร่วมมือและไม่ทราบความร้ายแรงของโรคแต่ตอนหลังมาการระบาดเริ่มมากขึ้น เราจึงนำสิ่งที่อบรมมาปรับใช้ ถือว่าได้ประโยชน์อย่างมาก

     สิ่งที่ได้เรียนรู้ คือ ตระหนักถึงการที่ต้องช่วยเหลือป้องกันดูแลตัวเอง เราทำสื่อ เอกสารแจกคนในชุมชนว่าอยู่ในความเสี่ยงขั้นไหน ทำแผ่นป้ายไวนิล ติดหน้าชุมชนให้เขาตระหนักและยังให้ชาวบ้านเข้าไลน์กลุ่มชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากกว่าจะให้คนจำนวน 1,000 คน เข้าร่วมไลน์สำเร็จ

     การระบาดครั้งล่าสุด เราแบ่งความรับผิดชอบในหมู่ อสม.ของชุมชนดูแลลูกบ้านตามหลังคาเรือน โดยได้ทำน้ำขิง สมุนไพรอบไอน้ำให้ อสม. นำไปแจกจ่ายในชุมชน และชุมชนรอบข้างให้กับกลุ่มเสี่ยงที่ติดโควิดเพื่อไม่ให้เชื้อกระจาย นอกจากนี้ยังได้ทำอาหารแจก แขวนไว้ตามบ้าน มีถุงยังชีพบริการให้ชุมชน

     “เราต้มน้ำขิง ครั้งหนึ่งประมาณ 100 ขวด สัปดาห์ละ 3 ครั้ง น้ำขิงช่วยฆ่าเชื้อในลำคอ เรายังทำชุดอบสมุนไพร ประกอบด้วย เตยหอม ใบมะกรูด หอมแดง ตะไคร้หอม ให้กับกลุ่มเสี่ยงในชุมชนทำให้ปอดแข็งแรง หลังจากกลับจากทำงานแล้วให้อาบน้ำอบด้วยสมุนไพรที่เรานำไปแจกจ่ายโดยให้สูดอมชุดอบสมุนไพรเพื่อฆ่าเชื้อในลำคอ เราใช้ไลน์กลุ่มสอบถามใครต้องการชุดสมุนไพร เราก็นำไปส่งให้ ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 20 หลังคาเรือนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ชุมชนภายนอกอีก 7 ครอบครัว” นายกอบกิจ กล่าว

     นายกอบกิจ กล่าวอีกว่า การที่เราให้น้ำขิงกับผู้ติดเชื้อก็เพื่อประคองอาการระหว่างรอโรงพยาบาลมารับไปรักษา ซึ่งทางโรงพยาบาลจะบอกเสมอว่า ปอดของคนไข้ในชุมชนสะอาดแทบไม่พบเชื้อ แม้ที่ผ่านมาจะมีผู้เสียชีวิตจากการติดโควิด 2 ราย แต่ก็มาจากการปิดบังข้อมูลจนเชื้อลามในครอบครัว อีกปัจจัย คือ คนในชุมชนต้องเดินทางไปทำงานนอกบ้าน แต่การใช้ทักษะเครื่องมือเหล่านี้ ถือว่าช่วยลดความเสี่ยงจากโควิดกับลูกบ้านได้

     อีกหนึ่งนักวิจัยในโครงการเสริมพลังชุมชนเฝ้าระวังทางสังคมและดูแลช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคมจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดยคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อย่าง ผศ.โสภา อ่อนโอภาส นักวิชาการอิสระ เล่าว่า ชุมชนวัดโตนด อ.บางกรวย จังหวัดนนทบุรี ชุมชนที่มีรายได้น้อย ชาวบ้านตกงาน มีผลกระทบทางเศรษฐกิจ จึงร่วมกันจัดทำแผนเผชิญเหตุ เตรียมรับมือสถานการณ์โควิด-19 เช่น รณรงค์ป้องกันกลุ่มเสี่ยงในชุมชน หากมีคนติดเชื้อในชุมชนจะต้องทำอย่างไร เพื่อให้ชุมชนช่วยเหลือกันเองได้ พร้อมเตรียมแผนป้องกันโควิด-19 ด้วยการระดมทำความสะอาดพื้นที่ส่วนกลางของชุมชน เช่น สนามออกกำลังกาย อุปกรณ์ฟื้นฟูสุขภาพ เดือนละ 1-2 ครั้ง รวมทั้งติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิ พร้อมทั้งสนับสนุนเรื่องการปลูกผักไว้กินกันเองในชุมชน เพื่อจะได้ประหยัด รวมถึงจัดฝึกอาชีพทำขนมหวาน สูตรดังของคนในชุมชนเพื่อนำไปทำรับประทานในครัวเรือน และต่อยอดจำหน่าย หารายได้เข้าสู่ครอบครัว

     นอกจากนี้ด้วยชุมชนโตนด เป็นชุมชนเก่าแก่นับร้อยปี ที่มีวัดโตนดเป็นจุดศูนย์รวม ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ระลอกแรกได้ร่วมกับวัดออกโรงทานให้ผู้ทุกข์ยาก ทำข้าวกล่องส่งให้แต่ละครอบครัว ทำคูปองอาหารให้มาแลก ซึ่งทั้งหมดเพื่อเป็นกำลังใจและเสริมสร้างพลังใจให้แก่กัน และเป็นองค์ความรู้ให้ชาวบ้านนำไปต่อยอดปรับใช้กับเหตุการณ์วิกฤต

     นางมณี โตเฟื่อง กรรมการชุมชนวัดโตนด ได้ขอบคุณโครงการที่เข้ามาช่วยเหลือชุมชน ส่วนการดำรงชีวิต ในช่วงวิกฤตโควิดระลอกนี้ ได้เก็บผักที่ปลูกจากโครงการมากิน ไม่ต้องออกไปซื้อข้างนอก เพราะสถานการณ์โควิดระบาดรุนแรง อีกทั้งลดค่าใช้จ่ายได้มาก สามารถต่อชีวิตคนจนที่ไม่มีเงินให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ ส่วนการฝึกอาชีพก็ได้ทำขนมขายและกินเอง สร้างรายได้ แต่ช่วงนี้โควิดระลอกหลังนี้ไม่ได้ออกไปจำหน่าย

     พว.จินตนา ไวกยี ประธานศูนย์ฟื้นฟูผู้สูงอายุผู้พิการวัดโตนดและผู้จัดการดูแลระบบผู้สูงอายุ วัดโตนด กล่าวว่า โครงการได้เข้ามาเตรียมความพร้อมวางแผน รับมือสถานการณ์โควิด ตั้งแต่แรกว่าหากมีระลอกใหญ่จะทำอย่างไร โดยระดมสมองจากหลายหน่วยงาน มีอาสาสมัครในชุมชน อาสาที่จะดูแลเป็นหูเป็นตาให้ในชุมชน ซึ่งชุมชนวัดโตนดได้จัดระบบ คัดกรองคนเข้า-ออก ระแวดระวัง คนต่างพื้นที่เพื่อคัดกรองป้องกันโควิดเป็นอย่างดี มีการปลูกพืชผักสวนครัว ทำขนมเพื่อสร้างรายได้ นอกจากนี้ วัดโตนดยังได้ทำอาหารโรงทานทางปัญญา สมุนไพรต่อต้านโควิด น้ำ 4 สหาย น้ำเกลือ กลั้วคอ พัฒนากล่องคิลาน ปัจจัยที่มีอุปกรณ์จำเป็นสำหรับผู้ป่วยโควิดสีเขียวด้วย ขณะที่สถานการณ์โควิดในปัจจุบัน ทุกคนในชุมชนป้องกันตัวเอง เพราะมีองค์ความรู้ แต่ยังคงยกการ์ดสูงขึ้นและเพิ่มความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง