เมื่อ AI เปลี่ยนโฉมการศึกษา! ถามมุมมอง ‘อาจารย์ มธ.’ กับการผสาน ‘AI’ ในการเรียนการสอน
ฟังมุมมองของอาจารย์ธรรมศาสตร์ และวิธีปรับการเรียนการสอนเพื่อใช้ AI ให้บรรลุศักยภาพอันเป็นประโยชน์สูงสุดของผู้เรียนได้มากที่สุด
วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ.2567
เทคโนโลยี AI หรือปัญญาประดิษฐ์ เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนการสอนอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่การช่วยสอนในห้องเรียน การสร้างสื่อการเรียนการสอน ไปจนถึงการจัดการข้อมูลและประเมินผลการเรียนรู้ได้อย่างแม่นยำ และยังเปรียบเสมือนเป็น Buddy ของผู้สอนและผู้เรียนได้เป็นอย่างดี
เรามาฟังมุมมองของอาจารย์ธรรมศาสตร์ และวิธีปรับการเรียนการสอนเพื่อใช้ AI ให้บรรลุศักยภาพอันเป็นประโยชน์สูงสุดของผู้เรียนได้มากที่สุด
อาจารย์ ดร.อัครวุฒิ ตาคม อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวว่า หนึ่งในวิธีที่ผมนำมาใช้การบูรณาการการเรียนการสอน คือ การสนับสนุนให้นักศึกษาเข้าถึงองค์ความรู้ที่ทันสมัยด้วยการเรียนรู้เทคนิคและการใช้แบบจำลองภาษาขนาดใหญ่ที่หลากหลาย หรือ Large Longuage Models (LLMs) แบบ Human-in-the-Loop (HITL) โดยให้นักศึกษาได้มีปฏิสัมพันธ์กับแบบจำลองเหล่านั้นด้วยทักษะการคิดวิเคราะห์และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน เช่น เทคนิคที่จะแบ่งคำถามที่ซับซ้อนออกเป็นส่วนย่อย ๆ เชิงตรรกะ ซึ่งเลียนแบบขบวนความคิดที่เป็นลำดับของมนุษย์ หรือ Chain-of-thought (CoT) promting
“ความสะดวกของนักศึกษาและการปรับตัวของอาจารย์นี้ จะช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ในการแลกเปลี่ยนความคิดที่สามารถอธิบายได้อย่างมีเหตุและผล การเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์สามารถนำไปปรับใช้ได้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ในอนาคต และเป็นการเตรียมความพร้อมผู้เรียนให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ผมเชื่อว่าเทคโนโลยี AI ไม่เพียงแต่จะช่วยในการสร้างนวัตกรรม แต่ยังช่วยให้ผู้เรียนมีความสามารถที่จะเผชิญกับความท้าทายได้อย่างเข้าใจ” อาจารย์ ดร.อัครวุฒิ กล่าว
ขณะที่ ผศ. ดร.นพธนิษฐ์ โชติสาร สาขาวิชาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เผยว่า มีคนถามบ่อยว่าทำไมต้องสอน AI ในคณะที่เกี่ยวข้องกับบัญชีและบริหาร และสอนอย่างไร คำตอบคือ AI ในธุรกิจปัจจุบันเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ หากนักศึกษาไม่เข้าใจเทคโนโลยีนี้ ก็จะพลาดโอกาสในการประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในธุรกิจ หากเปรียบ AI สมัยนี้เป็นเครื่องคิดเลขในสมัยก่อน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในอดีตที่ช่วยให้เราคำนวณได้เร็วขึ้น การไม่เข้าใจหรือใช้ AI ไม่เป็น ก็เหมือนนักธุรกิจที่ใช้เครื่องคิดเลขไม่เป็น เราจึงสอนทั้งทฤษฎีพื้นฐานที่เหมาะสมกับนักศึกษาที่ไม่ได้มาจากสายวิทยาการคอมพิวเตอร์ และเน้นการปฏิบัติผ่านกรณีศึกษาจริง ๆ นอกจากนี้ ยังสอนการใช้เครื่องมือ AI ที่มีในตลาด เพื่อให้เห็นถึงศักยภาพและโอกาสในการนำ AI มาพัฒนาธุรกิจและกระบวนการทำงานให้ดีขึ้น
ผศ. ดร.กฤติยา เขื่อนเพชร สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยถึงวิธีประยุกต์ใช้ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ว่า อาจารย์ได้ผสาน AI เข้ากับการสอนด้าน Food Innovation ที่ช่วยสนับสนุนให้นักศึกษาเห็นภาพรวมของการพัฒนานวัตกรรมอาหาร ตั้งแต่การวิเคราะห์วัตถุดิบ สร้างสูตรอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ลดต้นทุนการผลิต ไปจนถึงการทดลองสร้างผลิตภัณฑ์ในรูปแบบจำลองเสมือนจริง (Virtual Prototyping) ซึ่งสามารถช่วยให้นักศึกษาเห็นโอกาสในการคิดค้นผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ที่ตอบโจทย์ตลาดได้อย่างรวดเร็วขึ้น
ด้าน อาจารย์ ดร.สานุช เสกขุนทด ณ ถลาง โครงการแปลและล่ามในยุคดิจิทัล คณะศิลปศาสตร์ ให้ความคิดเห็นว่า ในฐานะอาจารย์สอนแปลและภาษาอังกฤษ AI เข้ามามีบทบาทในการสอนอย่างมาก ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมการสอน ไปจนถึงการออกแบบกิจกรรมและการทดสอบ เช่น ในการสอนวิเคราะห์ตัวบทแปล นักศึกษาจำเป็นต้องเข้าใจภาษาต้นทางอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะในคู่ภาษาอังกฤษ-ไทย การเข้าใจความแตกต่างเชิงความหมายที่ซ่อนอยู่ในคำภาษาอังกฤษที่ดูคล้ายกันนั้นสำคัญมาก และด้วยความที่ AI เป็น Language Model จึงช่วย Generate คำที่อาจเป็นประเด็นสำคัญในการวิเคราะห์ความแตกต่างนี้ได้ดี ซึ่งถ้าต้องนั่งคิดเองอาจคิดได้ไม่กี่คำและต้องใช้เวลามาก ในแง่ของการสอนทักษะภาษาอังกฤษ AI ช่วยได้มากถึงมากที่สุด ด้วยความเป็น Language Model สามารถช่วยตรวจ Grammar และเลือกคำให้เราได้ ทำให้การเตรียมเอกสารสอนมีความรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก AI ยังมีโอกาสผิดพลาดอยู่มาก จึงใช้ AI เป็นเหมือน “Buddy” หรือที่ปรึกษา โดยที่ผู้สอนยังเป็นคนคิดหลักอยู่เสมอ
ผศ. พฤฒิพร ลพเกิด สาขาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มองว่า AI เข้ามามีบทบาทกับทุกสายงาน แม้แต่สายงานออกแบบที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในกระบวนการทำงาน เราคงไม่สามารถปิดกั้นหรือปฏิเสธไม่ได้เลยว่า AI เป็นตัวช่วยอันทรงอิทธิพลที่ทำใช้ชีวิตและการทำงานได้รับผลกระทบเชิงบวกในหลายมิติ โดยการนำ AI มาช่วยแก้ไข Pain-Points ของการเรียนการสอน (ในยุคที่การสอนไม่ใช่แค่สอน) ในสายงานออกแบบ ซึ่งช่วยให้นักศึกษามีความเข้าใจการออกแบบในบริบทต่าง ๆ ได้รวดเร็วขึ้น อาทิ การออกแบบสื่อการสอนที่สามารถสร้างขึ้นใหม่ (Generative) ในกรอบคำสำคัญที่กำหนด การสร้างแบบจำลองและสภาพแวดล้อม 3 มิติ เพื่อทดลองแนวคิดใหม่ ๆ การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของข้อมูลเชิงพื้นที่และสภาพแวดล้อม การวิเคราะห์และการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ให้กับผู้เรียนในบริบทที่ต้องการ เป็นต้น
“AI = Co-Teacher ที่เข้ามาช่วยลดระยะเวลาในการจัดการงานสอน ที่คงอยู่ภายใต้เนื้อหาของผู้สอน ทำให้ผู้สอนสามารถโฟกัสกับผู้เรียนได้มากขึ้น รวมถึงการกำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้ที่เข้าถึงรายบุคคลได้ การปรับหรือใช้ AI ในการศึกษาเกิดขึ้นได้ทั้งฝั่งผู้สอนและผู้เรียน แต่ส่วนที่สำคัญที่ต้องทำความเข้าใจร่วมกันคือประเด็นจริยธรรมในการใช้งาน ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและทักษะในการบรรลุศักยภาพอันเป็นประโยชน์สูงสุดของผู้เรียนแต่ละคนเป็นสำคัญ” ผศ. พฤฒิพร กล่าว
อาจารย์ ดร.ภากร อุทโยภาศ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ เผยมุมมองว่า AI เข้ามาช่วยในการสอนเยอะมาก โดยเฉพาะการเตรียมสไลด์หรือเนื้อหา ผมใช้ AI ในการสรุปข้อมูลที่ซับซ้อนและเปลี่ยนให้เข้าใจง่ายขึ้น ทำให้สามารถสอนเนื้อหาที่ยากได้แบบกระชับ ตรงประเด็น โดยมีการใช้ AI ในการสร้างสื่อการสอน เช่น กราฟิกหรือภาพประกอบ เพื่อทำให้บทเรียนมีความน่าสนใจมากขึ้น นอกจากนั้น AI ก็ยังช่วยสรุปเป็นหัวข้อย่อย ๆ ทำให้การนำเสนอข้อมูลราบรื่นขึ้น
“แต่ทั้งนี้ AI ก็เป็นแค่ตัวช่วย ผมยังให้ความสำคัญกับการสร้างบรรยากาศในห้องเรียน การตั้งคำถาม และการทำให้มีการโต้ตอบกับนักศึกษาอยู่ตลอด เพราะผมเชื่อว่าปฏิสัมพันธ์ที่ดีจะช่วยกระตุ้นความคิดและทำให้นักศึกษาได้ฝึกวิเคราะห์จริง ๆ ดังนั้น AI ก็เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ แต่การสอนจริง ๆ ต้องมีการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีและการสอนแบบมีส่วนร่วมเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดครับ!” อาจารย์ ดร.ภากร กล่าวทิ้งท้าย
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การใช้ AI กับการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยนั้น จำเป็นต้องมีกรอบและขอบเขตที่ชัดเจน เพื่อให้เรายังคงเป็นผู้กำหนดทิศทางและแนวทางในการศึกษา เช่น การสร้างเนื้อหาที่เหมาะสมกับผู้เรียนยังต้องคงอยู่ภายใต้เนื้อหาของผู้สอน ซึ่งการมีขอบเขตการใช้งานที่ชัดเจนและมีความรับผิดชอบจะช่วยให้การศึกษาในอนาคตมีความสมดุลระหว่างการใช้เทคโนโลยีและการพัฒนาความคิดของมนุษย์