Loading...

ตัวแทนนักศึกษาหนึ่งเดียวจากธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลพระราชทาน จากกระทรวงศึกษาธิการ

 

นายอติรุจ ดือเระ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลพระราชทาน ระดับอุดมศึกษา ประจำปี 2563

วันพฤหัสบดีที่ 27 มกราคม พ.ศ.2565

     ชวนพูดคุยกับ นายอติรุจ ดือเระ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนเพียงหนึ่งเดียวจากธรรมศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลพระราชทาน ระดับอุดมศึกษา ประจำปี 2563 จากผลการเรียนในระดับสูง ความประพฤติดีเยี่ยม และได้รับรางวัลที่การันตีความสามารถด้านต่าง ๆ อาทิเช่น รางวัลเยาวชนผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นแห่งชาติ ที่มีทักษะด้านการอ่าน การเขียน และการพูด โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม รางวัลชนะเลิศ ประกวดบทความ หัวข้อ “ร้านหนังสือ” ในโครงการวัฒนธรรมร้านหนังสือ โดยมูลนิธิหนังสือร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม และอื่น ๆ อีกมากมาย

     นายอติรุจ ดือเระ เล่าว่า การสมัครเข้ารับการคัดเลือกเพื่อรับรางวัลพระราชทาน ต้องศึกษาและทำความเข้าใจหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เมื่อประเมินตนเองว่ามีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์แล้ว จากนั้นจึงรวบรวมผลงาน ภาพกิจกรรม และเกียรติบัตรต่าง ๆ โดยเน้นคัดสรรเฉพาะกิจกรรมที่ได้ปฏิบัติจริงและมีประโยชน์ต่อสังคม รวมทั้งคัดสรรรางวัลที่โดดเด่นตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัย ระดับภาค ไปจนถึงระดับประเทศ นำมาจัดทำเป็นเอกสารสำหรับส่งประเมิน

     นายอติรุจ กล่าวเสริมว่า หลังจากทราบผลการประเมินในรอบแรก ก็ได้นำคำแนะนำจากคณะกรรมการประเมิน มาปรับปรุงเอกสารการประเมินให้ครบถ้วนและให้มีความโดดเด่นมากขึ้น โดยเน้นเสนอให้เห็นถึงความมุ่งมานะ ความขยันมั่นเพียร การพัฒนาตนเอง ตลอดรวมถึงจิตอาสาอันก่อประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังสอบถามประสบการณ์จากเพื่อนและรุ่นพี่ที่เคยเข้ารับการประเมินรางวัลพระราชทานมาก่อนด้วยว่าควรเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

     เมื่อถึงวันสัมภาษณ์คำถามที่คณะกรรมการถามนั้นค่อนข้างที่จะต้องใช้ไหวพริบและตอบภายในเวลาจำกัด ทั้งยังเป็นคำถามที่เกี่ยวกับกิจกรรม ผลงาน และสาขาที่ผมเรียนโดยตรง ซึ่งการศึกษาและการจัดทำเอกสารผลงานด้วยตนเองจึงช่วยให้ตอบคำถามได้ดียิ่งขึ้น ผมจึงคิดว่านี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ผมผ่านการคัดเลือกได้รับรางวัลพระราชทาน

     นายอติรุจ เผยว่า ข้อดีของการได้เข้ารับการประเมินรางวัลพระราชทานในครั้งนี้ มีอยู่ 2 ข้อด้วยกัน หนึ่งคือการก่อเกิดแรงบันดาลใจส่งทอดแก่เพื่อนนักศึกษา เหมือนที่ผมได้รับจากรุ่นพี่หรือเพื่อนที่มีความมานะในการสั่งสมประสบการณ์จนได้รับการยอมรับและยกย่องให้เป็นนักศึกษาผู้ได้รับรางวัลพระราชทานก่อนหน้า สองคือการสร้างความภาคภูมิใจแก่สถาบันศึกษา สังคมและประเทศชาติ เนื่องจากสะท้อนว่ายังมีเยาวชนที่มุ่งมั่นพัฒนาตนเองและสร้างสรรค์สิ่งอันเป็นประโยชน์อยู่ในสังคมของเรา

     “ผมรู้สึกปีติดีใจเป็นอย่างมากที่ได้รับรางวัลพระราชทาน เนื่องจากรางวัลนี้เหมือนเป็นตราประทับอันทรงคุณค่าจากผลของความเพียรในด้านการเรียน การสร้างสรรค์ และจิตอาสาตลอดชีวิตนักศึกษาของผม แต่นี่ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของความสำเร็จ หากแต่คือจุดตั้งต้นของแรงใจที่จะหนุนนำให้ผมยังคงพัฒนาตนเองและพัฒนาประเทศชาติบ้านเมืองต่อไป โดยผมยึดหลักในการดำเนินชีวิตที่ว่า ‘การดำรงชีวิตที่ดีจะต้องปรับปรุงตัวเองอยู่ตลอดเวลา การปรับปรุงตัวจะต้องมีความเพียรและความอดทนเป็นที่ตั้ง’” นายอติรุจ กล่าวทิ้งท้าย