Loading...

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงปาฐกถา 60 ปี สถาปนาคณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงปาฐกถาในวาระครบรอบ 60 ปี สถาปนาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันจันทร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2566

     สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปาฐกถาในวาระครบรอบ 60 ปี การสถาปนาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีคณะผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ

     ในโอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชวโรกาสให้บุคคลต่าง ๆ เข้าทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึกและทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัยตามลำดับ ดังนี้

     1. ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึก

     2. รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึก

     3. นางดารณี วัธนเวคิน นายกสมาคมศิลปศาสตร์ธรรมศาสตร์ ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึก

     4. นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร นายกสมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย

          จากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานเข็มเชิดชูเกียรติแก่ผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่คณะศิลปศาสตร์ และศิษย์เก่าดีเด่น จำนวน 120 ราย ได้แก่ เอกอัครราชทูตและคณะผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตประเทศต่าง ๆ ประจำประเทศไทย ผู้แทนจากสถาบันการศึกษาและหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีความร่วมมือทางวิชาการและสนับสนุนการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนให้กับคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

     จากนั้นทรงปาฐกถาในวาระครบรอบ 60 ปี การสถาปนาคณะศิลปศาสตร์ ในหัวข้อ “ศิลป์และศาสตร์แห่งการแปลงานต้นฉบับที่มีบริบททางวัฒนธรรม”

     คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มจัดการเรียนการสอนในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2505 จึงถือว่าวันที่ 15 สิงหาคม เป็นวันสถาปนาคณะศิลปศาสตร์ และครบรอบ 60 ปี การสถาปนาคณะศิลปศาสตร์ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565 ปัจจุบันคณะศิลปศาสตร์จัดการเรียนการสอนในสองศูนย์การศึกษาด้วยกัน ได้แก่ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพมหานคร และศูนย์รังสิต จ.ปทุมธานี จัดสอนในหลักสูตรที่ครอบคลุมในสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก มีหลักสูตรระดับปริญญาตรีจำนวน 20 หลักสูตร แบ่งเป็นภาคปกติ จำนวน 15 หลักสูตร และโครงการพิเศษ 5 หลักสูตร ระดับปริญญาโท จำนวน 8 หลักสูตร และระดับปริญญาเอก จำนวน 5 หลักสูตร ในปีการศึกษา 2566 คณะศิลปศาสตร์ กำหนดเปิดหลักสูตรใหม่ระดับปริญญาตรี จำนวน 3 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรเกาหลีศึกษา หลักสูตรการสื่อสารเชิงธุรกิจ และหลักสูตรการแปลและล่ามในยุคดิจิทัล

     ตลอด 60 ปี คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งมั่นในการผลิตบัณฑิตที่มีความรอบรู้ด้านศิลปศาสตร์ โดยให้ความสำคัญกับการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้คู่คุณธรรม และรับผิดชอบต่อสังคม ส่งเสริมการวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อแวดวงวิชาการ และการพัฒนาประเทศ ตลอดจนการให้บริการวิชาการแก่สังคมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนรวมทั้งให้โอกาสแก่ผู้ด้อยโอกาสอีกด้วย นอกจากนี้ คณะศิลปศาสตร์ ยังส่งเสริมให้บัณฑิตเคารพในความคิดที่แตกต่างหลากหลาย และสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่หลอมรวมจากความแตกต่างหลากหลาย ดังค่านิยมของคณะฯ In diversity, we respect and collaborate.

     โดยเห็นความสำคัญของการพัฒนากิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการสังคมจึงสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ให้แก่บุคลากรและนักศึกษา เช่น การส่งนักศึกษาไปแลกเปลี่ยนและฝึกงานในต่างประเทศเพื่อเสริมความรู้และสร้างประสบการณ์ การมอบทุนการศึกษา การให้ทุนวิจัย

     ปัจจุบัน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความร่วมมือทั้งกับภาครัฐและเอกชน โดยทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ สถานทูต หน่วยงาน และสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ และมหาวิทยาลัยคู่สัญญา รวมจำนวนทั้งสิ้น 102 แห่ง และยังได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากสมาคมศิลปศาสตร์ธรรมศาสตร์ ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง