Loading...

นักวิจัยธรรมศาสตร์ คิดค้นนวัตกรรมสุดล้ำ คว้า 9 รางวัลระดับโลก

ทีมนักวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คว้ารางวัลจากเวที Inventions Geneva Evaluation Days – Virtual Event ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ.2565

     ทีมนักวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สร้างผลงานโดดเด่นบนเวทีการประกวด “Inventions Geneva Evaluation Days – Virtual Event” คว้ารางวัลระดับโลกมากถึง 9 รางวัล ประกอบด้วยเหรียญทอง (Gold Medal) จำนวน 1 รางวัล เหรียญเงิน (Silver Medal) จำนวน 8 รางวัล ซึ่งจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ ช่วงเดือนมีนาคม 2565 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

     โดยการประกวด “Inventions Geneva Evaluation Days – Virtual Event” ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสวิสฯ อาทิ The Swiss Federal Government of the State และ The City of Geneva และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก หรือ The World Intellectual Property Organization (WIPO)

     รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ทีมนักวิจัยธรรมศาสตร์เป็นหนึ่งในตัวแทนประเทศไทยที่ได้ร่วมส่งประกวดผลงานวิจัยในเวทีระดับสากลในครั้งนี้ จากผลงานวิจัยของนานาประเทศที่ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดและแสดงนิทรรศการกว่า 500 ผลงาน จาก 20 ประเทศทั่วโลก เป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่นักวิจัย/นักประดิษฐ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้คว้ารางวัลกลับมา เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและตัวอย่างให้นักวิจัยธรรมศาสตร์รุ่นใหม่ได้ดำเนินตามรอยต่อไปในอนาคต

     ศ.ดร.ทพญ.ศิริวรรณ สืบนุการณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งเป้าหมายในการดำเนินการตามแผนพัฒนาความเป็นเลิศทางด้านการวิจัย เพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยระดับแนวหน้าของโลก ที่ผ่านมานักวิจัยธรรมศาสตร์ สามารถผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่สร้างสรรค์สังคมมาโดยตลอด โดยได้รับรางวัลการันตีจากหลากหลายเวทีทั้งในระดับชาติและในระดับสากลอย่างต่อเนื่อง

     การที่ทีมนักวิจัยได้รับรางวัลจากงาน “Inventions Geneva Evaluation Days” สะท้อนให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีพร้อมทั้งทรัพยากรและบุคลากรที่มีศักยภาพ สามารถคิดค้นนวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคมและพัฒนาประเทศได้อย่างแท้จริง

     รางวัลที่ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับจากการประกวด“Inventions Geneva Evaluation Days – Virtual Event” จำนวน 9 รางวัล ประกอบด้วย

รางวัลเหรียญทอง จำนวน 1 รางวัล

   1. ผลงานวิจัยเรื่อง นมข้นหวานจากข้าวและธัญพืช สูตรมังสวิรัติ

โดย ผศ.ดร.กฤติยา เขื่อนเพชร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รางวัลเหรียญเงิน จำนวน 8 รางวัล

   1. ผลงานวิจัยเรื่อง ชุดตรวจวิเคราะห์ดีเอ็นเอคู่ไม่สมอย่างรวดเร็ว

โดย ผศ.ดร.ปาริยา ณ นคร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

   2. ผลงานวิจัยเรื่อง เซรั่มลดริ้วรอยเฟลมแอนด์เฟริ์ม

โดย ผศ.ดร.ปาริยา ณ นคร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

   3. ผลงานวิจัยเรื่อง Real-time Water-saving Irrigation System for High Quality Organic Product in Arid Region to Supply High Value Organic Market

โดย รศ.ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

   4. ผลงานวิจัยเรื่อง เซนเซอร์ฉลาดสำหรับความปลอดภัยในอาหาร

โดย รศ.ดร.นภาพร ยังวิเศษ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

   5. ผลงานวิจัยเรื่อง ไอโซโอเรียนติน สกัดจากใบไผ่เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและใช้งานด้านเวชสำอาง

โดย รศ.ดร.สุภกร บุญยืน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

   6. ผลงานวิจัยเรื่อง อาหารเสริม ไพรม์ วี หนึ่งห้าหนึ่งศูนย์

โดย รศ.ดร.สุภกร บุญยืน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

   7. ผลงานวิจัยเรื่อง ตัวเร่งปฏิกิริยาไบโอดีเซลชนิดแม่เหล็ก

โดย รศ.ดร.สุภกร บุญยืน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

   8. ผลงานวิจัยเรื่อง ลิปซ์ เอสเทอร่า โปร เอ็มโฟร์เอ็กซ์

โดย ดร.วรรณฑณี สิทธิวงษ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์