Loading...

เปิดบ้านธรรมศาสตร์ 2563 คึกคัก พร้อมฟังเสวนา ‘การเมืองคนรุ่นใหม่’ ชี้พลังนักศึกษาสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรม Thammasat Sustainability Festival and Open House 2020 พร้อมเวทีเสวนาน่ารู้ และกิจกรรมไฮไลท์เปิดบ้าน 13 คณะ

  

     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดมหกรรมความยั่งยืน : THAMMASAT SUSTAINABILITY FESTIVAL AND OPEN HOUSE 2020 เมื่อวันที่ 26 – 28 พฤศจิกายน 2563 ณ อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยมี รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเปิดงานในครั้งนี้

     นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเปิดบ้านตามคณะต่าง ๆ ที่เป็นไฮไลท์อีกจำนวน 13 คณะ ได้แก่ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะนิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา วิทยาลัยโลกคดีศึกษา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร คณะแพทยศาสตร์ และวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ เพื่อให้กับน้อง ๆ นักเรียนเข้าเยี่ยมชมและทำกิจกรรมร่วมกับรุ่นพี่ของคณะ

     รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัด Open House ทุกปีเพื่อให้นักเรียนที่สนใจอยากเรียน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มาเยี่ยมชมมหาวิทยาลัย ได้รับทราบหลักสูตร และเยี่ยมชมคณะที่อยากเรียน โดยปีนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดให้เป็นงาน Sustainability Festival หรือ เทศกาลความยั่งยืน ไปพร้อมกัน เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ในเรื่องความยั่งยืน และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals ที่เรียกย่อ ๆ ว่า SDG ซึ่งเป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดำเนินการอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า การเลิกใช้ขยะพลาสติกครั้งเดียวทิ้ง และล่าสุดคือการสร้างอาคารเรียนรู้ป๋วย 100 ปีแห่งนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์กลางในการดำเนินการในการพัฒนาอย่างยั่งยืนและบริการประชาชนในเรื่องนี้ โดยมีสิ่งที่โดดเด่นที่สุดคือ หลังคาที่เป็นสวนผักออร์แกนนิกบนหลังคาอาคารที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย และมี SDG Lab หรือห้องปฏิบัติการ ทำโครงการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนและการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นที่แรกของทวีปเอเชีย และจึงเป็นเหตุผลที่ Open House ในปีนี้จึงมาจัดที่นี่

     โดยกิจกรรมในครั้งนี้ มีการจัดเสวนาในหัวข้อที่น่าสนใจมากมายและเป็นประโยนช์สำหรับน้อง ๆ ที่เข้าร่วม เช่น ใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยอย่างไรให้คุ้มค่า, TCAS 64 Tips and Tricks, ทำไมต้องเรียนหลักสูตรนานาชาติ และการเมืองของคนรุ่นใหม่ : เปลี่ยนประเทศได้ด้วยตัวเรา เป็นต้น

     ซึ่งเวทีการเสวนาในหัวข้อ “การเมืองของคนรุ่นใหม่ : เปลี่ยนประเทศได้ด้วยตัวเรา” ได้รับเกียรติจาก คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า และอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์, คุณพัชรพร จันทรประดิษฐ์ Miss Grand Thailand 2020, คุณธนวัฒน์ จันผนึก หรือ “ลูกมาร์ค” นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และดำเนินรายการโดย อาจารย์เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ โดยมีผู้เข้าร่วมฟังกว่า 500 คน

      คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ “ไอติม” แกนนำกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า และอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียได้เปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองของประเทศไทยและทั่วโลกใน 2 มิติสำคัญ ได้แก่ 1. การเกิดขึ้นของแพลทฟอร์มต่าง ๆ ได้ทำให้คนหลายรุ่นเข้าถึงข้อมูลที่แตกต่างกันออกไปมากขึ้น คนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงข้อมูลทั้งภายในและภายนอกประเทศที่หลากหลายมากไปกว่าข้อมูลที่ถูกคัดกรองจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว นั่นทำให้คนรุ่นใหม่มีความคิดเป็นของตัวเอง และทำให้เขาสามารถเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับคุณค่าที่เขายึดถือได้ เช่น ประชาธิปไตย เสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ฯลฯ เขาจึงมองว่าตัวเองเป็นคนของประเทศใดประเทศหนึ่งน้อยลง แต่มองว่าตัวเองเป็นคนของโลกมากขึ้น

    2. การเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดียทำให้ประชาชนและคนรุ่นใหม่มีอำนาจมากขึ้น ตั้งแต่อำนาจในการแสดงความคิดเห็น เห็นได้จากทวิตเตอร์ที่กลายมาเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่สามารถพูดคุยในเรื่องที่ตัวเองสงสัยหรือมีคำถามได้ ซึ่งความคิดเห็นเหล่านั้นยังมีอำนาจที่จะกดดันผู้มีอำนาจในสังคมได้ เช่น ปรากฏการณ์แฮชแท็กเราไม่เอาเรือดำน้ำ จนทำให้สุดท้ายรัฐบาลชะลอโครงการออกไป

     นอกจากนี้ ยังทำให้ประชาชนมีอำนาจเรื่องการตรวจสอบผู้มีอำนาจได้มากขึ้น จากในอดีตที่เราต้องรอให้ผู้เชี่ยวชาญคนใดคนหนึ่งศึกษาหาข้อมูลในเรื่องต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบความไม่ชอบมาพากล แต่ปัจจุบันโซเชียลมีเดียช่วยให้ทุกคนที่มีความรู้แตกต่างและหลากหลายเข้ามาช่วยกันตรวจสอบได้อย่างรวดเร็ว

     “แต่ในประเทศไทยเหมือนเรากำลังชักคะเย่อกันอยู่ คือในขณะที่มีแพลทฟอร์มใหม่ ๆ ที่เพิ่มอำนาจให้ประชาชนและคนรุ่นใหม่ แต่เรากลับมีรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ล้าหลังและถดถอย ดึงให้เรากลับไปข้างหลัง ผมคิดว่าในการชักคะเย่อนี้ ถ้าผู้มีอำนาจไม่ยอมผ่อนปรนหรือประนีประนอม สักวันเชือกจะขาดและกลายเป็นความสูญเสีย” คุณพริษฐ์ กล่าว

     คุณพริษฐ์ กล่าวอีกว่า อยากให้สังคมรับฟังและทำความเข้าใจต่อข้อเรียกร้องกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้มากขึ้น เพราะสิ่งที่เขาเรียกร้องไม่ได้มุ่งจะเอาชนะใคร เพียงแต่ต้องการระบบที่เป็นกลางแบบหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่านั้น ส่วนตัวคิดว่าพลังคนรุ่นใหม่นอกจากเปลี่ยนแปลงประเทศแล้ว สิ่งหนึ่งที่ทำได้คือการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนของเรา เพราะความเหลื่อมล้ำ ปัญหาทุจริตก็มีต้นตอมาจากโรงเรียน ฉะนั้นถ้าเปลี่ยนแปลงโรงเรียนได้สำเร็จก็จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้สำเร็จ

     คุณพัชรพร จันทรประดิษฐ์ Miss Grand Thailand 2020 กล่าวว่า ประเทศไทยทุกวันนี้เต็มไปด้วยปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมซึ่งทำให้คุณภาพชีวิตของคนในประเทศไปได้ไม่ไกล โดยความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นนั้นล้วนแต่มีพื้นฐานมาจากปัญหาคอรัปชัน ส่วนตัวคิดว่าประชาชนเลือกตั้งเพื่อให้ได้รัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์เข้ามาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ แต่ปัจจุบันกลับพบว่าช่องว่างทางสังคมถ่างออกมากขึ้น เกิดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ มากไปกว่านั้นคือนโยบายต่าง ๆ ที่ถูกส่งออกมากลับทำให้คนกลุ่มเดียวได้ประโยชน์ เช่น โครงการคนละครึ่ง    ที่คนยากคนจนหรือคนที่ไม่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีจะเข้าไม่สามารถเข้าถึงได้เลย

     นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องเสรีภาพในการพูด หรือ free of speech ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่คนพึงมีตั้งแต่เกิด แต่ทุกวันนี้กลับต้องพูดกันภายใต้บรรยากาศแห่งความกลัว บางคนต้องหายตัวไปอย่างลึกลับ หรือต้องเนรเทศตัวเองออกนอกประเทศเพียงเพราะการแสดงความคิดเห็น หนำซ้ำในหลายครั้ง Free of speech จะถูกคนกลุ่มหนึ่งตีความว่าเป็น Hate speech ซึ่งที่จริงแล้วในประเทศประชาธิปไตยต้องสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ทุกเรื่องโดยที่ปราศจากความกลัว

     “ส่วนตัวคิดว่าประชาธิปไตยในประเทศไทยเป็นเพียงการอุปโลกน์ขึ้นมาเท่านั้น แต่ถึงเราจะสิ้นหวังหรือความหวังเหลือน้อยเพียงใดเราก็จะต้องสู้ เหลือเพียง 0.1% ก็จะสู้ ทุกคนต้องพูดได้โดยที่ไม่มีความกลัว    ที่สำคัญคือเมื่อทุกคนมีสิทธิก็ควรจะใช้สิทธิตัวเองอย่างเต็มที่ อย่าไปกลัวสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะอนาคตยังไม่เกิด และถ้าในวันนี้ยังไม่ดี อนาคตจะดีได้อย่างไร” คุณพัชรพร กล่าว

     ด้าน คุณธนวัฒน์ จันผนึก หรือ “ลูกมาร์ค” นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะพิธีกรกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม กล่าวว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของตัวเอง ขณะนั้นต้องการเลือกรัฐบาลหรือฝ่ายบริหารที่สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศไทยจริง ๆ จึงเริ่มรณรงค์ให้คนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่ความโกรธก็เริ่มเกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มคนใดกลุ่มหนึ่ง

     อย่างไรก็ตาม ขณะนั้นยังหวังว่าแม้ตัวแทนที่ตัวเองเลือกจะไม่ได้เป็นรัฐบาลก็ยังสามารถเป็นฝ่ายค้านเพื่อถ่วงดุลการบริหารได้ แต่ปรากฏว่าเกิดการขัดแข้งขัดขา มีการยุบพรรค หรือการกระทำในลักษณะ 2 มาตรฐาน นั่นทำให้ความโกรธเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเมื่อเห็นแล้วว่าตัวแทนของตัวเองไม่สามารถเข้าไปทำหน้าที่ในสภาได้ ก็จึงออกมาต่อสู้เองด้วยการลงสู่ท้องถนน

     “ถามว่ากลัวไหม หากดูจากสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยก็ต้องตอบว่ากลัว แต่เราก็ยังเป็นว่ามีคนร่วมสู้กับเราจำนวนมาก ถ้าเรากลัวการเปลี่ยนแปลงก็ไม่เกิดขึ้น” คุณธนวัฒน์ กล่าว

ดูภาพกิจกรรมภายในงานได้ที่ https://www.facebook.com/thammasat.uni/