Loading...

SDG Lab วิทยาลัยโลกคดีศึกษา เดินหน้า “โครงการประกวดนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน”

SDG Lab แห่งวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ องค์กรระดับนานาชาติ เปิดตัวโครงการประกวดนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน ชวนคนรุ่นใหม่ออกไอเดียแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

วันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน พ.ศ.2564

     ศูนย์ปฏิบัติการ SDG Lab แห่งวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมเปิดตัว “โครงการประกวดนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Innovation Challenge) กับ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์และดำเนินธุรกิจรีไซเคิลชั้นนำระดับโลก และพันธมิตร ได้แก่ ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืนของซีมีโอ (SEAMEO Regional Centre for Sufficiency Economy Philosophy for Sustainability) สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2564 เพื่อชักชวนเยาวชนและคนรุ่นใหม่ อายุระหว่าง 16-30 ปี เสนอไอเดียนวัตกรรมที่สามารถต่อยอดได้จริง เพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน พัฒนาการจัดการขยะพลาสติก และแก้ปัญหาสุขอนามัย ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 2 แสนบาท พร้อมเข้าร่วมเวิร์คช็อป เรียนรู้ และพัฒนาผลงาน โดยได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญขององค์กรชั้นนำระดับนานาชาติ

     ผศ.ดร.ประภาภรณ์ ติวยานนท์ มงคลวนิช คณบดีวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการประกวดนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน ภายใต้ศูนย์ปฏิบัติการ SDG Lab วิทยาลัยโลกคดีศึกษา กล่าวว่า โครงการประกวดนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงประเด็นรอบด้านของเศรษฐกิจหมุนเวียน พร้อมทั้งช่วยพัฒนาทักษะให้กับนักนวัตกรรมรุ่นใหม่ในการพัฒนาโซลูชันที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยจัดการแข่งขันในรูปแบบ Hackathon ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์นวัตกรรมแบบเร่งด่วน ผ่านการระดมความคิดของผู้ที่มีแรงบันดาลใจในการแก้ปัญหาขยะเน่าเสีย ขยะล้นเมือง และระบบการจัดการขยะแบบผิดวิธี

     ผู้เข้าร่วมแข่งขัน 1 ทีม ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 3-5 คน ร่วมกันออกแบบและพัฒนาโปรเจกต์เพื่อสร้างสังคมไร้ขยะอย่างยั่งยืนและครบวงจร ภายในระยะเวลา 1 เดือน ผู้เข้าร่วมแข่งขันทุกคนจะมีโอกาสได้เข้าร่วมเวิร์คช็อปเข้มข้นที่นำโดย Youth Co: Lab เพื่อเรียนรู้และเพิ่มพูนทักษะที่สำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคม รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรพันธมิตรระดับนานาชาติ โดยผลงานจากผู้ส่งเข้าประกวดรอบแรกจะถูกคัดเลือกให้เหลือเพียง 10 ผลงานที่จะได้พัฒนาต่อยอด และนำเสนอคณะกรรมการตัดสินในรอบสุดท้าย ทีมที่ชนะการประกวดจะได้รับเงินรางวัลรวมถึง 200,000 บาท พร้อมโอกาสในการพัฒนาโครงการให้สำเร็จเป็นรูปธรรม และใช้งานได้จริงในเชิงพาณิชย์

     นายยาช โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความยั่งยืน อินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าวว่า เรารู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนสนับสนุน ‘โครงการประกวดนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน’ เพื่อมอบเครื่องมือและเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ร่วมสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับอนาคต พร้อมเรียนรู้โดยตรงจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ โดยหวังว่าโครงการนี้จะช่วยสร้างความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้นต่อเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทย และส่งเสริมประโยชน์ของการใช้งานผลิตภัณฑ์รีไซเคิล เพราะนวัตกรรมที่ดีทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นอย่างครบวงจร เช่นเดียวกับการรีไซเคิลขวด PET ของเรา ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์ยังอยู่ในระบบเศรษฐกิจ และไม่รั่วไหลไปยังสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น เราเป็นบริษัทไทยรายแรกที่ประสบความสำเร็จในการรีไซเคิลขวด PET เป็นเส้นใยคุณภาพสูงสำหรับผลิตชุด PPE ที่ใช้ทางการแพทย์ ซึ่งสามารถซักและใช้งานซ้ำได้ ทดแทนชุดประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง

     การรีไซเคิลคือหัวใจหลักของเศรษฐกิจหมุนเวียน และเป็นแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในการลดปัญหาขยะ บริษัทฯ จึงร่วมมือกับหลากหลายองค์กรทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนปฏิญญาระดับโลกที่ต้องการเพิ่มการใช้งานผลิตภัณฑ์รีไซเคิล พร้อมตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังการรีไซเคิลขวด PET ให้ได้ 5 หมื่นล้านขวดต่อปี ภายในปี 2568

     นายเรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ปัญหาขยะส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของมนุษย์อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเล ความหลากหลายทางชีวภาพบนบกและสุขภาพของประชาชน ในช่วงการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 ชี้ให้เห็นถึงช่องโหว่ของระบบการจัดการขยะ โครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงในการจัดการปริมาณขยะมูลฝอย อย่างไรก็ตาม วิกฤตนี้เป็นการเปิดโอกาสให้เราริเริ่มสร้างแบบจำลองนวัตกรรมใหม่ที่ยั่งยืนมากขึ้น กำหนดพื้นที่สีเขียวและสร้างความยืดหยุ่นในการดำรงชีวิต รวมถึงพัฒนานวัตกรรมที่ทันสมัย โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติเชื่อว่า นวัตกรรมมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะ โดยไทยเป็นประเทศที่เราให้การสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการสังคมรุ่นใหม่และชุมชนต่าง ๆ ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวทางการปฏิบัติในการจัดการขยะผ่านหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไม่เพียงแต่เป็นแนวทางสู่การจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืนมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในข้ออื่น ๆ อีกด้วย หนึ่งในนั้นคือ เป้าหมายข้อที่ 12 : สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

     ผู้ที่สนใจโครงการประกวดนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและติดตามความเคลื่อนไหว ได้ที่ Facebook page: https://www.facebook.com/tucircularinnovation/  หรือ Website: https://sgs.tu.ac.th/tucircularinnovation