‘โรคแอนแทรกซ์’ จากสัตว์สู่คน อันตรายและความเสี่ยงที่ต้องระวัง
อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เตือนอันตรายจาก ‘โรคแอนแทรกซ์’ แนะวิธีป้องกันตนเองจากความเสี่ยง
วันศุกร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2568
เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค ออกมาเตือนประชาชนให้เลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ไม่ปรุงสุก ไม่ชำแหละหรือสัมผัสสัตว์ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ หลังพบผู้เสียชีวิตจากโรคแอนแทรกซ์ 1 ราย ที่จังหวัดมุกดาหาร ทำให้มีการเฝ้าระวังการระบาดของโรคอย่างใกล้ชิด
โรคแอนแทรกซ์ คืออะไร? อันตรายขนาดไหน? พูดคุยกับ ผศ.อดิศักดิ์ ภูมิรัตน์ หน่วยวิจัยสุขภาพหนึ่งเดียวและสุขภาพนิเวศแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จะมาแนะนำถึงวิธีป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อและแพร่ระบาดของโรคแอนแทรกซ์
โรคแอนแทรกซ์ เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คนที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Bacillus anthracis และพบได้ยากในประเทศไทย องค์การสุขภาพสัตว์โลกจัดโรคแอนแทรกซ์ให้อยู่ในกลุ่มโรคสำคัญกลุ่ม B เนื่องจาก โรคแอนแทรกซ์เป็นโรคติดต่อสำคัญที่มีอัตราการตายสูงโดยเฉพาะสัตว์กินพืช เช่น วัว ควาย แพะ และแกะ โรคแอนแทรกซ์สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ มีผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ การค้าขายสัตว์และผลิตภัณฑ์สัตว์ระหว่างประเทศ โรคแอนแทรกซ์ยังก่อให้เกิดความเสี่ยงทางสาธารณสุข เนื่องจากโรคแอนแทรกซ์สามารถแพร่ระบาดในคน ทั้งในประเทศที่มีการระบาดและแพร่ระบาดข้ามพรมแดนระหว่างประเทศโดยติดต่อผ่านทางสัตว์ ผลิตภัณฑ์สัตว์ พาหนะ หรือพาหะนำโรค
โดยธรรมชาติแล้ว สัตว์กินพืช ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่าหรือสัตว์เคี้ยวเอื้อง ได้แก่ วัว ควาย แพะและแกะ สามารถติดเชื้อโรคแอนแทรกซ์โดยการเล็มกินหญ้าที่ปนเปื้อนด้วยสปอร์หรือการหายใจเอาสปอร์ ซึ่งสปอร์ของเชื้อแอนแทรกซ์ ปนเปื้อนอยู่ในดิน พืช หรือน้ำ การติดต่อระหว่างคนสู่คนหรือการติดต่อระหว่างสัตว์สู่สัตว์นั้นมีโอกาสพบได้ยากมาก แมลงวันคอกสัตว์ (stable flies) สามารถแพร่สปอร์ของเชื้อแอนแทรกซ์บนผิวหนังของสัตว์ในขณะที่กินเลือดสัตว์ แมลงวันบ้าน (house files) ก็สามารถแพร่สปอร์เข้าสู่ผิวหนังของสัตว์บริเวณบาดแผลหรือรอยถลอกหรือรอยขีดข่วนที่ผิวหนังของสัตว์
ประชาชนเสี่ยงต่อโรคแอนแทรกซ์ได้อย่างไร
คนรวมถึงสัตว์กินเนื้อสามารถติดเชื้อแอนแทรกซ์ได้หลายช่องทาง คือ
1) การกินเนื้อดิบหรือเนื้อที่ปรุงไม่สุกจากสัตว์ติดเชื้อหรือสัตว์ป่วยหรือสัตว์ตาย คนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ประชาชนทั่วไปที่กินเนื้อ เลือดหรือเครื่องในสัตว์ดิบ หรือกินเนื้อ เลือดหรือเครื่องในสัตว์ที่ปรุงไม่สุก เช่น กรณีการระบาดของโรคแอนแทรกซ์ในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน พ.ศ. 2467 ในจังหวัดจำปาสักและจังหวัดสาละวัน ประเทศลาว และกรณีการระบาดของโรคแอนแทรกซ์ล่าสุดในเดือนเมษายน พ.ศ. 2568 ในจังหวัดมุกดาหาร ประเทศไทย ผู้สัมผัสเชื้อหรือผู้ติเชื้อแอนแทรกซ์หรือผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อแอนแทรกซ์นั้นล้วนเกี่ยวข้องกับการล้มวัว การกินเนื้อวัวดิบที่ทำเมนูอาหารต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นลาบ ก้อย ซอยจุ๊
2) การสัมผัสปอร์ทางผิวหนังโดยการชำแหละซากสัตว์ติดเชื้อหรือสัตว์ป่วยหรือสัตว์ตาย หรือการสัมผัสขนสัตว์ หนังสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ของเหลวจากร่างกาย เนื้อสัตว์ เลือดหรือเครื่องในจากสัตว์ติดเชื้อหรือสัตว์ป่วย คนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ คนเลี้ยงปศุสัตว์ พ่อค้าซื้อขายปศุสัตว์ คนชำแหละเนื้อปศุสัตว์ พ่อค้าขายเนื้อสัตว์ในตลาดสดหรือตลาดนัดหรือรถเร่ สัตว์บาล และสัตว์แพทย์ และ
3) การหายใจเอาสปอร์เข้าสู่ปอด คนกลุ่มเสี่ยง คือ คนเลี้ยงปศุสัตว์ ที่หายใจเอาสปอร์จากขนของสัตว์ติดเชื้อหรือสัตว์ป่วยหรือสัตว์ตาย หรือฝุ่นดินที่ปนเปื้อนสปอร์ของเชื้อแอนแทรกซ์ แม้ว่าโรคแอนแทรกซ์มีโอกาสน้อยที่จะระบาดในประชากร แต่ก็อันตรายถึงชีวิต หากผู้สัมผัสหรือผู้ติดเชื้อแอนแทรกซ์ได้รับการวินิจฉัยโรคและการรักษาโรคล่าช้า หรือไม่ได้รับการวินิจฉัยโรคและการรักษาโรค
การป้องกันการระบาดของโรคแอนแทรกซ์
แม้ว่าโรคแอนแทรกซ์เป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน แต่หลายประเทศก็ดำเนินมาตรการป้องกันการระบาดของโรคแอนแทรกซ์ที่แตกต่างกันตามความจำเป็นทั้งในประชากรกลุ่มเสี่ยงและพื้นที่เสี่ยง อาทิ ในช่วงก่อนการระบาดหรือช่วงเกิดการระบาด หลายประเทศก็ไม่แนะนำให้ประชาชนทั่วไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคแอนแรกซ์ ยกเว้นประชาชนกลุ่มเสี่ยงสูงอายุ 18-65 ปี เท่านั้นที่ได้รับการยืนยันว่าสัมผัสหรือติดเชื้อแอนแทรกซ์ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อแอนแทรกซ์ให้เร็วที่สุดหลังสัมผัสหรือติดเชื้อแอนแทรกซ์ในกรณีฉุกเฉิน ร่วมกับการรักษาโรคด้วยยาปฏิชีวนะ
ส่วนในพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรคแอนแทรกซ์ในสัตว์ มักพบการระบาดของโรคแอนแทรกซ์มาก่อน คนเลี้ยงหรือฟาร์มปสุสัตว์สามารถฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อแอนแทรกซ์ในสัตว์ก่อนการระบาด ส่วนในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคแอนแทรกซ์ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคแอนแทรกซ์จะดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่ปศุสัตว์ครอบคลุม 100% ควบคู่กับการเฝ้าระวังสัตว์ป่วยหรือสัตว์ตายในรัศมี 1-5 กิโลเมตร หรือการทำลายสัตว์ติดเชื้อหรือสัตว์ป่วยตายโดยการเผาหรือการฝังกลบ