เส้นทางสู่มหาวิทยาลัยสีเขียว: การจัดการก๊าซเรือนกระจกที่ ‘ธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง’
บทความโดย รศ. ดร.พรรณทิสชา ธนตระกลศรี คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง กับข้อเสนอทางนโยบายในการจัดการก๊าซเรือนกระจก
วันศุกร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2568
“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ไม่เพียงเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น หากแต่ยังส่งผลกระทบลึกซึ้งต่อเศรษฐกิจ สุขภาพ และคุณภาพชีวิตของมนุษย์ทั่วโลก จนกลายเป็นวิกฤตที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ในบริบทนี้ มหาวิทยาลัยในฐานะศูนย์กลางความรู้และแหล่งบ่มเพาะทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ จึงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมสู่ความยั่งยืน โดยเฉพาะในด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นตัวการหลักที่เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง
มหาวิทยาลัยจึงมิอาจเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ แต่ต้องลุกขึ้นมาเป็น “ผู้นำทางความคิดและการลงมือปฏิบัติ” เพื่อแสดงบทบาทเชิงรุกในการลดผลกระทบจากวิกฤตโลกร้อน ขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ได้แสดงเจตจำนงชัดเจน โดยตั้งเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2573 และการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608 ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัยจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ ที่จะนำไปสู่การวางแผนและจัดการอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต
บทความฉบับนี้นำเสนอกรณีศึกษาที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกในระดับสถาบัน โดยอ้างอิงจากผลงานวิจัยของผู้เขียนเอง ซึ่งดำเนินการประเมินก๊าซเรือนกระจกในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ภายใต้กรอบการประเมินตามมาตรฐาน GHG Protocol โดยแบ่งแหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจกออกเป็น 3 ขอบเขตหลัก ได้แก่
Scope 1: การปล่อยโดยตรงจากการใช้เชื้อเพลิงดีเซลและเบนซินในยานพาหนะของมหาวิทยาลัย รวมถึงการใช้สารทำความเย็น (R-22) และถังดับเพลิง CO2
Scope 2: การปล่อยทางอ้อมจากการใช้พลังงานไฟฟ้า
Scope 3: การปล่อยทางอ้อมอื่น ๆ จากกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย เช่น ปริมาณการใช้น้ำ ขยะมูลฝอย การใช้กระดาษ A4 ในทุกหน่วยงาน ก๊าซหุงต้มจากโรงอาหาร การใช้กระดาษชำระในห้องน้ำ และสารเคมีใช้แล้วจากห้องปฏิบัติการ
ข้อมูลทั้งหมดรวบรวมในช่วงปี พ.ศ. 2562–2565 จากแหล่งข้อมูลภายในมหาวิทยาลัย และคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยอิงตามสัมประสิทธิ์การปล่อย (Emission Factors) ที่ได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC)
ผลการศึกษา พบว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลในช่วงปี พ.ศ. 2562–2565 พบว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ยรายปี มีแนวโน้มผันผวนตามบริบทการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย
โดยมีค่าเท่ากับ 1051.70, 778.28, 558.64 และ 1034.53 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ตามลำดับ นอกจากนี้ ข้อมูลสะท้อนว่า การใช้พลังงานไฟฟ้า (Scope 2) เป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกหลัก โดยคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงประมาณ 78% ของการปล่อยทั้งหมด ขณะที่ Scope 1 และ Scope 3 รวมกันคิดเป็นประมาณ 22% ทั้งนี้ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงปี 2563–2564 ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้มีการเรียนการสอนออนไลน์ และนโยบาย Work From Home
เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับอนาคตและเป้าหมายด้านความยั่งยืน งานวิจัยนี้ได้พัฒนา 3 แนวทางการลดก๊าซเรือนกระจก ได้แก่:
▪️ Business-as-Usual (BAU) - ยังคงดำเนินกิจกรรมตามแนวทางเดิมโดยไม่มีการปรับเปลี่ยน ส่งผลให้การปล่อย ก๊าซเรือนกระจก มีแนวโน้มทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของกิจกรรม
▪️ พลังงานทดแทน - การติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ทั้งแบบ Solar Rooftop และ Floating Solar โดยเฉพาะระบบขนาด 403 kWp ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 552 MWh ต่อปี ช่วยลดการพึ่งพาพลังงานจากแหล่งฟอสซิลจากการซื้อพลังงานไฟฟ้า ส่งผลให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 50.83% ภายในปี พ.ศ. 2573
▪️ แบบผสมผสาน (Combined Scenario) - ผสานการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เข้ากับ การลดขยะต้นทางลง 30% ภายในปีเดียวกัน ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจยิ่งกว่า โดยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้ถึง 57.78% เมื่อเทียบกับปีฐาน
สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อให้การจัดการก๊าซเรือนกระจกมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง ควรดำเนินการในประเด็นหลัก ดังนี้
▪️ กำหนดเป้าหมายด้านพลังงานทดแทนอย่างชัดเจน พร้อมแผนการดำเนินงานระยะยาว
▪️ ส่งเสริมพฤติกรรมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านแนวคิด “สำนักงานสีเขียว” (Green Office) และระบบตรวจสอบการใช้พลังงาน
▪️ พัฒนาหลักสูตรและกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักรู้และเสริมสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม ให้แก่บุคลากรและนักศึกษาอย่างเป็นระบบ
งานวิจัยที่ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างมานี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง สู่การเป็น “ผู้นำทางความคิดและการลงมือปฏิบัติ” ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและการลดก๊าซเรือนกระจก ไม่เพียงเป็นต้นแบบด้านวิชาการเท่านั้น หากยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการถ่ายทอดองค์ความรู้ วิธีการ และผลการศึกษาให้แก่ผู้เรียน ซึ่งจะเติบโตไปเป็นบัณฑิตที่มีความเข้าใจในปัญหาโลกร้อน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพร้อมเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมสู่ความยั่งยืนในอนาคต
เอกสารอ้างอิง
▪️ Thailand Greenhouse Gas Management Organization (TGO). (2022). Emission Factor Database. https://thaicarbonlabel.tgo.or.th/
▪️ Thanatrakolsri, P. & Sirithian, D. (2024). Evaluation of Greenhouse Gas Emissions and Mitigation Measures at Thammasat University's Lampang Campus in Thailand. Environmental health insights, 18, 11786302241253589. https://doi.org/10.1177/11786302241253589
▪️ UNFCCC. (2022). Thailand’s 2nd Updated Nationally Determined Contribution. https://unfccc.int/documents/620602
▪️ World Resources Institute (WRI), & World Business Council for Sustainable Development (WBCSD). (2004). The Greenhouse Gas Protocol: A Corporate Accounting and Reporting Standard.