‘ศิลปกรรมฯ มธ.’ ร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลักดัน ‘อาชีพนักแสดงหมอลำ’ สู่มาตรฐานสากล
คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ประชุมการจัดทำคุณวุฒิวิชาชีพนักแสดงหมอลำ
วันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2568
สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (สคช.) จัดประชุมเพื่อเชิญชวนเข้าร่วมการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพฯ อาชีพนักแสดงหมอลำ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2568 ณ โรงละครกันทราเธียเตอร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (เขตพื้นที่ขามเรียง) ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม และในรูปแบบการประชุมออนไลน์ Zoom Meeting
โดยโครงการฯ มุ่งหวังส่งเสริมกลุ่มอาชีพให้มีมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ เหมาะสมกับประเทศไทย เป็นที่ยอมรับทั้งภายในและระดับสากล ทั้งนี้ คุณโอมิกา บุญกัน ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ ในฐานะตัวแทนของ สคช. ได้บรรยายเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของ สคช. และระบบคุณวุฒิวิชาชีพแก่ผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อสร้างความเข้าใจทิศทางและกระบวนการการจัดทำระบบคุณวุฒิวิชาชีพ
นอกจากนี้ คณะที่ปรึกษา ได้นำเสนอผลการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาชีพเป้าหมาย เพื่อประกอบการพิจารณาการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ อาชีพนักแสดงหมอลำ โดยนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับรายละเอียดและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับอาชีพด้านการแสดง กรณีศึกษาของต่างประเทศ คือ Musical Theatre ของ ABRSM (Associated Board of the Royal Schools of Music) แห่งสหราชอาณาจักร การแสดง Dikir Barat ในมาเลเซีย และการแสดงหมอลำ ใน สปป. ลาว เพื่อทำความเข้าใจสถานภาพและมาตรฐานอาชีพด้านการแสดงจากกรณีศึกษาต่าง ๆ เพื่อนำสู่การวิเคราะห์ในการกำหนดกรอบ และแนวทางมาตรฐานวิชาชีพแก่อาชีพนักแสดงหมอลำต่อไป
โดยการประชุมได้รับฟังความคิดเห็นทั้งจากคณะรับรองมาตรฐานอาชีพฯ ซึ่งได้รับเกียรติจากศิลปินแห่งชาติ ครูภูมิปัญญา พ่อครู แม่ครู ผู้เชี่ยวชาญ และศิลปินในวงการหมอลำมาร่วม ได้แก่ นายฉลาด ส่งเสริม (ป. ฉลาดน้อย), นางนิตยา รากแก่น (บานเย็น รากแก่น), ดร.ราตรีศรีวิไล บงสิทธิพร, ผศ. ดร.ศิริเพ็ญ อัตไพบูลย์, อ.ชุมเดช เดชพิมล, อ.วรศักดิ์ วรยศ, ผศ. ดร.สุขสันติ แวงวรรณ, อ.ทม เกศวงศา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอาชีพนักแสดงหมอลำมาเข้าร่วมประชุมอย่างคับคั่งกว่า 200 ท่าน ซึ่งทุกท่านต่างให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางและความคาดหวังต่อการจัดทำมาตรฐานอาชีพนักแสดงหมอลำในครั้งนี้ว่า ‘เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญต่อการยกย่องและพัฒนาศิลปะการแสดงพื้นบ้านอย่างเป็นระบบ ด้วยหมอลำถือเป็นรากเหง้าและจิตวิญญาณของชาวอีสาน’
ปัจจุบันอาชีพนักแสดงหมอลำมีการพัฒนามากกว่าในอดีต การจัดทำระบบคุณวุฒิวิชาชีพ จึงถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการยกระดับอาชีพนักแสดงหมอลำให้มีให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและระดับนานาชาติ