Loading...

อาจารย์ธรรมศาสตร์ พัฒนา Arsa framework หนุนใช้ซอฟต์แวร์พัฒนาแอปฯ สู่ Metaverse

อาษาเฟรมเวิร์ค ซอฟต์แวร์สร้างแอปพลิเคชันสัญชาติไทย เปิดฟีเจอร์รองรับการใช้งานแบบแซนด์บอกซ์ ตอบโจทยผู้ใช้งานดิจิทัล เมตาเวิร์ส NFT และเทคโนโลยีเสมือนจริง

วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2565

     อาษาเฟรมเวิร์ค (Arsa framework) ซอฟต์แวร์ที่ช่วยสร้างแอปพลิเคชันในรูปแบบ E-Commerce ส่งเสริมธุรกิจ SMEs วิสาหกิจชุมชน หรือสตาร์ตอัปในยุค 5G ให้เกิดรายได้จากการมีพื้นที่ค้าขายผลิตภัณฑ์หรือบริการบน Google Play Store เช่น แอปพลิเคชันช่างชุ่ย แอปพลิเคชันโรงละครแห่งชาติ แอปพลิเคชันเครื่องปั้นดินเผาของลุงสุรัตน์ เกาะเกร็ด ที่ได้รับ OTOP ระดับ 5 ดาว แอปพลิเคชันพิพิธบางลำพู กรุงเทพฯ แอปพลิเคชันวิสาหกิจชุมชนผ้าบาติกแม่นงค์ เป็นต้น

     รศ.ดร.อาษา ตั้งจิตสมคิด อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูล (DSI) วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ต่อยอดงานวิจัยสู่แพลตฟอร์มอาษาเฟรมเวิร์ค (ARSA Productions) มีการพัฒนามาเทคโนโลยีให้ทันสมัยและตอบโจทย์ความต้องการของผู้สร้างสรรค์ผลงาน โดยการเชื่อมโยงและรองรับการประมวลผล การแสดงผล การติดต่อสื่อสารผ่านระบบคลาวด์ (Cloud) ซึ่งครอบคลุมการสร้างแอปฯ ในแต่ละด้านดังนี้

   1. DeepTech / AI นำไปสร้างปัญญาประดิษฐ์ด้วยอัลกอริทึม DeepLearning หรือ MachineLearning

   2. MarTech / BigData Analytic นำไปสร้างแผนการตลาดและวิเคราะห์ข้อมูลทาง Data Science

   3. FinTech / Blockchain นำไปสร้าง ICO สกุลเงินดิจิทัลและเขียนอัลกอริทึม Blockchain

   4. MedTech EdTech UX/UI นำไปสร้าง UX/UI ทางด้านการแพทย์และการศึกษาในทุกระดับชั้น

   5. AgTech / Controller นำไปควบคุมอุปกรณ์ Hardware ต่าง ๆ ผ่านทาง Cloud และ Smart Devices

   6. ioT / {REST:API} ควบคุมอุปกรณ์ ioT ผ่าน Representational State Transfer {REST API}

   7. UAV / TCP/UDP ควบคุม/ประมวลผล อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle) หรือ รถ EV ผ่านโปรโตคอล TCP หรือ UDP

   รศ.ดร.อาษา กล่าวว่า เราอยากสร้างซอฟต์แวร์ของคนไทย ที่ให้คนไทยเข้าถึงได้ในราคาที่ถูก มันจะเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยแก้จนและลดต้นทุน เนื่องจากถ้าเราไปใช้ซอฟต์แวร์จากต่างประเทศ ค่าลิขสิทธิ์จะมีราคาสูง ซึ่งล่าสุดแพลตฟอร์มนี้ยังสามารถนำไปใช้งานด้านเมตาเวิร์ส (Metaverse) ตลอดจน พัฒนาเป็น “Arsa Framework Robot Sandbox” และการพัฒนาเพื่อรองรับการสร้าง “Non Fungible Tokens (NFT)” เพื่อตอบโจทย์การใช้งานด้านดิจิทัลในยุคปัจจุบันด้วย ซึ่งรองรับการใช้งานแต่ละด้านดังนี้

   1. ด้านเทคโนโลยีเสมือน-เมตาเวิร์ส (Immersive-Metaverse) ผู้ใช้งานสามารถสร้างโมเดล 3D ที่ชื่อ “Avatar” ที่ใช้แทนบุคคลในระบบเมตาเวิร์ส โดยอาษาเฟรมเวิร์คเป็นตัวกลางในการ Display รายละเอียดต่าง ๆ เช่น การสร้างลักษณะของตัว 3D การบังคับการเคลื่อนไหว การใส่ลูกเล่นให้กับตัวโมเดล

   2. ด้านดิจิทัลทวิน (Digital Twin) คือ การสร้างแบบจำลองสถานที่ และวัตถุขึ้นในโลกดิจิทัล เช่น วางแผนสร้างที่จอดรถตามจำนวนผู้อยู่อาศัยในระแวกใกล้เคียง และวางแผนการปลูกต้นไม้เพื่อสร้างร่มเงา รวมไปถึงการวางแผนด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น โดยเป็นการผสานของเทคโนโลยีหลายชนิด ได้แก่ เทคโนโลยีผลิตภาพ 3 มิติ (VR และ AR), เทคโนโลยีเซ็นเซอร์ และ Internet of Things (IoT), เทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูล เช่น Machine Learning, เทคโนโลยีสำหรับสร้างโมเดลจำลอง และเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับสื่อสารเชื่อมต่อระบบเข้าด้วยกัน เช่น Cloud

   3. ด้าน NFT ที่สร้างโดย AI (AI-generated NFTs) โดยอาษาเฟรมเวิร์คจะมี API ให้ คือ ผู้ใช้งานสามารถสร้างผลงานศิลปะ NFT ของตนเองโดยการเขียนสคริปต์ให้กับอาษา จากนั้น AI จะสร้างผลงานออกมาได้มีรายละเอียดสมจริงมากที่สุด

   4. ด้าน Virtual Influencer คือ อินฟลูเอนเซอร์ที่ถูกสร้างขึ้นจากโปรแกรมต่าง ๆ ที่ถึงแม้จะไม่มีเลือดเนื้อหรือตัวตนอยู่จริง แต่บนโลกเสมือนจริงนั้นพวกเขาจะเป็นใครก็ได้ ทำอาชีพอะไรก็ได้ จะมีพฤติกรรมหรือนิสัยแบบใดก็สุดแท้แต่บริษัทหรือแบรนด์ โดยผู้สร้างจะออกแบบนำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยเพื่อสร้าง “มนุษย์” ที่มีความเหมือนจริงมากที่สุด เพื่อใช้งานในการแสดง ถ่ายภาพรีวิวสินค้า เป็นอินฟลูเอนเซอร์ เป็นต้น

     “อาษาเฟรมเวิร์ค สามารถ Display เทคโนโลยีเสมือนจริงได้ ไม่ว่าจะเป็นอวาตาร การจำลองสถานที่ การสร้างคนจริงมาใช้แสดงในงานโฆษณา เราสามารถจำลองเมืองทั้งเมืองหรือเมืองบางส่วน เพื่อที่จะมาแสดงอยู่บนมือถือ ต่อไปเราไม่จำเป็นต้องมีห้องคอมพิวเตอร์ 30-40 เครื่อง ที่ใช้เงินเป็นล้าน เรามีแค่มือถือเครื่องเดียวกับอาษาเฟรมเวิร์ค มันก็สามารถช่วยให้เราพัฒนา หรือสร้างผลงานดี ๆ มีคุณภาพได้ ด้วยระบบแซนด์บอกซ์” รศ.ดร.อาษา กล่าว

     ผลงานดังกล่าวยังได้รับรางวัลต่าง ๆ เช่น ผลงานเด่น Thailand Tech Show 2019 จัดโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รางวัล IP Champion 2562 จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ 2562 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) รางวัลชนะเลิศการประกวด Thailand ICT Awards 2018 จากสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) และรางวัลชนะเลิศการประกวดซอฟต์แวร์ดีเด่น 2561 จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เป็นต้น และยังได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณทางด้านการวิจัย 2561 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรางวัลการเผยแพร่ผลงานสร้างสรรค์ 2560

    ปัจจุบัน อาษาเฟรมเวิร์คสามารถสร้างรายได้จากผู้ใช้บริการ 17,000 คน ได้แก่ ไทย อเมริกา อินโดนีเซีย และฮ่องกง ทั้งนี้ ได้เปิดให้ประชาชนทั่วโลกสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งในรูปแบบของการทดลองใช้ฟรี เสียค่าบริการรายวัน รายเดือน หรือรายปี ที่เว็บไซต์ arsa.ai