Loading...

ศิลปกรรมฯ ธรรมศาสตร์ เปิดโครงการอบรมกระบวนการละคอนให้แก่นักเรียนมัธยม

คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชาการละคอน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโครงการละคอนเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองและความรับผิดชอบต่อสังคมในกลุ่มเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

วันพฤหัสบดีที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2563

     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ให้ความสำคัญต่อการสร้างความเป็นพลเมืองและความรับผิดชอบต่อสังคมให้เกิดขึ้นในกลุ่มเยาวชน ดังจะเห็นได้จากการที่นักศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรีทุกคนต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้ในรายวิชา มธ. 100 พลเมืองกับความรับผิดชอบต่อสังคม (TU 100 Civic Education) ที่มีคำอธิบายรายวิชาว่า “การเรียนรู้หลักการพื้นฐานการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและการปกครองโดยกฎหมาย (The Rule of Law) เข้าใจความหมายของ “พลเมือง” ในระบอบประชาธิปไตย ฝึกฝนให้นักศึกษาได้พัฒนาตนเองเป็น “พลเมือง” ในระบอบประชาธิปไตยและให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมโดยวิธีการเรียนรู้โดยลงมือปฏิบัติ (Learning by Doing)”

     ในส่วนของสาขาวิชาการละคอน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นั้น นอกเหนือจากนักศึกษาจะได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้ในรายวิชาดังกล่าวซึ่งเป็นวิชาของมหาวิทยาลัยแล้วนั้น รายวิชาจำนวนมากของสาขาก็มุ่งสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้นักศึกษามีความเป็นพลเมืองและความรับผิดชอบต่อสังคมผ่านการนำความรู้ที่ได้เรียนมาลงมือปฏิบัติ ความเป็นพลเมืองและความรับผิดชอบต่อสังคมที่สาขาวิชาให้ความสำคัญก็คือการออกแบบกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้นักศึกษารับฟังความคิดของผู้อื่น มีความเคารพ (respect) ในความแตกต่างหลากหลาย และสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นคุณสมบัติอันพึงประสงค์สำหรับพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย

     นอกจากนี้ สาขาวิชายังสาขายังมีการเรียนการสอนในรายวิชาละคอนเพื่อการศึกษา ละคอนสำหรับเด็กและเยาวชน ละคอนเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม รายวิชาเหล่านี้เป็นการนำองค์ความรู้ทางการละคอนมาสร้างการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงผ่านการปฏิบัติการของนักศึกษา รวมทั้งมีการนำละคอนไปแสดงและจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับชุมชน ตลอดถึงมีการทำศิลปะการแสดงนิพนธ์บนฐานคิดทางการละคอนดังกล่าว

     รายวิชาเหล่านี้มีกระบวนการให้นักศึกษาสำรวจข้อมูลที่เป็นประเด็นปัญหาในสังคม วิเคราะห์สาเหตุของปัญหา และออกแบบละคอนบนฐานการวิเคราะห์นั้น เพื่อให้ละคอนสามารถนำไปสู่การเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มเป้าหมาย ทั้งที่เป็นเด็ก เยาวชน และชุมชน ทั้งหมดนี้อาจทำให้กล่าวได้ว่าจุดยืนในการสร้างความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยของสาขาวิชาการละคอนสอดคล้องกับจุดยืนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

     นอกเหนือจากนักศึกษาของสาขาวิชาการละคอนแล้วนั้น สาขาฯ ยังให้ความสำคัญต่อการสร้างการเรียนรู้ให้กับเยาวชนนอกมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนในระดับมัธยม รวมทั้งคณาจารย์และนักศึกษาของสาขาก็มีประสบการณ์การทำงานร่วมกับเยาวชน อาทิ การนำละคอนสำหรับเด็กและเยาวชนไปจัดแสดงในโรงเรียนต่าง ๆ รวมทั้งการจัดค่ายศิลปะสำหรับนักเรียนมัธยมปลาย เป็นต้น เมื่อผนวกรวมประสบการณ์และจุดยืนทั้งสองด้านเข้าด้วยกัน สาขาวิชาการละคอน จึงได้ทำ “โครงการละคอนเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองและความรับผิดชอบต่อสังคมในกลุ่มเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย” ขึ้นในระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม – 11 ตุลาคม 2563 โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนภายใต้โครงการ Shape the Young Mind ของธนาคารกรุงเทพ ที่ผ่านมาทางที่ประชุมคณบดีสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ โดยรายละเอียดของโครงการจะเป็นการฝึกอบรมกระบวนการละคอนให้กับนักเรียนมัธยมจำนวน 5 โรงเรียน เพื่อให้นักเรียนสามารถผลิตละครเวทีในประเด็นความเป็นพลเมืองและความรับผิดชอบต่อสังคม

     อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่กระจายของ COVID-19 ทำให้โครงการต้องปรับเปลี่ยนการผลิตละคอนเวทีมาเป็นการผลิตวีดิทัศน์การแสดง (video performance) แทน โดยโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการได้แก่ โรงเรียนยอแซฟอุปถัมภ์ จังหวัดนครปฐม โรงเรียนสตรีสมุทรปราการ โรงเรียนสวนกุหลาบ นนทบุรี โรงเรียนนวมินทราชูทิศ หอวัง นนทบุรี และโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย กรุงเทพมหานคร

     ในวันสุดท้ายของโครงการ นักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ ได้สะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาได้เรียนรู้กระบวนการสร้างการแสดง และเกิดการเรียนรู้มุมมองที่แตกต่างหลากหลาย รวมทั้งเรียนรู้ที่จะรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ส่วนประเด็นที่ปรากฏในผลงานของนักเรียนมีตั้งแต่เรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เกิดขึ้นในบริบทโรงเรียน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสังคมที่นักเรียนต้องเผชิญ จนถึงประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือสิ่งที่เยาวชนกำลังเผชิญ และได้สะท้อนออกมาผ่านวีดิทัศน์การแสดง ซึ่งผลงานดังกล่าวจะได้มีการเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งจะได้มีการนำเสนอผลงานร่วมกับโครงการของคณะต่าง ๆ ภายใต้โครงการ Shape the Young Mind ต่อไป