Loading...

“ผศ.ดร.อาษา” นักพัฒนา Arsa Framework/Game สตาร์ทอัพสาย DeepTech

 

พูดคุยกับ ผศ.ดร.อาษา ตั้งจิตสมคิด อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรม และยังเป็นนักพัฒนาเกมทางด้าน DeepTech รวมถึงเป็นผู้พัฒนา Arsa Framework และแพลทฟอร์มสร้างแอปพลิเคชัน

วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ.2562

  

          วันนี้เราลองเปลี่ยนแนวจากสายวิจัย มาเป็นสายสตาร์ทอัพกันบ้าง ไม่ได้เป็นสตาร์ทอัพธรรมดา ๆ ทั่วไป แต่เป็นสตาร์ทอัพทางด้าน DeepTech หรือเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงนั่นเอง แต่ไม่ได้เกี่ยวกับสายการแพทย์หรือว่าการทดลอง แต่มันเกี่ยวกับ “เกม” รวมถึงการสร้างแพลทฟอร์ม หรือการสร้าง “แอปพลิเคชัน”

          พูดคุยกับ ผศ.ดร.อาษา ตั้งจิตสมคิด อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังเป็นนักพัฒนาเกม รวมถึงเป็นผู้พัฒนา Arsa Framework ที่เป็นแพลทฟอร์มสำหรับสร้างแอปพลิเคชัน แต่ว่า Arsa Framework สามารถทำอะไรได้อีกบ้างนอกจากสร้างแอปพลิเคชัน อาจารย์มีคำตอบให้เราแล้ว

Q: Arsa Framework คืออะไร

          Arsa Framework เป็นสตาร์ทอัพในด้าน DeepTech คือ เฟรมเวิร์คสำหรับสร้างแอปพลิเคชันในยุค 5G ที่สามารถเชื่อมโยงและรองรับการประมวลผล การแสดงผล การติดต่อสื่อสารผ่าน Cloud ได้แบบ One Stop Service โดยสามารถประยุกต์ใช้งานในยุค 5G ได้ดังต่อไปนี้

  • DeepTech / AI นำไปสร้างปัญญาประดิษฐ์ด้วยอัลกอริทึม DeepLearning หรือ MachineLearning
  • MarTech / BigData Analytic นำไปสร้างแผนการตลาดและวิเคราะห์ข้อมูลทาง Data Science
  • FinTech / Blockchain นำไปสร้าง ICO สกุลเงินดิจิทัลและเขียนอัลกอริทึม Blockchain
  • MedTech EdTech UX/UI นำไปสร้าง UX/UI ทางด้านการแพทย์และการศึกษาในทุกระดับชั้น
  • AgTech / Controller นำไปควบคุมอุปกรณ์ Hardware ต่าง ๆ ผ่านทาง Cloud และ Smart Devices
  • ioT / {REST:API} ควบคุมอุปกรณ์ ioT ผ่าน Representational State Transfer {REST API}
  • UAV / TCP/UDP ควบคุม/ประมวลผล อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle) ผ่านโปรโตคอล TCP หรือ UDP

Q: แล้วสตาร์ทอัพ Arsa Framework เรียกว่าเป็นสิ่งแรกที่อาจารย์พัฒนาขึ้นมา?

          ก่อนหน้านี้ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ชื่อ Zaros X Battle เป็นเกมต่อสู้บนแพลทฟอร์ม PC Version วางจำหน่ายเมื่อปี 2007 และบนแพลทฟอร์ม Arcade Version วางจำหน่ายเมื่อปี 2009 ซึ่งผลิตภัณฑ์ตัวที่สองชื่อ เกมซารอส เรียล แบทเทิ้ล กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาครับ

Q: เล่าถึงตัวผลงาน “อาษาเฟรมเวิร์ค” กันบ้าง

          ถ้าจะให้พูดถึงผลงาน “อาษาเฟรมเวิร์ค” ผมคิดว่ามันมาไกลกว่าที่ผมวางแผนไว้ครับ เพราะครั้งแรกที่ทำ ผมกะจะให้เป็นแค่เกมเอนจิ้นสำหรับเกมซารอสของผมเท่านั้น แต่พอนำไปทดลองสอนหนังสือตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ กลับได้ผลดีเกินคาด นักศึกษาได้รับรางวัลจากเกมที่สร้างด้วยอาษาเฟรมเวิร์คมากมาย ทำให้เกิดเป็นความคิดว่า “ทำไมเราไม่ Scalable & Repeatable มันล่ะ” ผลที่ได้จึงปรากฏตามที่เห็นในปัจจุบัน

          ซึ่งผลงานนี้ ยังได้รับรางวัลผลงานเด่น Thailand Tech Show 2019 จัดโดย สวทช. รางวัล IP Champion 2562 จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ 2562 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) รางวัลชนะเลิศการประกวด Thailand ICT Awards 2018 จากสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) และรางวัลชนะเลิศการประกวดซอฟต์แวร์ดีเด่น 2561 จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เป็นต้น และยังได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณทางด้านการวิจัย 2561 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรางวัลการเผยแพร่ผลงานสร้างสรรค์ 2560 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยครับ

Q: อาจารย์เป็นนักสร้างเกมด้วย?

          เกมซารอส เอ็กซ์ แบทเทิ้ล ครับ เกมตัวนี้เราใช้เวลาสร้างขึ้นมา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2004 วางจำหน่ายครั้งแรกในปี 2007 และ ปี 2009 เกมซารอสถือเป็นผลิตภัณฑ์เรือธงของเราเลยก็ว่าได้ เพราะผมมีความตั้งใจที่จะสร้างแบรนด์ของคนไทยขึ้นไปแข่งขันในตลาดเกมโลก เช่น มีดที่ 13, กบินแมน, อัศวินสยาม, แอนดรอยด์ดรากอน, อภัยมณีซาก้า รวมถึงจุดสูงสุดของผม คือ การสานฝันผลักดันให้ฮีโร่ไทยก้าวขึ้นไปมีส่วนแบ่งกับการตลาดเกม มีเวทียืนในระดับโลกครับ บ้านเรามีคาแรกเตอร์และเรื่องราวต่าง ๆ ที่น่าสนใจไม่แพ้ฮีโร่ต่างประเทศ แต่สิ่งที่ขาดคือผลิตภัณฑ์เกมที่จับต้องได้ในบริบทการลงทุนที่เหมาะสม ผมเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมว่าถ้าค่อย ๆ ก้าวไปทีละขั้น ฮีโร่ไทยและซารอสจะทะยานขึ้นมาขอส่วนแบ่งดังกล่าวในตลาดเกมโลกได้ครับ

          และยังมีเกมซารอส เรียล แบทเทิ้ล หรือเรียกว่าเป็นภาคต่อของเกมซารอส เอ็กซ์ แบทเทิ้ล ก็ได้ครับ ในภาคนี้เป็นการใช้เทคนิค 3D Real-time Rendering และ Physically Based Rendering ซึ่งตัวนี้ใช้เวลานานมากในการพัฒนาทำให้ต้นทุนการผลิตสูงมาก

          เรื่องราวของตัวละครต่าง ๆ ในเกมภาคสองนี้ ผมได้ทำเป็นหนังสือไว้ด้วย Illustrations Saros Real Battle : ลวดลายเส้นสายจากเกม ซารอส เรียล แบทเทิ้ล เพื่อนำองค์ความรู้ไปบูรณาการกับงานคอมพิวเตอร์เกมมัลติมีเดียและสื่อใหม่ เนื้อหาจะประกอบไปด้วยหัวข้อ (1) การวาดเส้น (2) การลงสี (3) แฟชั่นดีไซน์ (4) และคาแรคเตอร์ดีไซน์ โดยจะใช้วิธีการอธิบายจากภาพเพื่อให้ผู้ฝึกฝนสามารถทำความเข้าใจและลงมือทำตามได้ทันที อีกทั้งตำราเล่มนี้ยังได้รับทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2561 อีกด้วยครับ

Q: พูดถึงผลงานของนักศึกษากันบ้าง

          ตอนนี้ผลงานของนักศึกษามีพอประมาณครับ เรามีผลิตภัณฑ์แอปบน Google Play Store แล้วมากกว่า 150 แอปเผยแพร่ไปทั่วโลกครับ ยกตัวอย่างเช่น แอปพิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ 5G แอปพลิเคชันพิพิธบางลำพู และแอปโรงละครแห่งชาติ 5G เป็นต้น แอปส่วนใหญ่จะเป็นการบริการให้กับสังคมและประชาชนมากกว่าที่จะมุ่งไปในด้าน Business Model เพียงอย่างเดียวเพราะผมเชื่อว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปรียบประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร มาเป็นเวลากว่า 85 ปี

          นอกจากนี้ ยังมีผลงานของนักศึกษาเพิ่มเติมอีกกว่า 40 ชิ้น ที่พร้อมด้วย Pitch Deck และผ่านการ Pitch ต่อนักลงทุนมาแล้ว เช่น THE INNOW ทางเลือกทางการตลาดรูปแบบใหม่ และสตาร์ทอัพ Halal Travel in Thailand สำหรับผลงาน Startup ของนักศึกษามาจากการเรียนการสอนด้วย ARSA Education Machine (AEM) ซึ่งเป็นเครื่องจักรการศึกษาของอาษา สามารถ Disrupt การศึกษาแบบ Traditional ได้ในทุกสหวิทยาการเพื่อก่อให้เกิดโอกาสการสร้างรายได้ให้กับผู้เรียนในยุค 5G

Q: อาจารย์มองว่า เทคโนโลยี 5G กับ สตาร์ทอัพที่เกี่ยวกับสังคม มันไปด้วยกันได้?

          สำหรับผมมันคือการที่เรานำความรู้ในศาสตร์ต่าง ๆ จากมนุษย์ที่อยู่รวมกันเป็นสังคมมาผนวกกับพลังของเทคโนโลยีในยุค 5G เพื่อก่อให้เกิดการเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ รวมถึงเป็นการใช้องค์ความรู้เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่ชุมชน เพิ่มความสะดวกสบายให้กับพี่น้องประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ต้องการข้อมูลด้านต่าง ๆ เช่น การท่องเที่ยว การนำทาง การวางแผนล่วงหน้าเพื่อให้เกิดการเชื่อมข้อมูลด้วย Open Data ระหว่างหน่วยงานและภาคประชาชนแบบไร้รอยต่อได้อย่างสมบูรณ์แบบในยุคของสมาร์ทซิตี้ 5G อีกทั้งยังเป็นการตอบโจทย์ในการเข้าไปร่วมกับชุมชน ร่วมกันเรียนรู้ และให้ความช่วยเหลือเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน องค์กรต่าง ๆ ด้วยเทคโนโลยีแอปในยุค 5G และเกิดขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม

Q: ฝากถึงสตาร์ทอัพมือใหม่

          จงอย่ากลัวที่จะ Disrupt ตัวท่านและไอเดียธุรกิจของท่านเองเพราะ Fail Fast, Getup Fast ครับ หากล้มเร็วก็ลุกขึ้นมาให้เร็ว รักษากำลังใจไว้และพยายามหาจุด Pain Point ของธุรกิจให้เจอ ถ้าเจอแล้วอย่าปล่อยไป ให้ท่านขยี้ด้วย Think Big, Do Small and Cost Less คือให้เริ่มต้นด้วยการคิดจุด Exit หรือปลายทางให้ใหญ่สุดก่อนครับ แล้วทำงานอย่างเล็ก เร็วและละเอียดด้วยเงินลงทุนที่น้อยสุดหรือไม่กระทบกับการดำรงชีพได้จะยิ่งดีมาก พยายามหาจุดที่ Sexy ของธุรกิจที่เราจะเข้าไป พยายามวิเคราะห์โจทย์ธุรกิจให้แตก ถ้าผลการวิเคราะห์ธุรกิจนั้นกลายเป็น Zombie คือแปลว่าธุรกิจจะโตก็ไม่โตหรือจะตายก็ไม่ตาย เดินไปเดินมาเหมือนซอมบี้ที่ไร้จุดหมาย ก็ต้องลองถามใจเรากับทีมงานดูว่าเราพอใจกับผลประโยชน์ที่จะได้รับหรือไม่ ถ้าพอก็จบครับ

          ต่อไปคือพยายามใช้ Cloud ให้เป็นประโยชน์มากที่สุดกับธุรกิจ Startup เช่น Paper Less, การประชุมออนไลน์ผ่านแพลทฟอร์มต่าง ๆ รวมไปถึงการเรียนออนไลน์ด้วยตัวเอง อันนี้ถือว่าสำคัญสุดครับเพราะโลกในยุคปัจจุบันไม่จำเป็นต้องรอให้ใครมาสอนใคร ไม่ต้องรอให้ใครมาบอกเราว่าให้เริ่มทำหรือไม่เริ่มทำอะไร ผมว่าหลาย ๆ หน่วยงานที่ยังไม่สามารถ Disrupt ความเชื่อเก่าได้ก็เพราะเรายังคงกลัวที่จะเปลี่ยนแปลง มนุษย์มักจะกลัวในสิ่งที่ไม่เคยเจอมาก่อนฉันใดความเปลี่ยนแปลงในหน่วยงานก็จะยังคงช้า ล้าหลัง และนั่งรอวันสูญสลายหายไปฉันนั้น

           แล้วถามว่าถ้าไม่ Disrupt หรือ Disrupt ไปแล้วใครได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ คำตอบ: ผู้ที่ได้ประโยชน์ไปเต็ม ๆ เลยคือหนึ่งนักศึกษาหรือพนักงาน สองมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงาน ผมยังคงเชื่อกับคำว่า Do Less,  Get More ครับ ทำงานกันน้อย ๆ แต่ได้ผลลัพธ์ที่มากขึ้น ประหยัดเวลา ประหยัดงบประมาณ ประหยัดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโสหุ้ยต่าง ๆ หรือประหยัดทั้งหมดที่พูดมาก็อาจเป็นได้

           มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยังคงผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนนวัตกรรม งานวิจัย และนักศึกษา รวมถึงยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่ชุมชน ผ่าน Local Startups หรือสตาร์ทอัพด้านมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ และส่งเสริมให้นักศึกษาเรียนรู้ในเรื่องของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์สังคมโลก และสามารถสร้างสรรค์เป็นผลงานสตาร์ทอัพได้