Loading...

เปิดงานวิจัย นศ.ทันตแพทย์ มธ. โชว์ผลงานสารสกัดใบกะเพราขาวต้านมะเร็งศีรษะ-ลำคอ

นักศึกษาทันตแพทย์ นำเสนอผลงานวิจัยสารสกัดใบกะเพราขาวต้านเซลล์มะเร็งศีรษะ-ลำคอ คว้ารางวัลชนะเลิศ DAT-Oral Science Research Award จากทันตแพทยสมาคมฯ

วันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2563

          นายคณธัช ศิริทัศนกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 5 คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนหนึ่งเดียวของธรรมศาสตร์ นำเสนองานวิจัยหัวข้อ "Cytotoxic effects of Ocimum sanctum leaf extract on oxidative stress, cell cycle and apoptotic death in head and neck cancer cell lines" คว้ารางวัลชนะเลิศเวทีประกวดผลงานวิจัยโครงการ DAT-Oral Science Research Award ในงานประชุมวิชาการครั้งที่ 109 ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ

         นายคณธัช ศิริทัศนกุล หรือ ปั๊บ เล่าถึงจุดเริ่มต้นก่อนเข้าประกวดว่า ได้เห็นข่าวประชาสัมพันธ์โครงการจากทางคณะ และอาจารย์ที่ปรึกษากลุ่มวิจัยชักชวนให้ลองสมัครดู ซึ่งตนเองก็สนใจจึงสมัครเพราะเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้ออกไปนำเสนอผลงานวิจัยที่ตั้งใจทำ และอยากจะลองทำสิ่งใหม่ ๆ ในชีวิต หลังจากสมัครแล้วทางคณะจะคัดเลือกเพื่อหาตัวแทนจากผู้สมัครทั้งหมดภายในคณะ เพื่อไปแข่งขัน โดย 1 มหาวิทยาลัยสามารถส่งตัวแทนได้เพียง 1 คนเท่านั้น

          งานวิจัยที่ได้นำไปประกวดคืองานวิจัยหัวข้อ "Cytotoxic effects of Ocimum sanctum leaf extract on oxidative stress, cell cycle and apoptotic death in head and neck cancer cell lines" เป็นการศึกษาผลของสารสกัดจากใบกะเพราขาวต่อเซลล์มะเร็งศีรษะและลำคอ ว่าสารสกัดใบกะเพราขาวสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งศีรษะและลำคอได้หรือไม่ และถ้าสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้ สารสกัดใบกะเพราขาวจัดการเซลล์มะเร็งผ่านกระบวนการภายในเซลล์อย่างไรบ้าง ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ได้ทำร่วมกับเพื่อนอีก 5 คน คือ นายณัฐภัทร ท่าเรือรักษ์ นางสาวมุทิตา บุษปวนิช นายวิทวัส เวียงสุขไพบูลย์ นายศักรินทร์ ลำเพย และนางสาวชนกพร รัตน์ประสาทพร โดยมี ผศ.ดร.กุสุมาวดี อุทิศพันธ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิจัย

          โรคมะเร็งศีรษะและลำคอเป็นหนึ่งในโรคมะเร็งที่มีอัตราการเสียชีวิตสูง ยิ่งไปกว่านั้นการรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบันเกิดผลข้างเคียงค่อนข้างเยอะ เราจึงสนใจศึกษาวิจัยพืชสมุนไพรที่หาได้ง่ายในประเทศไทยและเหมาะจะนำมาศึกษาต่อยอดในการรักษาเซลล์มะเร็งศีรษะและลำคอได้ ซึ่งใบกะเพราขาวเป็นตัวแปรต้นที่ดีที่สุดของการศึกษาครั้งนี้ โดยใช้ระยะเวลาศึกษาเพียง 1 เดือน เริ่มจากเลี้ยงเซลล์มะเร็งก่อน จากนั้นจึงเริ่มการทดลองแรกที่ทดสอบความเป็นพิษของสารสกัด โดยการทดสอบว่าความเข้มข้นของสารสกัดจำนวนเท่าไรที่จะสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้ พอได้ผลความเป็นพิษแล้วจึงนำมาทดลองต่ออีก 6 การทดลอง

          “1 เดือนที่ทำการวิจัย ผมต้องเข้าห้องแลปทุกวันตั้งแต่เช้าถึงค่ำ แต่พอมองย้อนกลับไป เป็นประสบการณ์ที่สนุกมาก ได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ ได้ใช้เวลาอยู่กับเพื่อนในอีกมุมหนึ่ง และไม่น่าเชื่อว่าเราจะทำทุกอย่างเสร็จก่อนกำหนด ด้วยระยะเวลาการทำวิจัยที่จำกัดบวกกับจำนวนการทดลองมากมายนี้เป็นอุปสรรคที่พวกเราคำนึงมาก่อนเริ่ม แต่การวางแผนและการแบ่งงานที่ดีช่วยได้มากครับ” นายคณธัช กล่าว

          นายคณธัช กล่าวเสริมอีกว่า องค์ความรู้จากงานวิจัยมีหลายแบบ ได้แก่ องค์ความรู้ที่ได้มาใหม่ องค์ความรู้แบบต่อยอดเสริมจากเดิม และแบบที่เป็นข้อโต้แย้งจากเดิม ซึ่งผลการศึกษางานวิจัยของเราเป็นแบบต่อยอดเสริมจากเดิม ถึงงานวิจัยจะเสร็จในวันนี้ วันพรุ่งนี้อาจจะยังนำไปใช้รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งไม่ได้ แต่องค์ความรู้นี้สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาวิธีการรักษามะเร็งศีรษะและลำคอต่อได้ เพราะจากงานวิจัยของเราทำให้รู้ว่าในสารสกัดใบกะเพราขาวมีสารบางอย่างที่ช่วยให้เซลล์มะเร็งศีรษะและลำคอตายได้ ซึ่งงานต่อไปเราควรศึกษาต่อว่าสารเฉพาะตัวนั้นคืออะไร แล้วต่อยอดการทดลองในสัตว์และในมนุษย์ต่อไป

          “ผมได้ใช้ความรู้จากหลากหลายวิชาที่เรียนมา มากที่สุดคงเป็น "วิชาระเบียบวิธีวิจัย" เพราะเป็นพื้นฐานของการทำวิจัย การคิดบทพูด สรุปความ และการตอบคำถาม ล้วนต้องอ้างอิงหลักการทางระเบียบวิจัยทั้งสิ้น อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยในการพัฒนาทักษะการนำเสนอและการตอบคำถาม คือการเรียนแบบ Active Learning เช่น การเรียนแบบ PBL (Problem-Based Learning) ที่ช่วยให้ผมพูดได้อย่างมีเหตุผลครับ และผมอยากจะขอบคุณทางคณะทันตแพทยศาสตร์และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีได้ฝึกฝนทดลองทำการวิจัย และสนับสนุนให้ได้ออกไปแข่งขันในเวทีระดับประเทศ ผมดีใจที่ได้ทำชื่อเสียงเล็กน้อย ๆ ให้กับธรรมศาสตร์ครับ” นายคณธัช กล่าวทิ้งท้าย

          ทั้งนี้ โครงการ DAT-Oral Science Research Award เป็นโครงการประกวดการนำเสนอผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับทันตแพทยศาสตร์ จัดโดยทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ซึ่งผู้เข้าประกวดจะต้องนำเสนอผลงานเป็นภาษาอังกฤษในรูปแบบการนำเสนอหน้าโปสเตอร์