Loading...

คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสัมมนา “Health Security and Updated on Wuhan Coronavirus 2019 & Pandemic Condition” 

คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาพิเศษ “Health Security and Updated on Wuhan Coronavirus 2019 & Pandemic Condition”

วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563

  

          สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ 2019-nCoV จากประเทศจีน นับจากที่มีการรายงานครั้งแรกเมื่อ 31 ธันวาคม 2562 นั้น พบผู้ป่วยโรคปอดอักเสบที่ไม่รู้สาเหตุในเมืองอู่ฮั่นเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ต่อมาได้มีการรายงานเป็นทางการเมื่อ 3 มกราคม 2563 ว่าโรคปอดอักเสบที่ระบาดที่อู่ฮั่น มีสาเหตุจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (novel coronavirus 2019, 2019-nCoV) และพบการแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้

          คณะสาธารณสุขศาสตร์ ได้จัดสัมมนาพิเศษในหัวข้อ “Health Security and Updated on Wuhan Coronavirus 2019 & Pandemic Condition” โดยได้รับเกียรติจากท่านวิทยากร Dr. John MacArthur ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข มาบรรยายให้กับนักศึกษาหลักสูตรสาธารณสุขโลก (Global Health Program) คณะสาธารณสุขศาสตร์ และบุคคลทั่วไปที่สนใจ เพื่อเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจด้านความมั่นคงทางสุขภาพและสถานการณ์โรคติดเชื้ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ (emerging and re-emerging infectious diseases) เน้นความสำคัญที่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (novel coronavirus 2019, 2019-nCoV) เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

           โดยการบรรยายจะมีการปูพื้นฐานเรื่องความเสี่ยงโรคติดเชื้อในด้านสาธารณสุขโลก (global health risk) ปัจจัยกำหนดทางสุขภาพ (determinants of health) รวมถึงการมีแผนความร่วมมือระหว่างประเทศ โรคติดเชื้ออุบัติใหม่มักเกิดจากโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน (zoonosis) เช่น ไข้หวัดนก (H5N1 H7N9) การระบาดของไข้หวัดใหญ่ H1N1 รวมถึงการระบาดของ coronavirus สายพันธุ์ SARS-CoV และ MERS-CoV ซึ่งในปัจจุบันการเกิดโรคระบาดมักเป็นแบบการแพร่กระจายไปทั่วโลก (Globalization) โดยมีปัจจัยต่าง ๆ มาเกี่ยวข้อง เช่น การคมนาคมที่สะดวกรวดเร็ว ในเรื่องของอาหาร เศรษฐกิจ การอพยพย้ายถิ่น ปัจจัยของตัวเชื้อซึ่งเป็นเชื้อใหม่ที่อุบัติขึ้นมาหรือเกิดการกลายพันธุ์ ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม สัตว์พาหะและที่เป็นแหล่งรังโรค เป็นต้น มนุษย์ได้เผชิญกับโรคอุบัติใหม่ตลอดเวลา โดยจะพบอัตราการเสียชีวิตแตกต่างกันไป เช่น ผู้ติดเชื้อ H5N1 อัตราการเสียชีวิตร้อยละ 53 SARS-CoV ร้อยละ 10 MERS-CoV ร้อยละ 36 เป็นต้น ซึ่งส่งผลกระทบทำให้เกิดความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจอย่างมหาศาล

          อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือขององค์กรทุกภาคส่วนทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ เช่น การมีข้อตกลงหรือ International Health Regulation (IHR) ระหว่าง องค์การอนามัยโลก (WHO) กับประเทศสมาชิกในการสร้างเครือข่ายสำหรับการวินิจฉัย รายงานและตอบโต้กับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergencies of International Concern, PHEIC) การมี Asia Pacific Strategy สำหรับโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเสี่ยงของโรค เสริมสร้างระบบการตรวจวินิจฉัย การตอบโต้และการเตรียมความพร้อม โดยส่งเสริมให้เกิดการสร้างพันธมิตร (technical partnership) เพื่อให้เกิดกิจกรรมในเชิงรุกเพื่อลดปัญหาทางสาธารณสุขที่ส่งผลต่อสุขภาพของประชากร ในส่วนที่สอง ได้เน้นถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ซึ่งจัดเป็นโรคอุบัติใหม่ พบที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นพื้นที่แรก โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 (2019-nCoV) นี้เป็นหนึ่งในสมาชิกในกลุ่ม coronaviruses โดยในกลุ่มนี้ยังประกอบด้วยสมาชิกที่สามารถติดเชื้อได้ในมนุษย์และเคยก่อการระบาดมาแล้วได้แก่ HCoV-229E, HCoV-OC43, HCoV-NL63, HCoV-HKU1, SARS-CoV และ MERS-CoV ไวรัสในกลุ่มนี้สามารถติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจผ่านทาง droplet transmission และการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย (close personal contact) สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ (human-to-human transmission)

          ด้านระบาดวิทยาของโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 นี้ ในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 พบผู้ป่วยปอดอักเสบหลายรายในนครอู่ฮั่น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยพบว่าผู้ป่วยมีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติการเดินทางไปยังตลาด seafood market บางรายเป็นผู้ขาย ซึ่งตลาดนี้จะขายอาหารทะลและมีสัตว์ป่าอยู่หลายชนิดจำหน่ายด้วย โดยทางการจีนได้ประกาศโรคปอดอักเสบนี้อย่างเป็นทางการเมื่อ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ต่อมาทางการจีนได้แยกเชื้อและทำการหาลำดับนิวคลีโอไทด์ในสายจีโนมได้สำเร็จ พันธุกรรมของไวรัสที่ได้นี้ได้ถูกเผยแพร่ออกไปยังนักวิจัยประเทศต่างๆ และถูกตีพิมพ์ในฐานข้อมูลสาธารณะ (public database) ซึ่งนักวิจัยสามารถเข้าถึงได้ สารพันธุกรรมนี้จะมีประโยชน์อย่างมากในการนำไปพัฒนาเป็นวิธีการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการและพัฒนาเป็นชุดทดสอบต่อไป โรคติดเชื้อดังกล่าวนี้ได้แพร่ขยายออกไปนอกประเทศจีนโดยจะพบผู้ป่วยที่เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทย และในหลาย ๆ ประเทศยังพบการติดต่อจากคนสู่คนได้ และเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2563 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern) ประเทศไทยมีความตื่นตัวและตระหนักในเรื่องนี้ เพราะในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามาปีละมากกว่า 10 ล้านคน ทำให้มีความเสี่ยงที่จะนำเชื้อเข้ามาในประเทศ อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุขก็ได้มีมาตรการอย่างเข้มข้นในการรับมือกับปัญหาดังกล่าว