Loading...

ธรรมศาสตร์ มุ่งสู่ Smart University ต้นแบบมหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืนในทุกมิติ

 

สู่เป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พัฒนาการศึกษาตอบโจทย์โลกอนาคต คู่กับการสร้างความมั่นคงและยั่งยืน ด้วยการบริหารจัดการที่ทันสมัย

วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ.2562

  

          มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำลังก้าวไปสู่เป้าหมายตาม แผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 12 (.. 2560-2564)” ที่มุ่งเน้นพัฒนาการศึกษาที่ตอบโจทย์โลกแห่งอนาคต ควบคู่กับการสร้างความมั่นคงและยั่งยืน ด้วยการบริหารจัดการที่ทันสมัย (Best Sustainable and Smart University) 

          บทบาทใหม่ของธรรมศาสตร์จึงให้ความสำคัญกับการสร้าง “ความมีส่วนร่วม” ดูแลรักษาสภาพแวดล้อมในทุกมิติ เชื่อมโยงวิถีชีวิตทุก ๆ คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยแห่งนี้มากกว่า 40,000 คน ให้หันมาใส่ใจเรื่องการใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน หรือ Circular Living” 

         รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาสู่ความยั่งยืนทั้งด้านกายภาพและสภาพแวดล้อม พร้อมปลูกจิตสำนึกแก่นักศึกษา บุคลากร คณาจารย์ และผู้บริหารทุกคน ได้ขับเคลื่อนการรณรงค์เรื่องนี้ร่วมกัน ส่งผลให้ปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็น ‘โมเดล’ ที่ดีให้แก่ทุกภาคีในสังคมไทย และหัวใจสำคัญในการมุ่งสู่ Smart University ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือสร้างความสมดุลและยั่งยืนให้กับสังคม ลดใช้พลังงานและสร้างพลังงานทางเลือก โดยมีโครงการ Smart Energy โครงการ Smart Transportation โครงการจัดการขยะ และลดใช้พลาสติกอย่างจริงจัง

         ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ได้ริเริ่มโครงการติดตั้ง Solar Rooftop นำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ โดยตั้งเป้าผลิตกระแสไฟฟ้าที่ 10 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของปริมาณไฟฟ้าที่ใช้อยู่ในมหาวิทยาลัย และภายในปี 2563 จะเดินหน้าเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมดให้เป็นแบบประหยัดพลังงาน คาดว่าจะลดการใช้ไฟฟ้าได้อีก 30%

          ล่าสุดเปิดร้าน เติมเต็ม Refill Shoppe ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ให้บริการแบบ Bulk Store คือผู้ใช้บริการจะต้องพกพาบรรจุภัณฑ์สำหรับใส่สินค้ามาเอง ภายใต้เป้าหมาย Zero Waste คือลดขยะจนเหลือศูนย์ จุดประกายการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนำไปสู่การดูแลรักษาโลกใบนี้ร่วมกัน

         ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต กล่าวว่า โครงการร้านเติมเต็ม Refill Shoppe เป็นอีกหนึ่งรูปธรรมที่สำคัญ และเป็นตัวอย่างชัดเจนถึงความมุ่งมั่นลดใช้พลังงาน เพราะสินค้าที่มีหีบห่อพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง สิ้นเปลืองพลังงานในการผลิต โดยเชื้อเพลิงกว่า 80% มาจากฟอสซิล ทำให้โลกร้อนขึ้น ดังนั้นการไม่ใช้เลยหรือลดใช้พลาสติกก็จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและไม่สร้างภาระในการกำจัดขยะด้วย โดยภายในร้านประกอบด้วย ร้านกาแฟปราศจากการใช้พลาสติกทุกกระบวนการ ภาชนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ กระบอกน้ำ กล่องข้าว ช้อน-ส้อม หลอดกระดาษ กระเป๋า ถุงผ้า จนถึงการจำหน่ายสินค้าอุปโภค-บริโภค อาหารทานเล่น ฯลฯ

          ธรรมศาสตร์ ยังให้ความสำคัญเรื่องระบบคมนาคมภายในรั้วมหาวิทยาลัย ด้วยเป้าหมายที่วางไว้คือการ Transportation แบบ Zero Emission ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เลย

         “สิ่งที่เราส่งเสริมไปแล้วคือเรื่องของจักรยาน และจะเพิ่มยานพาหนะที่เป็นไฟฟ้าเข้ามาอีก เช่น สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า หรือขณะนี้อยู่ระหว่างเริ่มโครงการรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) แบบ Car Sharing” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว

         สิ่งที่ดำเนินการคู่ขนานกันไปคือ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อซึมซับ-ดูดกลับ (absorb) ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมองว่า ต้นไม้คือเครื่องมือในการ absorb ได้ดีที่สุด จึงเปลี่ยนนโยบายเรื่องการตัดต้นไม้ให้ถูกวิธี และร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ กทม. 50 เขต นอกจากนี้ ยังมีโครงการปรับพื้นที่ดาดฟ้าของอาคารเป็นแปลงผักปลอดสารพิษ นำร่องที่ “อาคารอุทยานการเรียนรู้ ป๋วย 100 ปี” เพื่อให้นักศึกษา และเจ้าหน้าที่มีรายได้เสริม โดยจะเริ่มในเดือนธันวาคม 2562

         สุดท้ายโครงการ “การจัดการขยะ” ซึ่งร้านสะดวกซื้อทุกแห่งขณะนี้ได้เลิกใช้ถุงพลาสติกครั้งเดียวทิ้งและภายในวันที่ 1 มกราคม 2563 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะเลิกใช้ถุงพลาสติกทุกกรณี

         ผศ.ดร.ปริญญา ยืนยันว่า ภารกิจที่สำคัญของเราคือมุ่งไปสู่เป้าหมาย “การพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ Sustainable Development Goals : SDGs จำนวน 17 ข้อ แต่เรื่องเร่งด่วนที่สุดคือข้อ 13 เรื่อง Climate Action ซึ่งมิใช่เพียง Climate change แล้ว แต่เป็น Climate Crisis วิกฤตสภาพภูมิอากาศ เพราะทุก ๆ การเปลี่ยนแปลงเพียง 1 องศาเซลเซียส จะนำไปสู่ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น ดังนั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งเป้าหมายลดภาวะโลกร้อนให้เกิด Zero Carbon 100% ภายในระยะเวลา 7 ปี

         “ธรรมศาสตร์ได้พิสูจน์ถึงความตั้งใจในการปลูกจิตสำนึกและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักศึกษา คณาจารย์ บุคลากร รวมถึงประชาชนทั่วไป ให้หันกลับมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ผ่านการดำเนินนโยบายต่าง ๆ จนขณะนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนแล้ว” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวทิ้งท้าย

          ด้วยวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเจตนารมณ์ร่วมกันของทุกฝ่าย นับเป็น “พลังบวก” ที่ขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จและกลายเป็นเครือข่ายทางสังคมที่งดงาม เพื่อก้าวไปสู่สถาบันการศึกษาที่มีความยั่งยืนและเป็น Smart University ในอนาคต