Loading...

รพ.ธรรมศาสตร์ฯ คืนรอยยิ้มให้ผู้สูงวัย พลิกมิติใหม่นวัตกรรม “ผ่าตัด” ข้อเข่าเสื่อม

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมจะไม่น่ากลัวอีกต่อไป เพราะนวัตกรรมการระงับปวดจากผู้เชี่ยวชาญข้อเข่าและข้อสะโพก รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ที่จะมาช่วยคืนรอยยิ้มให้ผู้ป่วย

วันพุธที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2562

  

       “ปวดเข่า” เป็นอีกหนึ่งโรคประจำตัวของผู้สูงวัย ยิ่งปล่อยนานวันยิ่งปวดมากขึ้น ศักยภาพในการเดินลดลง และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตคนไทย การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมนับเป็นแนวทางหนึ่งในการรักษา แต่ก็ถูกมองว่าน่ากลัว ต้องทนทุกข์ทรมานหลังจากผ่าตัด ใช้เวลาพักฟื้นที่บ้านอีกหลายเดือนกว่าจะเดินได้ปกติ ทำให้ผู้ป่วยหลายคนตัดใจไม่เข้ารับบริการ

        เมื่อ 5-6 ปีก่อน ได้มีการคิดค้นนวัตกรรมการระงับปวดจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมของแผนกกระดูกและข้อ (ORTHOPAEDICS) โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ทำให้คนไข้เปลี่ยนใจยินดีเข้าคิวผ่าตัดข้อเข่าในแผนกนี้จนแทบไม่ว่างเว้น จากการบอกต่อ ๆ กัน ของคนไข้ว่าผ่าแล้วสบายมาก

        รศ.นพ.ณัฐพล ธรรมโชติ ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อเข่าและข้อสะโพก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากายภาพ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ผู้คิดค้นนวัตกรรมเทคนิคระงับปวด เป็นบุคลากรที่ถูกจองตัวจากคนไข้หลายร้อยรายต่อปีเพื่อให้ทีมของแพทย์ท่านนี้ผ่าตัดให้

        รศ.นพ.ณัฐพล เล่าว่า หลายปีมาแล้วที่ต้องเห็นผู้ป่วยเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมชนิดรุนแรง รับการผ่าตัดเอาผิวข้อเข่าที่สึกออก แล้วทดแทนด้วยผิวข้อเข่าเทียม แต่ปรากฏว่าหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเสร็จ คนไข้บางส่วนมีความเจ็บปวดทรมานหลังจากออกจากโรงพยาบาล และไม่ยอมบริหารเข่า ทำให้โรคนี้หายช้ากว่าความเป็นจริง

        ถึงแม้จะมีเทคนิคการระงับความเจ็บปวดหลาย ๆ รูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการฉีดยาชาทางช่องไขสันหลัง (การบล็อกหลัง) การฉีดยาชารอบเส้นประสาท การฉีดยาชาทางช่องเหนือดูรา รวมถึงการฉีดยาผสมหลายชนิดรอบข้อเข่า ซึ่งช่วยระงับปวดได้ดีในระยะแรกที่ผู้ป่วยยังอยู่ในโรงพยาบาล จนสามารถย่นระยะเวลานอนโรงพยาบาลจากเดิมประมาณ 1 สัปดาห์เหลือเพียง 3 - 4 วันเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ป่วยเกินกว่า 50% ที่มีความเจ็บปวดระดับปานกลาง - มาก หลังกลับไปพักฟื้นที่บ้าน ทำให้บางรายไม่ได้รับผลการผ่าตัดที่น่าพึงพอใจ

        จนกระทั่ง รศ.นพ.ณัฐพล ได้คิดค้นเทคนิคใหม่เป็นวิธีการลดความเจ็บปวดโดยจะฉีดยาสเตียรอยด์ที่ชื่อว่า “ไตรแอมซิโนโลน อะเซโตไนด์” เข้าทางสายที่อยู่เหนือช่องดูราที่คาไว้หลังจากระงับความรู้สึกด้วยวิธี “บล็อกหลังแบบใส่สาย” เมื่อฉีดยาเสร็จก็จะนำสายนี้ออกไป พบว่าสามารถช่วยลดระดับความเจ็บปวดได้ประมาณ 30 - 40% ในช่วงเกือบ 2 เดือนหลังผ่าตัด

        โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นอย่างดี อีกทั้งโรงพยาบาลยังเน้นความเป็นแพทย์เฉพาะทางและมีทุนสนับสนุน วิจัย และพัฒนา เพื่อต่อยอดนวัตกรรมการรักษาต่าง ๆ พร้อมส่งเสริมให้นำผลงานที่คิดขึ้นเป็นคนแรกนี้ไปตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศ (Journal of Bone and Joint Surgery-American Volume) นอกจากนี้ยังได้รับการคัดเลือกให้ไปนำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการข้อเข่าของสหภาพยุโรปเมื่อปี 2561 (European Knee Society 2018) เป็นการพิสูจน์นวัตกรรมว่าได้ผลจริง

        นอกจากนั้น ด้วยสภาพแวดล้อมการทำงานแบบสหสาขาวิชาชีพ ทั้งหมอผ่าตัด หมอวิสัญญี หมอโรคหัวใจและผู้ช่วยผ่าตัดรวม 5 - 6 คน ส่งผลให้ผู้ป่วยหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมที่ได้รับเทคนิคการระงับความเจ็บปวดแบบใหม่นี้ เดินหน้าตามเป้าหมาย ทางทีมงานผ่าตัดได้เริ่มใช้เทคนิคนี้ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงวันนี้ ผ่านมา 5 ปีมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาและระงับปวดด้วยเทคนิคนี้ประมาณ 500 ราย ซึ่งได้ผลการรักษาที่ดีและไม่มีภาวะแทรกซ้อน

        โดย รศ.นพ.ณัฐพล ย้ำว่า ผู้ป่วย 90% สามารถใช้เทคนิคระงับปวดด้วยวิธีการนี้ได้หมด ยกเว้นเป็นคนไข้ที่เคยผ่าตัดหลังมาก่อน จะใช้วิธีการนี้ไม่ได้ รวมไปถึงคนไข้ที่ไม่พร้อมผ่าตัด เช่น เป็นโรคหัวใจขั้นรุนแรง ดังนั้นในภาพรวมแล้วเทคนิคใหม่นี้ทำให้คนไข้สามารถผ่าเข่าทั้งสองข้างได้พร้อมกัน ประสิทธิภาพในการรักษาคนไข้ที่มีอาการขาโก่ง หรือขาผิดรูป จึงได้ผลดีมาก

        และเมื่อได้รับการตอบรับที่ดีในยุคสังคมผู้สูงวัย การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมจึงกลายเป็น Product Champion ของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ และกำลังมีแผนจัดตั้งศูนย์ข้อเข่าและข้อสะโพกขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ซึ่งจะเปิดดำเนินการเดือนตุลาคม 2563 ขณะนี้อยู่ระหว่างระดมเงินเพื่อทำให้โครงการนี้เป็นจริง ส่งผลให้การรักษาของโรงพยาบาลเป็นระบบมากขึ้น รองรับผู้ป่วยโรคข้อเข่าข้อสะโพก รวมถึงผู้ป่วยข้อสะโพกหักได้ 3,000 รายต่อปี และรองรับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าข้อสะโพกเทียมได้ราว 800 - 900 รายต่อปี

        นอกจากนี้ ยังพร้อมสร้างศักยภาพทางด้านการเรียนการสอนให้กับแพทย์รุ่นใหม่เกิดกระบวนการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ตรวจก่อนรักษาไปจนถึงหลังการรักษา ปิดข้อผิดพลาดและลดความเสี่ยงในการดูแลผู้ป่วยลงได้

        แต่ละปี ประเทศไทยมีคนไข้ผ่าตัดข้อเข่าน้อยมากราว 15,000 - 20,000 รายเท่านั้น เทียบกับประเทศอื่น ๆ เช่น สหรัฐ 300,000 - 400,000 ราย เกาหลี 80,000 - 100,000 ราย และญี่ปุ่นมากกว่า 100,000 ราย สาเหตุเพราะคนไข้กลัวเจ็บ กลัวต้องพักฟื้นนาน ผ่าแล้วเดินไม่ได้ อาจมีบางรายไปผ่าตัดและเกิดการผิดพลาด ได้รับประสบการณ์ไม่ดีและบอกต่อกันมา ดังนั้น จึงมั่นใจว่านวัตกรรมนี้จะช่วยให้คนไข้เกิดความมั่นใจ ไม่กลัวและกล้าเข้ารับการรักษามากขึ้น 

        นี่คือความสำเร็จของนวัตกรรมใหม่ โดย รศ.นพ.ณัฐพล ธรรมโชติ ภายใต้การสนับสนุนของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่สามารถสร้างความหวัง ให้กับผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกครั้งและยังคงเดินหน้า คิดค้น วิจัย พัฒนาต่อไป เพื่อตอบโจทย์การรักษาประชาชนให้ดีที่สุด