Loading...

สารนิพนธ์ Coreหนัง นำร่องผลิต ‘เสียงบรรยายภาพ’ เพื่อผู้พิการทางการมองเห็นรับชมภาพยนตร์อย่างเท่าเทียมเป็นครั้งแรก

 

คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน จัดเทศกาลแสดงผลงานสารนิพนธ์นักศึกษา “Coreหนัง X” ครั้งที่ 10 เผยแพร่ผลงานภาพยนตร์และนิทรรศการภาพถ่าย พร้อมจัดทำเสียงบรรยายภาพ เปิดโอกาสผู้พิการทางการมองเห็นร่วมรับชมภาพยนตร์อย่างเท่าเทียม

วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2562

  

          ผศ.อารดา ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการจัดเทศกาลแสดงภาพยนตร์สารนิพนธ์ Coreหนัง ว่า การจัดงาน Coreหนัง มีจุดเริ่มต้นจากนักศึกษากลุ่มวิชาภาพยนตร์และภาพถ่ายรหัส 43 ได้ร่วมตัวกันผลิตและฉายภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่อง “กั๊กกะกาวน์” และจัดฉายในโรงภาพยนตร์ได้สำเร็จในปี 2547 จนเกิดการจัดฉายภาพยนตร์และจัดแสดงภาพถ่ายสารนิพนธ์อีก 9 ครั้ง ภายใต้ชื่องาน “Core หนัง” และในปี 2562 นักศึกษากลุ่มภาพยนตร์และภาพถ่ายได้จัดแสดงอีกครั้งเป็นปีที่ 10 ภายใต้ชื่องาน “Core หนัง X” ประกอบด้วยผลงานภาพยนตร์ทั้งหมด 11 เรื่อง และนิทรรศการภาพถ่าย 2 โครงการ เพื่อเป็นการเผยแพร่ผลงานสู่สาธารณชน นักศึกษาจะได้รับประสบการณ์และคำแนะนำจากผู้คว่ำหวอดในวงการ รวมถึงรุ่นพี่ศิษย์เก่า เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพต่อไป

          สำหรับในปีนี้เทศกาลแสดงผลงานสารนิพนธ์ มีความพิเศษในการจัดทำเสียงบรรยายภาพสำหรับผู้พิการทางการมองเห็น 8 เรื่อง ซึ่งเป็นความร่วมมือกันครั้งแรกระหว่างกลุ่มวิชาวิทยุและโทรทัศน์ และกลุ่มวิชาภาพยนตร์และภาพถ่าย ที่นักศึกษาและอาจารย์ได้แสดงฝีมือการเขียนบท และการลงเสียง Audio Description ในงานภาพยนตร์ โดยเป็นครั้งแรกสำหรับผลงานภาพยนตร์ของนักศึกษาในประเทศไทยที่ได้มีการจัดทำขึ้น พร้อมกันนี้ยังได้รับความร่วมมือจากบริษัท กล่องดินสอ จำกัด ซึ่งเป็นผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Pannana โดยใช้แอปพลิเคชันนี้เป็นแพลตฟอร์มในการรับฟังเสียงบรรยายภาพของคนพิการทางการมองเห็นร่วมไปกับการรับชมภาพยนตร์ในเทศกาลครั้งนี้ ทำให้ผู้พิการทางมองเห็นเข้าถึงภาพยนตร์ได้เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป โดยภายในงานได้รับความสนใจจากผู้พิการทางสายตาเข้าชมภาพยนตร์เป็นจำนวนมาก

          คุณชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า รู้สึกมีความยินดีเป็นอย่างมากสำหรับการจัดงานเทศกาลแสดงผลงานสารนิพนธ์ในครั้งนี้ อาจได้ว่ามีประวัติศาสตร์ร่วมกันกับตัวเองเนื่องจากเป็นศิษย์เก่าจากคณะวารสารศาสตร์ฯ อยากจะเล่าให้น้อง ๆ และผู้มีเกียรติที่มาร่วมงานในครั้งนี้ว่า สมัยนั้นเอกภาพยนตร์ฯ ยังไม่เป็นที่นิยม ต้องยอมรับว่าประสบการณ์การใช้เครื่องไม้เครื่องมือยังมีน้อยมาก แต่สิ่งหนึ่งที่ได้รับจากที่นี่คือเพื่อน และพื้นฐานทางด้านภาพยนตร์ ส่วนตัวอยากเป็นคนทำหนังแต่ด้วยพื้นที่ในสมัยนั้นยังจำกัด นอกจากนี้ เราเรียนรู้จากความจำกัดด้วยกล้องถ่ายภาพยนตร์มีไม่เพียงพอ อยากฝากถึงน้อง ๆ นักศึกษาทุกคนที่ทำหนังว่า หนังธีสิสอาจไม่ใช่มาสเตอร์พีซแต่เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ ถือเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่ก้าวอื่น ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เราเรียนรู้จากสิ่งข้อผิดพลาดได้เป็นอย่างดี

          นางสาวณัฐพร วงษ์ศรีเพ็ง โปรดิวเซอร์การจัดเทศกาลแสดงผลงานสารนิพนธ์นักศึกษา “Coreหนัง X” ครั้งที่ 10 กล่าวถึงการจัดเทศกาลแสดงผลงานสารนิพนธ์นักศึกษาในครั้งนี้ว่า หากกล่าวถึงงาน Coreหนัง 2019 หลายคนคิดว่าเป็นแค่เทศกาลภาพยนตร์ขนาดเล็กที่แสดงผลงานสารนิพนธ์ของนักศึกษา ซึ่งก็เป็นความจริง แต่อยากจะกล่าวเพิ่มเติมว่างานที่ทำโดยนักศึกษานั้นเป็นงานที่มีความจริงใจและบริสุทธิ์มาก ๆ สิ่งที่ถูกเล่าผ่านงานนักศึกษาคือสิ่งที่เจ้าของงานกำลังอยากบอกใครบางคนอยู่อาจเป็นเพื่อน เป็นครอบครัวหรือเป็นสังคมก็ได้ เพราะความเป็นนักศึกษาที่ไม่ได้ถูกจับตามองทำให้พวกเขากล้าที่จะเล่าอะไรบางอย่างออกมา สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเสน่ห์ของเทศกาลภาพยนตร์นักศึกษา และเป็นสิ่งที่ทำให้คนทั่วไปควรที่จะมาดูงานนักศึกษาด้วยเช่นกัน

          การทำเสียงบรรยายภาพเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้พิการทางการมองเห็นได้มีส่วนร่วมในสังคมมากขึ้น เพราะความจริงแล้วคนเหล่านี้ก็เป็นคนปกติ เพียงแต่ลักษณะทางกายภาพเราอาจไม่เหมือนกัน จึงอาจต้องหาจุดกึ่งกลางและความเข้าใจในธรรมชาติของกันและกัน การจัดเทศกาลแสดงผลงานสารนิพนธ์ในครั้งนี้ทำให้เห็นแล้วว่าความต่างที่เราและเขามีไม่ได้เป็นข้อจำกัดของการใช้ชีวิตร่วมกัน เพราะในขณะที่ภาพยนตร์ฉายทั้งคนปกติและคนพิการก็นั่งดูภาพยนตร์อยู่ข้าง ๆ กันได้ ไม่ต้องมีการแบ่งแยกโรงภาพยนตร์แล้วก็ไม่ได้มีการสร้างความลำบากแต่อย่างใด