Loading...

เราจะพัฒนาการศึกษาให้เยาวชนไทย พร้อมรับมือโลกในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างไร?

 

อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ธรรมศาสตร์ แนะ 3 ทักษะ “การประเมินข้อมูล-การสื่อสาร-เชิงเทคนิค” เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็กในศตวรรษที่ 21

วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ.2564

     “เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า” ประโยคที่บ่งบอกถึงความสำคัญในการสร้างพลเมืองที่ดีให้เริ่มต้นตั้งแต่วัยเยาว์ คำถามคือการสร้างเด็กที่ดีเพื่อให้เป็นพลเมืองที่ดีต้องทำอย่างไร หลายท่านอาจพุ่งเป้าคำตอบของคำถามนี้ไปที่เรื่องการศึกษาเป็นอันดับแรก เพราะการศึกษาเป็นสิ่งที่บ่มเพาะให้เด็กมีพัฒนาการและความรู้ตามที่เขาสมควรได้รับ และนำสิ่งที่ได้จากการศึกษาไปพัฒนาประเทศต่อในอนาคต อีกทั้งปัจจุบันคือโลกของศตวรรษที่ 21 ที่ไม่ว่าอะไรก็หมุนไปเร็วเกินกว่าช่วงศตวรรษที่ 20 ที่ผ่านมา เราควรจะทำอย่างไรให้การศึกษาเหมาะสมกับปัจจุบัน ให้เด็กที่จะไปเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า เตรียมพร้อมกับโลกศตวรรษที่ 21 เพื่อให้มีพัฒนาการที่ดีและเหมาะสมจนสามารถเป็นพลเมืองที่ดีตามที่คาดหวัง

     ผศ.ดร.ฐิติกาญจน์ อัศตรกุล ประธานหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คงต้องบอกก่อนว่าศตวรรษที่ 21 ต่างจากศตวรรษที่ 20 อย่างไร ทำไมคนถึงต้องมากระตือรือร้นในการพยายามปรับเปลี่ยนเรื่องการศึกษา หากเราลองเปรียบเทียบกัน ศตวรรษที่ 20 นั้นเป็นยุคที่ค่อนข้างคาดการณ์สถานการณ์ในอนาคตได้ง่ายกว่า ไม่ได้ซับซ้อนมาก คุณเรียนสิ่งนี้เพื่อไปประกอบอาชีพแบบนี้ แต่ว่าปัจจุบันเศรษฐกิจ สังคม โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก้าวกระโดดของการพัฒนาเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ข้อมูลความรู้ต่าง ๆ เข้าถึงได้ง่ายขึ้น โลกเชื่อมโยงกันมากขึ้น เราดูตัวอย่างจากโควิดก็ได้ ปกติแล้วโรคระบาดไม่ได้แพร่กระจายไปในต่างประเทศได้เร็วแบบนี้ แต่ในปัจจุบันมีการก็กระจายทั่วโลกอย่างรวดเร็ว เพราะว่ามันเคลื่อนย้ายได้รวดเร็วขึ้นและสะดวกมากขึ้น เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า อนาคตจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

     ระบบที่พยายามบ่มเพาะคน เพื่อที่จะให้เป็นคนหรือประชากรที่ขับเคลื่อนสังคมต่อไป ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดก็คือ “ระบบการศึกษา” จึงเกิดคำถามต่อว่าเราจะพัฒนาคนให้อยู่ในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างไร และอะไรเป็นทักษะที่จำเป็น

     การศึกษาในศตวรรษที่ 21 นั้น ต่างจากศตวรรษที่ 20 พอสมควร ในอดีตเราเรียน เราเน้นท่องจำ เราเชื่อว่าคนที่เป็นคุณครูหรือคนที่เป็นผู้ใหญ่กว่ามีความรู้มากกว่า เพราะว่า ณ ตอนนั้นอาจจะเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึง Resource แหล่งความรู้ต่าง ๆ แต่เมื่อสังคมเปลี่ยน มีอินเทอร์เน็ตเข้ามา การเข้าถึงองค์ความรู้จึงง่ายมาก ๆ แค่คุณกดคลิกในอินเทอร์เน็ต มันแสดงมาให้หมดเลย ดังนั้นพอข้อมูลมันเยอะ ทักษะสำคัญที่จำเป็นต้องมีเลยคือ 1. “ทักษะการประเมินข้อมูล” หรือว่าการที่เราจะตัดสินว่าข้อมูลไหนน่าเชื่อถือ ซึ่งทักษะนี้ มันจะเกี่ยวข้องกับทักษะการคิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการคิดเชิงวิเคราะห์หรือว่าการคิดแก้ปัญหา

     อีกก้อนหนึ่งอาจจะใช้ศัพท์เรียกว่า Soft Skills” เพราะว่าในยุคปัจจุบัน คนเราต้องทำงานกับคนด้วยกันเองเพิ่มขึ้น เราไม่สามารถจะอยู่แบบปิดได้ หรืออยู่แบบไม่เจอใครเลย เพราะฉะนั้นทักษะที่จำเป็นอีกสิ่งหนึ่งคือ 2. “ทักษะการสื่อสาร” Communication หรือว่าการทำงานเป็นทีม การทำงานร่วมกับผู้อื่น หรือจะเรียกว่า “Socio-Emotional Skills” คือทักษะสังคมและอารมณ์

     และสุดท้ายที่ยังจำเป็นอยู่ก็คือ 3. “ทักษะในเชิงเทคนิค Technical Skills ความเชี่ยวชาญในการทำงานเฉพาะอย่าง แต่ว่าก้อนนี้ก็จะไม่ได้ถูกสอนเหมือนในอดีตว่าเด็กจะต้องรู้ผ่านการฟังบรรยายเท่านั้น แต่ว่าเมื่อเด็กสนใจอะไรแล้ว เด็กจะไปพัฒนาเทคนิคหรือว่าทักษะเฉพาะทางของเด็กได้ด้วยตัวเองอย่างไร อันนี้คิดว่าเป็น 3 ทักษะหลัก ๆ ที่คิดว่ายังจำเป็นอยู่ที่จะต้องมีในการศึกษาสำหรับศตวรรษที่ 21

     “ส่วนคำถามที่ว่าวิธีการสอนแบบใดเหมาะสมในศตวรรษที่ 21 อาจารย์รู้สึกว่าคำถามแบบนี้ต้องระวังเลย เพราะว่าสังคมไทยเองกำลังตกร่องกับคำว่า “วิธีการ” ติดกับดักคำว่า “เทคนิค” “วิธีไหนดีที่สุด” “เทคนิคไหนดีที่สุด” เราสังเกตว่าเมื่อพูดถึงวิธีการสอนปัจจุบัน มันมีศัพท์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Problem-based Learning, Project-based Learning, Phenomenon-based Learning, Inquiry-based learning, Game-based Learning, Active Learning ศัพท์พวกนี้มีเยอะมาก และระดับนโยบายก็รับวิธีการสอนเหล่านี้จากต่างประเทศเข้ามา คนส่วนใหญ่ก็มุ่งเอาศัพท์พวกนี้ไปใช้ในเชิงเทคนิค แต่ไม่เข้าใจจริง ๆ ว่า พวกเทคนิคเหล่านี้ แท้จริงแล้วเป้าหมายมันคืออะไร ปลายทางของวิธีการพวกนี้ สุดท้ายเขาแค่ต้องการให้เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้หรือเปล่า โดยที่คุณจัดการเรียนการสอนวิธีใดก็ได้ หรือว่าทำให้เด็กเข้ารู้สึกเป็นเจ้าของการเรียนรู้ เขามีส่วนร่วมกับการเรียนรู้นั้นอย่างเต็มที่ ไม่ใช่แค่ว่านั่งอยู่เฉย ๆ เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่ติดกับอยู่แค่ที่เทคนิคหรือวิธีการ เราก็จะไม่ปฏิเสธวิธีการสอนแบบดั้งเดิมหรือการบรรยายเช่นกัน เราก็จะเชื่อว่าการบรรยายเองก็จะมีประโยชน์ในบางบริบท” ผศ.ดร.ฐิติกาญจน์ กล่าวทิ้งท้าย