Loading...

‘แสงสีฟ้า’ อันตราย! เร่งจอประสาทตาเสื่อม จักษุแพทย์ ธรรมศาสตร์ แนะพักสายตาตามสูตร 20-20-20

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัจจุบันเราต้องนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ทำให้เรามีช่วงเวลาในการสัมผัส ‘แสง’ มากขึ้น หนึ่งในคลื่นแสงนี้ที่ต้องพบเจอคือ ‘แสงสีฟ้า’

วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ.2563

  

          ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัจจุบันเราต้องนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือบางคนเล่นโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน ทำให้เรามีช่วงเวลาในการสัมผัส ‘แสง’ มากขึ้น หนึ่งในคลื่นแสงนี้ที่ต้องพบเจอคือ ‘แสงสีฟ้า’ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของจอประสาทตาเสื่อมเร็วกว่าอายุที่ควร

          วันนี้ ศ.วุฒิคุณ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ หัวหน้าศูนย์ตาธรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขออาสามาให้ข้อมูลและคำแนะนำเพื่อรักษาดวงตาคู่สวยของเราให้มีสุขภาพตาที่ดีค่ะ

แสงสีฟ้ามาจากไหน?

          ‘แสงสีฟ้า’ เป็นหนึ่งในความยาวคลื่นที่ประกอบกันเป็นแสงสีขาวที่เราเห็นอยู่ปกติ ซึ่งเป็นแสงที่มาจากดวงอาทิตย์ ถ้าเราเอาไปผ่านปริซึม หรือผ่านละอองน้ำในอากาศ จะเห็นเป็นสีรุ้ง โดยความยาวคลื่นของแสงเริ่มตั้งแต่ช่วงสีม่วง สีคราม สีน้ำเงิน สีเขียว สีเหลือง สีแสด และสีแดง แสงเหล่านี้ยังมาจากทั้งจอคอมพิวเตอร์ จอโทรศัพท์มือถือ รวมไปถึงแสงไฟนีออนตามบ้านเรือนด้วย

ทำไมแสงสีฟ้าถึงอันตราย?

           เพราะ ‘แสงสีฟ้า’ ค่อนข้างมีพลังงานสูง ถ้าเทียบกับความยาวคลื่นของแสงในช่วงอื่น ๆ แสงสีฟ้าจึงสามารถทะลุทะลวงอวัยวะอย่างดวงตาได้ตั้งแต่กระจกตา เลนส์แก้วตา ไปจนถึงจอประสาทตาที่อยู่ลึกที่สุดและสำคัญที่สุดได้ค่อนข้างเยอะ

เราจะป้องกันแสงสีฟ้าได้อย่างไร?

          ควรป้องกันแสงแดดที่จะเข้าสู่ดวงตา หลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่มีแสงจ้ามาก ๆ หรือหากจำเป็นต้องทำงานกลางแดด ก็ต้องป้องกันให้แสงเข้าสู่ดวงตาเท่าที่จำเป็น เช่น การถือร่ม การใส่หมวกที่มีปีก หรือการใช้แว่นกันแดดที่ได้มาตรฐาน เพราะแสงทุกความยาวคลื่นก็อาจจะทำอันตรายกับส่วนของดวงตาแตกต่างกัน แต่แสงสีฟ้าเป็นแสงที่มีความยาวคลื่นที่มีพลังงานค่อนข้างสูงจึงอันตรายมากที่สุด

แว่นกรองแสงสีฟ้าสำคัญมั้ย?

          แว่นที่กรองแสงสีฟ้า อาจไม่ได้มีความจำเป็นที่สุด เพราะแสงทุกคลื่นสีก็มีอันตรายต่อดวงตาเช่นกัน การจัดสิ่งแวดล้อมและการกำหนดระยะเวลาการใช้สายตาอย่างเหมาะสม จะช่วยป้องกันอันตรายและช่วยรักษาสุขภาพตาของเราได้ ส่วนการทดสอบแว่นกรองแสงสีฟ้านั้น ค่อนข้างยาก ไม่สามารถมองแล้วรู้ได้เลยว่ากรองหรือไม่กรอง เนื่องจากการพิสูจน์จะต้องใช้เครื่องมือเฉพาะด้าน และไม่สามารถหาได้โดยทั่วไป

คำแนะนำในการดูแลดวงตาคู่สวย

     1. แนะนำสูตรการใช้สายตาระหว่างใช้คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ คือ 20-20-20 แปลว่า ทุก ๆ 20 นาที ของการใช้สายตามองใกล้ ต้องหยุดพัก 20 วินาที โดยการหยุดพัก หมายถึงการมองออกไปไกล ๆ อย่างน้อย 20 ฟุต ก็จะช่วยลดการเพ่งของดวงตาได้

     2. ปรับสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับดวงตา เช่น ห้องที่เราจะใช้สายตานั้น ไม่ควรจะสว่างหรือมืดจนเกินไป ยกตัวอย่างเช่น การปิดไฟเล่นโทรศัพท์มือถือ จะเป็นอันตรายต่อดวงตามากกว่าการเล่นในห้องที่เปิดไฟ เพราะในช่วงที่ห้องมืด ม่านตาเราจะขยาย ทำให้แสงเข้าสู่ดวงตามากเกินจำเป็น

     3. เราไม่ควรนั่งใช้สายตาอยู่ในพื้นที่ที่ลมพัดแรง พัดลมเป่า หรือลมแอร์เป่า จะทำให้เกิดอาการตาแห้ง และทำให้เกิดอาการล้าและเมื่อยดวงตาได้ง่าย

     4. ควรตรวจสุขภาพดวงตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไป เป็นช่วงที่มีความเสื่อมของร่างกาย เสี่ยงต่อการเกิดต้อกระจก ต้อหิน และจอประสาทตาเสื่อม หรือในคนที่มีกรรมพันธุ์เกี่ยวกับโรคทางดวงตา หรือคนที่ป่วยเป็นโรคอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน หรือรับประทานยาบางชนิดที่มีผลข้างเคียงต่อดวงตา ก็อาจจะต้องไปตรวจก่อนอายุ 40 ปี

          ดวงตาเป็นอวัยะที่สำคัญและบอบบาง เราควรที่จะใช้มันอย่างถูกต้องและทะนุถนอม และหากมีปัญหาเกี่ยวกับดวงตาก็ควรรีบไปพบกับจักษุแพทย์เพื่อรักษาอย่างทันท่วงที