Loading...

จากภาพประวัติศาสตร์ สู่ ‘อนุสาวรีย์ติดดิน’

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดสร้างอนุสาวรีย์ของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ขึ้นเป็นปฐม ตั้งอยู่หน้าอาคารอุทยานการเรียนรู้ ป๋วย 100 ปี

วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2562

  

          “ภาพถ่ายภาพหนึ่ง เมื่อเห็นครั้งใดก็ให้รู้สึกสะเทือนใจและอดคิดไปถึงเรื่องราวที่ผ่านมาไม่ได้  ภาพที่ว่านี้เป็นภาพ ‘อาจารย์ป๋วย’ กับ ‘อาจารย์ปรีดี’ นั่งกันอยู่เงียบ ๆ บนม้านั่งเหงา ๆ ไม่แน่ใจว่าเป็นม้านั่งที่อังกฤษหรือที่ฝรั่งเศส  ไม่มีใครทราบว่าทั้งสองกำลังคิดอะไร คนหนึ่งเป็นอาจารย์ คนหนึ่งเป็นศิษย์ ทั้งศิษย์และอาจารย์ต่างก็มีความใฝ่ฝันแสนงาม หวังอยากเห็นแผ่นดินบ้านเกิดมีความสุขสมบูรณ์ มีเสรีภาพ มีประชาธิปไตย มีความงอกงามทางความคิดสร้างสรรค์ ทั้งอาจารย์และศิษย์ที่นั่งอยู่ด้วยกันบนม้านั่งเหงา ๆ ตัวนี้ ดูแล้วก็เหมือนเป็นครึ่งหนึ่งของกันและกัน มีอุดมคติและอุดมการณ์ตรงกันที่ต้องการสร้างดุลยภาพและภราดรภาพให้กับ ‘บ้านเกิดเมืองนอน’ ของตน แต่แล้วในที่สุดกลับต้องไปตายในบ้านเมืองของคนอื่น”

          นี่เป็นส่วนหนึ่งจากปาฐกถา 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิษย์เก่าคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ที่กล่าวถึงภาพประวัติศาสตร์ของสองมหาบุรุษในภาพนี้

          ภาพประวัติศาสตร์ภาพนี้ จริย์วัฒน์ สันตะบุตร ถ่ายที่ม้านั่งบริเวณหอพัก Beit Hall ของ Imperial College กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในงานประชุมของสามัคคีสมาคม ในเดือนกรกฎาคม 2520 ที่อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้รับเชิญมาแสดงปาฐกถา

          นี่เป็นหนึ่งในไม่กี่ภาพ ที่ผู้ประศาสน์การของมหาวิทยาลัย ถ่ายคู่กับศิษย์เก่าธรรมศาสตร์คนแรกที่ได้รับตำแหน่งอธิการบดี  แต่นับได้ว่าเป็นภาพที่ทรงพลังมากที่สุดในหมู่ผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็ว่าได้

          ในวาระ 100 ปีชาตกาลของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ 9 มีนาคม 2559 ที่ท่านได้รับการยกย่องจากองค์การ UNESCO ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้สร้างอนุสรณ์สถานสำหรับวาระพิเศษนี้ออกมาเป็น อุทยานการเรียนรู้ ป๋วย 100 ปี ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์

          อุทยานการเรียนรู้ ป๋วย 100 ปี ประกอบด้วยพื้นที่ 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ ตัวอาคาร และสวนสาธารณะ ในส่วนแรกได้รับจัดสรรงบประมาณมาจากภาครัฐและใช้เงินของมหาวิทยาลัยจ่ายเพิ่มเติม รวมทั้งสิ้น 933,850,000 บาท นอกจากคอนเสิร์ตฮอลล์ขนาด 630 ที่นั่งแล้ว ยังมีห้องฉายภาพยนตร์ขนาด 125 ที่นั่ง ห้องสมุดประชาชน หอจดหมายเหตุ ห้องนิทรรศการหมุนเวียน Co-working Area และพื้นที่ชั้นหลังคาที่เป็นพื้นที่สีเขียว

          แต่ในส่วนของสวนสาธารณะไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนแต่อย่างใด ทางมหาวิทยาลัยจึงระดมทุนขึ้นมีเป้าหมายที่ 150 ล้านบาท เพื่อนำมาสร้างสวนสาธารณะเพิ่มเติมจากตัวอาคาร ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะมีพื้นที่รวมเกือบ 100 ไร่ อนึ่ง ท่านที่สนใจสามารถบริจาคสมทบทุนได้ทางบัญชี “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (100 ปีอาจารย์ป๋วย)” ธนาคารกรุงเทพ เลขที่ 091-0-16888-9 ซึ่งนำไปลดหย่อนภาษีได้ 200% ทั้งนี้ โปรดส่งข้อมูลการบริจาคมายังLINE: pueypark หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ 08 3331 6000 (แบบแสดงความจำนงบริจาคเงินเพื่อสร้าง “สวนป๋วย”)

          ซึ่งอุทยานการเรียนรู้ ป๋วย 100 ปี แห่งนี้ ไม่เพียงเน้นการเรียนรู้ในทางความยั่งยืน และศิลปวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ทางด้านประวัติศาสตร์และการเมืองอีกด้วย กล่าวคือ นอกจากจดหมายเหตุในอาคารแล้ว ในพื้นที่ของ “สวนป๋วย” สวนสาธารณะเพื่อประชาชน จะมีการปั้นอนุสาวรีย์ของบุคคลที่ควรรู้จักท่านต่างๆ ไว้เป็นพื้นที่เรียนรู้ต่อไปด้วย

          ดังนั้น ในวาระแรกนี้ มหาวิทยาลัยจึงจัดสร้างอนุสาวรีย์ของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ขึ้นเป็นปฐม ตั้งอยู่หน้าอาคารอุทยานการเรียนรู้ ป๋วย 100 ปี ให้เป็นอนุสรณ์ถึงคุณูปการของท่านทั้งสองที่ได้สร้างไว้ให้กับสังคมไทย ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา และโดยเฉพาะกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของเรา  สำหรับประติมากรผู้สร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ คือ มานพ สุวรรณปิณฑะ

          สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทราธิบดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา จะเสด็จฯ มาเปิดอาคารอุทยานการเรียนรู้ ป๋วย 100 ปี ในวันที่ 10 ธันวาคมนี้ หลังจากนั้น จึงเปิดให้บริการสำหรับประชาชนทั่วไปในส่วนของพื้นที่สีเขียวบนหลังคา และส่วนอื่น ๆ ในตัวอาคารเป็นลำดับถัดไป จึงขอเชิญชวนศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ทุกท่าน มารำลึกถึงปูชนียาจารย์ทั้งสองท่านของเรา ณ อาคารแห่งใหม่นี้

บทความโดย นายกษิดิศ อนันทนาธร