Loading...

เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษการแพทย์ครบวงจร EECmd ธรรมศาสตร์พัทยา กับเป้าหมายการพัฒนาในอนาคต

เป้าหมายของการพัฒนาพื้นที่ในอนาคตของธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา มุ่งสู่การเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษการแพทย์ครบวงจร Smart City และ Smart Campus

วันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ.2563

  

          เป้าหมายของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ตามนโยบายของ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ รศ.นพ.กัมมาล กุมาร ปาวา รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ วางให้ธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา เป็น Medical Hub สำหรับการแพทย์และสุขภาพแบบครบวงจร และเป็น Smart City, Smart Campus, Smart Sport และ Digital Hospital โดยใช้ AI ดำเนินงานในรูปแบบดิจิทัล

          ดร.ณัฐดนย์ พรรณุเจริญวงษ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์พัทยา เผยว่า ปัจจุบันการเข้ารับบริการทางการแพทย์ของไทยมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ตั้งเป้าเป็น Academic Hub, Medical Hub และ Service Hub ด้านการแพทย์อย่างครบวงจร ควบคู่กับการกำหนดยุทธศาสตร์การเป็น i-Campus @Pattaya เช่น สร้างป้ายรถเมล์อัจฉริยะ ถังขยะอัจฉริยะ มีระบบ Sensor ในการจัดการการเก็บขยะ การใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ผลิตพลังงานบริสุทธิ์ด้วย Solar Roof และ Float Solar cell และเป็นต้นแบบ Smart Campus ที่มีเป้าหมายที่จะไม่ใช้กระดาษ (Paperless Campus) ในอนาคต

          โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ตั้งอยู่บน “เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษการแพทย์ครบวงจร (EECmd) ธรรมศาสตร์พัทยา” มีเป้าหมายดำเนินงานให้เป็น Digital Hospital โดยใช้ software ต่าง ๆ มาช่วยในการดำเนินงาน เช่น Patience Application, Telecare , Electronic Medical Record, Beacon System @ Wifi มาใช้กับระบบบัตรคิว ระบบนำทางผู้ป่วยและผู้มารับบริการในโรงพยาบาล ตลอดจน IOT (Internet of Things) มี AI ทางการแพทย์ โดยใช้ Robotics ให้บริการแทน non-skill labor และในอนาคตจะมีการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมหุ่นยนต์ทางการแพทย์ (Medical Robot) รองรับการฝึกอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรของวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์

          ดร.ณัฐดนย์ กล่าวต่ออีกว่า การดำเนินงานของ Smart Campus หรือ Smart City ประกอบด้วย Smart Environment,  Smart Energy, Smart Mobility, Smart Living, Smart People เป็นต้น ส่วนการเรียนการสอนจะเน้น Advance Digital Learning Environment พร้อมกันนี้ ยังมีการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรนานาชาติและหลักสูตรทวิภาษา ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ที่มีความเข้มแข็งหลายหลักสูตร มีความพร้อมทั้งองค์ความรู้และบุคลากรที่จะเปิดการเรียนการสอนเพื่อผลิตบุคลากรที่มีประสิทธิภาพเข้าสู่ตลาดแรงงานให้สอดคล้องกับการเป็นพื้นที่ “เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษการแพทย์ครบวงจร (EECmd) ธรรมศาสตร์พัทยา” โดยมีหลักสูตรที่จะเปิดเพื่อรองรับ 6 คณะ ดังนี้

     1. คณะสหเวชศาสตร์ หลักสูตรกายภาพบำบัดสำหรับประชาชน (หลักสูตรระยะสั้น) สำหรับประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเบื้องต้นทางกายภาพบำบัดและการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างสุขภาพ หลักสูตรประกอบไปด้วยภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ระยะเวลาหลักสูตรประมาณ 1 – 3 เดือน

     2. คณะเภสัชศาสตร์ ปริญญาตรี 1 หลักสูตร คือ หลักสูตรวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ

     3. คณะวิศวกรรมศาสตร์ ปริญญาตรี 3 หลักสูตร ประกอบด้วย 1. หลักสูตรวิศวกรรมซอฟต์แวร์ 2. หลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์ และ 3. หลักสูตรวิศวกรรมเทคโนโลยียานยนต์

     4. วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ ปริญญาตรี 4 หลักสูตร ประกอบด้วย 1. หลักสูตรรังสีเทคนิค (New track) 2. หลักสูตรรังสีเทคนิค (จบ ม. 6) 3. หลักสูตรทัศนมาตร และ 4. หลักสูตรการแพทย์แผนไทย (บูรณาการ)

     5. คณะสาธารณสุขศาสตร์ ปริญญาตรี 1 หลักสูตร คือ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (ปรับปรุงจากหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย หลักสูตรปรับปรุง 2561)

     6. คณะทันตแพทยศาสตร์ วางแผนเปิดหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา ในส่วนของการปฏิบัติงานคลินิกทันตกรรมเฉพาะทางสาขา เช่น ทันตกรรมจัดฟัน รากฟันเทียม ทันตกรรมเพื่อความสวยงาม ศัลยศาสตร์ช่องปาก Digital Dentistry

          ทั้งนี้ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะเข้ามาดูแลการเรียนการสอนในรายวิชาพื้นฐาน ส่วนการฝึกงานในหลักสูตรต่าง ๆ นั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะส่งนักศึกษาเข้าฝึกงานในองค์กรและหน่วยงานในพื้นที่ภาคตะวันออก

          นอกจากนี้ ยังมีแผนจัดตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา เป็นศูนย์สอบภูมิภาค สำหรับการจัดสอบต่าง ๆ ซึ่งวางแผนร่วมมือกับหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยที่ให้บริการด้านการจัดสอบ 5 หน่วยงาน ได้แก่

     1. ศูนย์ทดสอบสมรรถนะแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสอบ SMART for Graduate Level หรือ Smart II เป็นการสอบวัดระดับความรู้ด้านการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน การทดสอบวัดสมรรถนะความเป็นผู้นำยุคหน้า (GREATS) และสอบความถนัดทางวิชาการ (GSAT)

     2. สถาบันภาษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสอบ TU-GET

     3. วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ จัดทดสอบ BMAT ทดสอบภาษาจีน และทดสอบ CPSQ

     4. วิทยาลัยโลกคดีศึกษา จัดทดสอบ IELTS

     5. คณะศิลปศาสตร์ จัดทดสอบภาษาญี่ปุ่น

          ในส่วนของความร่วมมือทางด้านวิชาการและพัฒนาความร่วมมือในรูปแบบต่าง ๆ กับหน่วยงานภายนอกนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างหารือและจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ดังนี้ 

     1. GISTDA ความร่วมมือเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรระยะสั้น แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ พัฒนาหลักสูตรจัดการเรียนการสอนและถ่ายทอดเทคโนโลยี วิจัย และสร้างนวัตกรรม เพื่อมุ่งพัฒนากำลังคน ในรูปแบบ Re-skill Up-skill และ New-Skill เพื่อตอบสนอง EEC

     2. DEPPA สำหรับจัดตั้งสถาบันการพัฒนาคนด้านดิจิทัล

     3. โรงพยาบาลระยอง ความร่วมมือผลิตแพทย์ หลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์

          มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ยังตั้งเป้าการเป็นศูนย์วิจัยแห่งความเป็นเลิศ และการบริการสังคมในพื้นที่ภาคตะวันออกอีกด้วย