Loading...

คุยกับ “อาจารย์ศิริวรรณ” นักประดิษฐ์หญิงรางวัล GWIIN 2019

 

อีกหนึ่งผู้หญิงเก่งของธรรมศาสตร์ พูดคุยกับ ศ.ดร.ทพญ.ศิริวรรณ สืบนุการณ์ เจ้าของรางวัล “นักประดิษฐ์หญิง” จาก Global Women Inventors & Innovators Network

วันพุธที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2562

  

          ผลงานสิ่งประดิษฐ์ ผลงานวิจัย หรือนวัตกรรมต่าง ๆ ที่สร้างสรรค์ขึ้นมานั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาใดก็ตาม หรือบุคคลทั่วไป ล้วนต้องใส่ความคิดสร้างสรรค์ การค้นคว้า และพัฒนาต่อยอด เพื่อสร้างสิ่งใหม่ ๆ ความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

          มาพูดคุยกับ “ศ.ดร.ทพญ.ศิริวรรณ สืบนุการณ์” รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของรางวัล “นักประดิษฐ์หญิง” จาก Global Women Inventors & Innovators Network (GWIIN) อีกหนึ่งในผู้หญิงเก่งของธรรมศาสตร์

          Q: รู้จัก Global Women Inventors & Innovators Network (GWIIN)

          A: Global Women Inventors & Innovators Network (GWIIN) คือ องค์กรระดับนานาชาติที่ให้การสนับสนุนสตรีที่เป็นนักประดิษฐ์ นักคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ก่อตั้งขึ้นที่ประเทศอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ. 1998 โดยรางวัล GWIIN จะคัดเลือกนักประดิษฐ์หญิงโดยการเสนอชื่อจากเครือข่ายขององค์กรที่มีอยู่ทั่วโลก โดยปีล่าสุดนี้มีผู้ผ่านการคัดเลือกเข้ารอบสุดท้าย 22 คนจากทั่วโลก และอาจารย์เป็น 1 ใน 22 คนที่มีรายชื่อเข้ารับรางวัลในครั้งนี้

          Q: แชร์ประสบการณ์จากการเดินทางข้ามทวีปเพื่อไปรับรางวัล GWIIN

          A: อาจารย์ได้เรียนรู้เรื่องราวมากมายจากผู้หญิงเก่งทั่วโลก โดยอาจารย์เองเป็นคนทำงานเกี่ยวข้องกับนวัตกรรมด้านการศึกษา และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับระบบช่วยตัดสินใจทางคลินิก โดยปกติแล้วเมื่อเราเจอคนไข้ เราจะต้องตัดสินใจว่าเราจะวินิจฉัยและให้การรักษาคนไข้อย่างไร ซึ่งงานในลักษณะนี้ ในประเทศไทยยังมีคนสนใจไม่มากนัก แต่เมื่ออาจารย์นำเสนอเรื่องนี้ในที่ประชุม GWIIN ประเทศอังกฤษ คณะกรรมการซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากศาสตร์ต่าง ๆ ชื่นชอบผลงาน ทำให้อาจารย์รู้สึกประทับใจที่เขาเข้าใจในผลงานของเราอย่างลึกซึ้ง และผลงานของอาจารย์ได้รับรางวัลระดับ Platinum ทางด้าน Education and Research Development ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดด้วย

          Q: คำว่า "นักประดิษฐ์" ในมุมมองของอาจารย์

          A: การเป็นนักประดิษฐ์ หรือนักคิดค้น (Inventor / Innovator) ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งอาจารย์มองว่ามันคือสิ่งที่สำคัญมาก ไม่ใช่เฉพาะอาจารย์ในมหาวิทยาลัย แต่เราต้องปลูกฝังกันตั้งแต่เยาวชนเพื่อให้มีความคิดสร้างสรรค์ จะช่วยให้เราสามารถแก้ไขปัญหาที่อยู่รอบตัวเราได้ สามารถคิดค้นวิธีใหม่ ๆ ธุรกิจใหม่ ๆ ได้ จะเรียกว่าสอนกันไม่ได้ก็ไม่เชิง เพราะในปัจจุบันมีรูปแบบการสอนที่เป็น Innovative Thinking ซึ่งจะช่วยให้เรามีความรู้พื้นฐานในการคิดอย่างสร้างสรรค์ได้ และไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม เราต้องมีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักพลิกบางประเด็น มองในอีกมุมหนึ่งที่เราไม่เคยมองมาก่อน แล้วจะนำไปสู่การทำวิจัย การประดิษฐ์ คิดค้นสิ่งใหม่ และแนวคิดใหม่ ๆ ได้

         Q: ทิศทางจุดเด่นของงานวิจัยนวัตกรรมในประเทศไทย

         A: เอาเข้าจริงแล้วมันขึ้นอยู่กับว่า "เราจะไปแข่งกับใคร" ถ้าเราจะประดิษฐ์เทคโนโลยีขั้นสูงมาก เช่น ประดิษฐ์ยานยนต์หรือเครื่องมือจักรกล เราอาจจะสู้ประเทศที่เขามีมาก่อนเราไม่ได้ อาจารย์คิดว่าเราอาจจะมาในทางที่เราถนัด อะไรที่เป็นจุดเด่นของเรา เช่น ด้านการเกษตร หรือยาสมุนไพร แต่เราต้องมองและคิดอย่างถูกวิธี ประเทศไทยควรมองในเรื่องของพืชสมุนไพรเป็นจุดแข็ง รวมถึงในเชิงสังคมศาสตร์ที่ผสมผสานกับเทคโนโลยี ก็น่าจะเป็นจุดที่เราแข่งขันได้

         Q: งานวิจัยและนวัตกรรมของธรรมศาสตร์มาถูกทางหรือยัง

         A: เรากำลังไปในทางที่เราวางแผนไว้อยู่แล้วในการส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งมหาวิทยาลัยมีกลุ่มที่ทำงานในด้านต่าง ๆ เช่น  Smart Farmer งานประดิษฐ์คิดค้นจากทางคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับรางวัลในระดับนานาชาติหลายรางวัล รวมถึงการผสานความแข็งแกร่งทางด้านสังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์สุขภาพ เข้าด้วยกัน โดยในขณะนี้เรากำลังผลักดันโครงการ Thammasat Smart City ซึ่งธรรมศาสตร์ได้รับรางวัลจากกระทรวงพลังงานในการเป็นมหาวิทยาลัย Smart City รวมถึงการร่วมทุนกับเอกชนในการทำวิจัยร่วมกัน เพื่อสร้าง Thammasat Model ที่เป็นเมืองน่าอยู่ พอเราพูดถึงเมืองน่าอยู่มันก็ต้องเชื่อมโยงกันหลายศาสตร์ เราก็จะนำงานวิจัยหลาย ๆ ศาสตร์ เข้ามาปรับใช้และพัฒนาควบคู่กับไปจนออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด

         Q: ย้อนกลับมาที่งานวิจัยของอาจารย์กันบ้าง ตอนนี้ทำอะไรอยู่

         A: อาจารย์สนใจเรื่องของ Clinical decision making และ Clinical skill training โดยศึกษาว่าทำอย่างไรเราจะสามารถสอนวิธีการคิดวิธีการตัดสินใจ สำหรับแพทย์ ทันตแพทย์ บุคลากรทางด้านการแพทย์ ทำอย่างไรให้เขาคิดได้เหมือนผู้เชี่ยวชาญ ไปจนถึงขั้นตอนที่จะลงมือรักษาคนไข้ รวมไปถึงการผ่าตัด ก็สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันดับแรกเราต้องทำความเข้าใจว่าผู้เชี่ยวชาญคิดอย่างไรและทำอย่างไร โดยใช้เทคโนโลยีทางปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาสร้างโมเดล ในที่นี้คือเป็นตัวแทนของกระบวนการคิดหรือกระบวนการปฏิบัติของผู้เชี่ยวชาญแล้วก็ของนักศึกษา ท้ายที่สุดเราก็สามารถสร้างระบบ Automated Training System ที่ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาช่วยในการคิดวิเคราะห์ กระบวนการคิด กระบวนการปฏิบัติของบุคลากรทางด้านการแพทย์ นำไปสู่การสร้างเป็นระบบที่ช่วยในการสอนอย่างอัจฉริยะต่อไป

         Q: พูดถึงการสร้างแรงบันดาลใจฉบับอาจารย์ศิริวรรณ

         A: มันเป็นเรื่องของการเข้าใจบทบาทของตัวเอง เช่น ถ้าเราเป็นนักวิจัย หรือเราเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เรียกว่าหนีไม่พ้น ถ้าเป็นนักวิจัยต้องทำวิจัยอยู่แล้ว หรือเป็นอาจารย์ บทบาทที่สำคัญคือทำการสอน ทำการวิจัย หรือบริการทางวิชาการ เคยมีอาจารย์ผู้ใหญ่ ท่านเป็นคนไข้ของอาจารย์ด้วย ท่านบอกว่า "เป็นอาจารย์ก็ต้องทำการวิจัยสิ เพราะถ้าไม่ทำวิจัยแล้วจะเอาอะไรมาสอน" เพราะถ้าเราสอนจากสิ่งที่เราอ่านมาจากผลงานหรือหนังสือของผู้อื่น ก็จะไม่ได้มีการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบและลึกซึ้ง แต่ถ้าเราสอนอยู่บนพื้นฐานจากที่เราทำวิจัยมาด้วย มันทำให้เราคิดอย่างเป็นระบบรอบด้าน และยังมีสิ่งใหม่ ๆ มาสอนให้นักศึกษา นักศึกษาก็จะเกิดความตื่นเต้นว่าอาจารย์มีสิ่งใหม่ ๆ มาสอนด้วยเช่นกัน

          บทสัมภาษณ์จากนักประดิษฐ์หญิงรางวัลระดับโลก “ศ.ดร.ทพญ.ศิริวรรณ สืบนุการณ์” จะเป็นอีกหนึ่งแรงพลักดันให้กับผู้หญิงและทุก ๆ คนในการคิดค้น ทำงานวิจัย และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เพื่อสังคมต่อไป