Loading...

วันนักวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2562 สร้างสรรค์งานวิจัย ก้าวไกลสู่ระดับสากล

 

งานวันนักวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชิดชูเกียรติและสร้างขวัญกำลังใจแก่อาจารย์และนักวิจัยที่สร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัยทั้งยังเป็นประโยชน์แก่สังคมด้วย

วันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2562

  

          มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยวิจัย (Research University) ที่มีนโยบายในการยกระดับผลงานวิจัยและนวัตกรรมทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพให้เป็นที่ยอมรับสูงขึ้นในระดับสากล ซึ่งมหาวิทยาลัยมีบุคลากรจำนวนมากที่มีความรู้ ความสามารถ และพร้อมในการสร้างสรรค์งานวิจัยที่มีคุณค่าต่อสังคมและประเทศชาติ มุ่งมั่นในการผลิตผลงานวิชาการและงานวิจัยออกสู่สาธารณชนอย่างต่อเนื่อง และเพื่อเป็นการการยกย่องเชิดชูเกียรติคุณ ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมร่วมกับสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงาน “วันนักวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2562” เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติ สร้างขวัญและกำลังใจแก่อาจารย์และนักวิจัยที่สร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัยในด้านต่าง ๆ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 ณ อาคารเรียนรวม 3 (SC3) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

          รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวแสดงความยินดีในพิธีเปิดงานว่า วิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประการสำคัญคือ การเป็นผู้นำด้านการวิจัยเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม และสิ่งใหม่ ๆ ให้เจริญก้าวหน้าเพื่อให้เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศและนานาชาติ เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยที่มีความโดดเด่น สามารถนำผลิตผลงานวิจัย งานสร้างสรรค์นวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ ส่งเข้าประกวดแข่งขันในเวทีระดับสากลได้ รวมทั้งมีการเผยแพร่ผลงานวิจัยออกสู่สาธารณชนเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนและสังคม เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่งการที่จะบรรลุวัตถุประสงค์เหล่านี้ ทางมหาวิทยาลัยได้จัดสรรทุนวิจัยให้เพียงพอกับความต้องการของอาจารย์นักวิจัยและนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา จัดอบรม เพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อพัฒนาผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ และสามารถตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูลนานาชาติ มีผลทำให้มหาวิทยาลัยมีผลงานวิชาการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

          ด้าน ศ.ดร.ทญ.ศิริวรรณ สืบนุการณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า จากนโยบายด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีจุดมุ่งหมายชัดเจนในการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยของคณาจารย์ และบุคลากรอย่างต่อเนื่อง ในรอบปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยได้จัดสรรงบประมาณจำนวนมาก เพื่อสนับสนุนทุนวิจัยประเภทต่าง ๆ ให้แก่นักวิจัย จัดสัมมนาทางวิชาการในการเสริมความรู้และประสบการณ์การวิจัยให้แก่นักวิจัย รวมทั้งการจัดทำวารสารวิชาการเพื่อเป็นช่องทางในการเผยแพร่ผลงานวิจัยของนักวิจัย เป็นผลให้มีการยกระดับคุณภาพของผลงานวิจัยอย่างมีนัยสำคัญ ความสามารถด้านการวิจัยของนักวิจัยมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งวัดได้จากจำนวนผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการที่มีมาตรฐานทั้งในชาติและนานาชาติ จำนวนดัชนีการอ้างอิงผลงานวิชาการโดยรวมของมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น และในรอบปีที่ผ่านมามีนักวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จากหลายสาขาวิชา สามารถสร้างผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ที่โดดเด่น และได้รับรางวัลทั้งจากภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยจำนวนมาก อาทิ ผลงานวิจัยดีเด่นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้ง ผู้ได้รับทุนวิจัยขนาดใหญ่ ผู้ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ผู้ที่มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ เป็นต้น ซึ่งผลงานดังกล่าวนอกจากจะเป็นเกียรติประวัติของนักวิจัยแล้ว ยังนำมาซึ่งชื่อเสียงและเกียรติยศของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยเช่นกัน

          บทพิสูจน์ความสำเร็จของการดำเนินงานด้านวิจัยในรอบปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพทางวิชาการ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทุกภาคส่วน ทั้งเรื่ององค์ความรู้และทุนสนับสนุน โดยผลงานวิจัยทั้งหมดได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการตอกย้ำเป้าหมายความสำเร็จของมหาวิทยาลัยในการสร้างงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง พร้อมส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่ภายใต้แนวทางที่ท้าทายในการเชื่อมโยงความรู้ทางวิทยาศาสตร์และสังคม เพื่อให้งานวิจัยเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างแท้จริง

          ในปี 2562 นี้ มีผู้ได้รับโล่รางวัล แบ่งออกเป็น 9 ประเภทรางวัล รวมทั้งสิ้น 148 โล่ ได้แก่

          1. ผู้ได้รับการกำหนดตำแหน่งศาสตราจารย์ ได้รับเงินเดือนขั้นสูง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ จำนวน 2 โล่

          2. ผู้ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ: รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ และทุนเมธีวิจัยอาวุโส สกว. จำนวน 4 โล่

          3. ผู้ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 4 โล่

          4. ผู้ได้รับทุนวิจัยโครงการขนาดใหญ่ จำนวน 31 โล่

          5. ผู้มีผลงานจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร จำนวน 14 โล่

          6. ผู้ที่มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่ปรากฏในฐานข้อมูลสากล ISI, SCOPUS ที่ค่า Impact Factor รวมจำนวนบทความมากที่สุด (ผลงานตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2560-2561) จำนวน 4 โล่

          7. ผู้ที่มีผลงานวิจัยที่ถูกอ้างอิง (Citation) ในฐานข้อมูลสากล ISI, SCOPUS รวมจำนวนครั้งสูงที่สุด (ผลงานที่ถูกอ้างอิงใน ปี พ.ศ. 2557-2561) จำนวน 3 โล่

          8. ผู้ได้รับรางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่นระดับคณะ จำนวน 15 โล่

          9. ผู้ได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณทางด้านการวิจัยจากหน่วยงานภายนอก จำนวน 71 โล่