Loading...

เตือน! ควันพลุและดอกไม้ไฟ มีแก๊สพิษ- PM 2.5 กระทบสุขภาพระยะยาว

อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ฯ ธรรมศาสตร์ แนะนำควรเล่นพลุและดอกไม้ไฟในที่อากาศถ่ายเท เพื่อลดการสูดดมแก๊สพิษโดยตรง

วันพุธที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2563

  

     เมื่อนึกถึงงานเทศกาลจะขาดพลุและดอกไม้ไฟไปได้อย่างไร เพราะเพียงแค่เห็นเราก็รู้สึกสดชื่นมีชีวิตชีวาจากสีสันและประกายไฟที่ปรากฏขึ้น แต่ถ้าไม่รู้จักวิธีใช้ที่เหมาะสม พลุและดอกไม้ไฟอาจพาชีวิตคุณและคนรอบข้างไปสู่หายนะเฉกเช่นข่าวดังที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

     รศ.ดร.จิรดา สิงขรรัตน์ อาจารย์สาขาเคมีประยุกต์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หากเราจุดพลุและดอกไม้ไฟเสร็จแล้ว สิ่งที่เหลือตามมาหลังจากการเผาไหม้จากพลุและดอกไม้ไฟคือแก๊ส Carbon Dioxide ฝุ่นละอองพวก PM 2.5 และแก๊สเคมีอื่น ๆ ยิ่งถ้าเราใส่ Sulfur เข้าไปด้วย ก็จะมีแก๊ส Sulfur Dioxide เกิดขึ้น ซึ่งพวกนี้เป็นแก๊สพิษทั้งสิ้น

     การจุดพลุและดอกไม้ไฟเป็นจำนวนมากในพื้นที่ปิด จะทำให้อากาศบริเวณนั้นมีปริมาณออกซิเจนต่ำ ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ เราก็จะรู้สึกมึน ๆ และหายใจได้ไม่เต็มที่ หากรู้สึกเช่นนั้นควรรีบออกไปบริเวณที่มีอากาศถ่ายเท ข้อควรระวังที่สำคัญคือ เมื่อใดที่มีการจุดพลุหรือเล่นดอกไม้ไฟ ต้องอยู่ในพื้นที่กว้าง และมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่งั้นเราจะสูดดมแก๊สพิษจากพลุและดอกไม้ไฟเข้าไปเต็ม ๆ และถ้าหากสูดดมแก๊สพิษเหล่านี้บ่อย ๆ อาจส่งผลระยะยาวต่อสุขภาพในอนาคตได้

     รศ.ดร.จิรดา ได้อธิบายถึงแก๊สพิษจากการจุดพลุอีกว่า ทุกอย่างที่เราทำไม่มีอะไรสลายหายไปได้ ถึงแม้เราจะจุดพลุขึ้นไปบนท้องฟ้า ก็ยังมีสิ่งที่เหลืออยู่ในท้องฟ้าหลังจากจุดพลุแน่นอน แต่เราโชคดีที่โลกยังแบ่งปันความสุขให้เรา เพราะโลกช่วยกระจายแก๊สพิษจากการจุดพลุออกไป ไม่ว่าจะด้วยลมหรือว่าฝน ซึ่งพวกนี้ช่วยชะแก๊สพิษออกไปอย่างทั่วถึง ดังนั้นปริมาณความเข้มข้นของแก๊สพิษจึงต่ำลง อยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อมนุษย์ แต่แก๊สพิษเหล่านี้ไม่ได้หายไปเสียหมด ส่วนที่ยังอยู่บางส่วนก็เข้าไปทำลายชั้นบรรยากาศ อย่างเช่น Nitrogen Oxide และ Nitrogen Dioxide ซึ่งจะค่อย ๆ เข้าไปทำลายชั้นโอโซน

     “ถ้าโอโซนโดนทำลาย แสงยูวีก็จะเข้ามาสู่โลก เราก็จะได้แสงยูวี A ยูวี B และ ยูวี C มันค่อนข้างที่จะอันตรายต่อมนุษย์ในระยะยาว และทำให้เกิดโลกร้อนขึ้น จริง ๆ แล้วข้อเสียของการจุดพลุหลัก ๆ เลย คือมันจะมีตัว Metal ที่เป็นโลหะลักษณะละอองเล็ก ๆ หลงเหลืออยู่เมื่อเผาไหม้เสร็จแล้วอยู่ในชั้นบรรยากาศ ซึ่ง Metal นี้ อาจไปทำอะไรที่ไปเป็นตัวเร่งปฏิกริยาอื่น ๆ ช่วยทำลายชั้นบรรยากาศโลกได้” รศ.ดร.จิรดา กล่าวทิ้งท้าย