Loading...

กังวลว่าเราจะเป็น “เป็ด” อยู่หรือป่าว? ทำทุกอย่างได้แต่ไม่เก่งสักอย่าง... มาหาทางออกไปด้วยกัน!

 

หากคุณกำลังคิดว่าตัวเองทำได้ทุกอย่างแต่ไม่เก่งสักอย่าง หรือที่เรียกว่า “เป็ด” ขอให้หยุด! ความคิดนั้นไว้ เพราะคุณก็สามารถเป็นเป็ดที่มีคุณภาพได้

วันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ.2563

  

          ปัจจุบันดูเหมือนว่าโลกเราหมุนเร็วขึ้น สิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ เทคโนโลยี ทำให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อย่างเช่นปีที่แล้วเราใช้ชีวิตปกติ แต่ก็เกิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ชื่อว่า COVID-19 ทำให้การดำเนินชีวิตของเราต้องเปลี่ยนแปลงเป็น “ชีวิตแบบวิถีใหม่” (New normal) จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเรากำลังอยู่ในยุคของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวินาที ซึ่งอาจจะเกิดปรากฏการณ์ที่ทำให้เราเกิดวิถีใหม่อีกหลายๆ แบบก็เป็นไปได้ ดังนั้น เราจึงปรับตัวเองให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่ตลอดเวลาและพร้อมรับมือกับปรากฏการณ์ที่ยากจะคาดเดาได้ ถึงจะอยู่รอดในยุคนี้ได้  

          ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ฟังดูแล้วชวนเรารู้สึกหวั่นใจว่าเราจะสามารถรับมือได้หรือไม่นั้น ไม่ว่าการดำเนินชีวิต การทำงาน การเรียน แต่อย่างไรก็ตามเราขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์ ที่สามารถปรับตัวได้ แต่ภาพที่สะท้อนให้เห็นจากสถานการณ์ที่ผ่านมาจึงทำให้เชื่อมั่นได้ว่ามนุษย์ทุกคนสามารถอยู่รอดได้ไม่ว่าจะเผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบากแค่ไหนก็ตาม

          อาจารย์ ดร.ปรินดา ตาสี อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง กล่าวว่า ในอดีตการศึกษามีแค่สถาบันการศึกษาเท่านั้น ผู้ที่เรียนรู้คือ นักเรียน หรือนักศึกษา ค่านิยมของคนที่ประสบความสำเร็จ การสอบได้ในลำดับต้นๆ ของห้องเรียน หรือได้เกียรตินิยม แต่กลุ่มนี้ก็เป็นเพียง ไม่เกินร้อยละ 5 ของนักเรียนหรือนักศึกษาทั้งหมด จึงมีคำถามว่าส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 95 ตำแหน่งของเขาเหล่านั้นจะอยู่ส่วนใหนของการได้รับความนิยมหรือเชมเชย หรือเราจะเรียกว่า กลุ่มส่วนใหญ่ที่เกิดจากการจัดลำดับของการศึกษาคือ “เป็ด” ซึ่งนัยยะคือ “ทำอะไรได้บ้าง....แต่ก็ไม่เก่งสักอย่าง” และตอนนี้เราให้สถานะว่าตัวเองเป็น “เป็ด” ใช่หรือไม่

          คำถามต่อไป...จึงถามว่า “เราจะสามารถจะเป็นเป็ดที่มีคุณภาพได้หรือไม่” คำตอบที่สามารถตอบได้ง่าย ๆ คือ “ได้สิ คุณเป็นเป็ดที่มีคุณภาพได้” แต่...ก่อนอื่น คุณต้องเลิกที่จะตีตราตนเองว่า ฉันไม่มีดี ฉันไม่เก่ง ฉันไม่เอาไหน ฉันไม่ได้เรื่อง ฉันไม่กล้า เพราะคำตีตราเหล่านี้เมื่อคุณเริ่มที่จะบอกตัวเองมันคือคุณได้ตั้งกำแพงไม่ให้ก้าวไปสู่การพัฒนาตนเองของคุณขึ้นมา

          ต่อมาคุณต้องเริ่มที่บอกตัวเองว่าคุณมีคุณค่า คุณค่าที่คุณสามารถสร้างขึ้นมาด้วยตนเอง โดยเป็นคุณค่าในตัวคุณที่ไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับคนอื่นว่าเขาดีกว่า หรือเขาเก่งกว่าคุณ หลังจากนั้นจะค้นหาสิ่งที่คุณชอบหรือคุณถนัดในตัวคุณ ซึ่งอาจเป็นเรื่องง่าย ๆ ใกล้ตัว และอาจเป็นเรื่องที่เราชอบในวัยเด็กและฝันอยากจะทำให้เป็นจริงสักวัน และโชคดีที่ในปัจจุบันเรามีโอกาสที่อยู่ในยุคของการพัฒนาการศึกษาตลอดชีวิต ซึ่งไม่ว่าจะเด็ก วัยรุ่นวัยทำงาน หรือวัยสูงอายุ มีโอกาสเรียนรู้ในศาสตร์ต่าง ๆ ตามความถนัดและความสนใจของแต่ละคน เพื่อให้ทุกคนสามารถเติบโต และเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง ดังนั้นโลกกว้าง ๆ ใบนี้มีอะไรให้เราเรียนรู้อีกมากมายไม่มีที่สิ้นสุด 

          อาจารย์ ดร.ปรินดา กล่าวต่ออีกว่า สำหรับนักศึกษาที่กำลังจะจบการศึกษาหรือบัณฑิตที่กำลังหางานหรือเปลี่ยนงาน เชื่อว่า ทุกคนต่างต้องการความมั่นคงในชีวิตโดยเฉพาะในด้านการทำงาน ซึ่งมีการแข่งขันสมัครงานเข้าบริษัทที่มีชื่อเสียง หรืองานราชการ ซึ่งเหล่านี้มีความคาดหวังว่า จะเป็นงานที่ดี มีความก้าวหน้า ค่าตอบแทนที่ดี มีหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานที่ดี แต่ทำอย่างไรที่จะทำให้เราได้งาน

          ในขณะที่เราอาจให้สถานะตัวเองว่าเป็น “เป็ด” จึงขอให้เริ่มตั้ง Mindset ใหม่ว่าเราทุกคนต่างมีโอกาสเข้าถึงการทำงานที่เราต้องการเท่าเทียมกัน ซึ่งนอกจาก Hard Skill ที่เป็นความรู้จากที่เราศึกษาในสถาบันการศึกษาแล้วที่อาจเป็นเพียงเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการระบุความเชี่ยวชาญ แต่สิ่งที่จำเป็นและขาดไม่ได้คือ Soft Skill” ซึ่งเป็นคำที่นิยมใช้ในการเลือกคนเข้าทำงานในกลุ่มนักบริหารงานด้านทรัพยากรมนุษย์ในยุคของศตวรรษที่ 21 โดย Soft Skill 6 ทักษะที่สำคัญ ประกอบด้วย

          1. ทักษะการสื่อสาร (Communication) การสื่อสารเป็นทักษะที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งการสื่อสารนั้นอยู่ทั้งในรูปแบบของการสื่อสารทั้งภาษาพูด ภาษาเขียน การติดต่อประสานงานกันทั้งภายในภายนอกองค์กร การสื่อสารเป็นทางการ ซึ่งบุคคลที่มีทักษะการสื่อสารหมายรวมถึงการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี และการตระหนักรู้ทางสังคมอีกด้วย

          2. การทำงานร่วมมือกันเป็นทีม (Teamwork and Collaboration) เป็นทักษะของการทำงานที่ให้ความสำคัญว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทหรือองค์กร ทำงานตามหน้าที่บทบาทของตนเองให้ดีที่สุด รวมถึงการมีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงาน

          3. ความเป็นมืออาชีพ (Professionalism) เมื่อเข้ามาในองค์กรใหม่ สถานการณ์ใหม่ ควรเป็นบุคคลที่สามารถปรับตัวได้ มีความรับผิดชอบ จัดการเวลางานของตนเองได้ดี ดังที่กล่าวว่า “เมื่อการทำงานเวลา 8 นาฬิกา ฉันจะเริ่มทำงานของฉัน 8 นาฬิกา ไม่ใช่เดินไปมาหรือทำงานอย่างอื่นตอน 8 นาฬิกา”

          4. การจัดการตนเองและการมีความคิดริเริ่ม (Self-management and Initiative) ผู้จ้างงานหรือผู้บังคับบัญชาส่วนใหญ่ต้องการคนที่มีความเป็นผู้นำ ซึ่งไม่ใช่หมายถึงการเป็นหัวหน้า หรือผู้นำในโปรเจกต์ต่าง ๆ แต่การจัดการตนเอง หมายถึงความสามารถในการวางแผน การจัดลำดับความสำคัญของงาน การจัดการเวลา อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ส่วนการมีความคิดริเริ่ม หมายถึงการทำงานด้วยความริเริ่มด้วยตนเองโดยที่ไม่ต้องรอให้สั่งการ

          5. การคิดอย่างมีวิจารณญาณและความคิดสร้างสรรค์ (Critical and Creative Thinking) การคิดอย่างมีวิจารณญาณ หมายถึง ความสามารถในการประเมินผล ด้วยการคิดอย่างเป็นขั้นตอนตั้งแต่การเก็บข้อมูล การทดสอบ การวิเคราะห์ ส่วนการมีความคิดสร้างสรรค์หมายถึงเมื่อเผชิญปัญหาอุปสรรคแล้วสามารถพลิกเป็นข้อท้าท้ายในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ต่อไป

          6. การมีมุมมองระดับโลกและการมีวิสัยทัศน์ (Global Fluency and Perspective) การทำงานในปัจจุบันต้องทำงานร่วมกับบุคคลที่มีความแตกต่างหลากหลายทั้งในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ดังนั้น จึงควรต้องมีมุมมองและวิสัยทัศน์ที่เปิดกว้าง ยอมรับในความแตกต่างเหล่านั้น และทำงานด้วยการให้เกียรติซึ่งกันและกัน

          จะเห็นได้ว่าทั้ง 6 ทักษะที่กล่าวมานั้นทุกคนทำได้ไม่ยากเลย เราล้วนมีอยู่ในตนเองทุกคน เพียงแต่เราอาจจะยังไม่รู้ว่ามันคือศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวเอง นับตั้งแต่วันนี้ ขอเปิดโอกาสตนเองให้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ รอบตัว และรับรู้เท่าทันกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ปรับตัวอยู่เสมอ เราก็จะประสบความสำเร็จในด้านต่าง ๆ ตามที่ตนเองต้องการ