Loading...

ฝึกทักษะ Soft Skill ผ่าน “วิชาชีวิต” หลักสูตรของ IBMP ธรรมศาสตร์

 

ช่องว่างระหว่างวัยจะไม่เป็นอุปสรรคถ้าเด็กและผู้ใหญ่ เปิดใจ เรียนรู้ ยอมรับ และปรับวิธีคิด ซึ่งวิชา Culture and Business Etiquette จะช่วยให้ปรับตัวในการทำงานง่ายขึ้น

วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ.2563

  

          ช่องว่างระหว่างวัย หรือ Generation Gap จะไม่เป็นอุปสรรคในการอยู่ร่วมกันของคน 4-5 เจเนอเรชันในสังคมไทย ถ้าทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทุกเจเนอเรชัน เปิดใจ เรียนรู้ ยอมรับ และปรับวิธีคิด เรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิตที่จะอยู่ร่วมกันและทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่นและมีความสุข

          ปัจจุบันเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุกันแล้ว และมีจำนวนผู้สูงวัยมากกว่าจำนวนเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งองค์การสหประชาชาติมีการคาดประมาณจำนวนผู้สูงอายุไทยจะมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงประมาณ 20 ล้านคน ในอีก 30 ปีข้างหน้า

          มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เองก็ตระหนักถึงเรื่องนี้ จึงนำมาซึ่งแนวคิด Generation Gap Management หรือการจะทำอย่างไรให้คนหลายเจเนอเรชันนั้นได้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข เกิดเป็น “วิชา Culture and Business Etiquette วัฒนธรรมและธรรมเนียมทางธุรกิจ” จากหลักสูตรควบตรี-โท ทางการบัญชีและบริหารธุรกิจ (IBMP) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือวิชาเพื่อเรียนรู้ทักษะเพื่อใช้ปรับตัวในการทำงาน และการอยู่ร่วมกันในสังคมท่ามกลางความแตกต่างของวัยและประสบการณ์ และยังเป็นแนวทางเพื่อการจัดการช่องว่างระหว่างวัย (Generation Gap Management) ซึ่ง ผศ.ดร.ดวงใจ หล่อธนวณิชย์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาธุรกิจและการดูแลสังคมสูงอายุ บอกว่า นี่เป็นเหมือน “วิชาชีวิต”

          “นี่คือวิชาชีวิตที่ให้ความรู้และฝึกทักษะ Soft Skill เตรียมความพร้อมก่อนออกไปทำงานจริงหรือการทำธุรกิจร่วมกับผู้อื่น โดยเริ่มต้นตั้งแต่การทำความเข้าใจตัวเอง การพัฒนาบุคลิกภาพ การวางตัวให้เหมาะสมเพื่อให้สถานการณ์นั้นผ่านไปอย่างราบรื่น ไปจนถึงการสื่อสารกับคนในสังคมไทยที่มีความแตกต่างทั้งอายุ อาชีพ วิธีคิดไปจนถึงการคนต่างชาติต่างวัฒนธรรมที่ต้องทำงานร่วมกัน ที่จะทำให้คนอื่นยอมรับเราได้ และเรายอมรับคนอื่นได้ด้วย ซึ่งเกี่ยวพันกับหนึ่งเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การทำให้นักศึกษาสามารถปรับตัวในสังคมได้ เมื่อออกไปอยู่ในสังคมการทำงานจริง” ผศ.ดร.ดวงใจ กล่าว  

          ผศ.ดร.ดวงใจ กล่าวต่อว่า เราจะให้นักศึกษาแชร์ประสบการณ์หลังจากที่นักศึกษาได้ออกไปฝึกงานในองค์กรจริง ๆ ตลอดหนึ่งภาคการศึกษา ว่าพบเจออะไร และรู้สึกอย่างไรในสถานการณ์จริงที่ฝึกงาน ซึ่งปัญหาที่พบคือ การปรับตัว กับรุ่นพี่ พี่เลี้ยง (mentor) หัวหน้า ในองค์กร นักศึกษาจำนวนมากรู้สึกว่า นี่คือปัญหาที่ต้องแก้ ต้องปรับ เพราะตอนเรียนในมหาวิทยาลัยนั้นก็เจอแต่เพื่อน รุ่นพี่ รุ่นน้อง อาจารย์ ที่อยู่ร่วมกันในรูปแบบที่ต่างออกไป

          บางแห่งเปิดโอกาสให้นักศึกษาเรียนรู้งานด้วยตัวเองเป็นหลัก อาจไม่จำเป็นต้องปรับตัว หรือเข้ากับธรรมชาติของนักศึกษาบางคน แต่บางแห่งก็จำเป็นต้องปรับตัว เพราะการไม่คุยกับใครเลย อาจทำให้การทำงานไม่ราบรื่น และรู้สึกกดดันที่ไม่มีใครในที่ทำงานชวนคุย พอผ่านไปสักสองอาทิตย์ นักศึกษาตระหนักถึงข้อนี้ จึงได้เริ่มเข้าไปคุยกับพี่เลี้ยงก่อน ทำความรู้จัก ปรึกษา เป็นต้น และเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเองว่า ควรจะเริ่มต้นความสัมพันธ์อย่างไร การทักทาย การวางตัวในสถานการณ์ต่าง ๆ พร้อมกันนั้น ซึ่งการลองทำ/ไม่ทำนี้ จะช่วยให้พวกเขาเรียนรู้ว่าจะได้หรือไม่ได้อะไร และทำให้บางคนค้นพบตัวตนของตัวเอง รู้ว่าเหมาะหรือไม่เหมาะกับการทำงานรูปแบบไหนด้วย

          สำหรับบางคนที่รู้สึกว่าชอบทำงานเดี่ยวมากกว่าการทำงานเป็นทีม แต่ในชีวิตจริงเราจำเป็นต้องอยู่ร่วมกับผู้คนมากมาย ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งคือการยอมรับและเคารพคนที่แตกต่าง พร้อมกับเรียนรู้จากผู้อื่นไม่ว่าจะวัยเดียวกันหรือต่างวัยที่ทำงานร่วมกัน เรียนรู้ความคิดของคนรุ่นอื่น ๆ อย่างน้อยในการทำงานก็ควรจะรู้ว่าพวกเขาต้องการ หรือคาดหวังอะไรจากการทำงานของเรา ยังใช้เป็นแนวทางเพื่อจัดการช่องว่างระหว่างวัย