Loading...

ใครบ้างที่จะอยู่รอด? ในยุค Disruption 2020 ตลาดแรงงานและการศึกษา

เรื่องของ Disruption ถูกกล่าวถึงมาได้สักระยะหนึ่งแล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา... Disruption ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะแวดวงธุรกิจเท่านั้น แต่มันเกิดขึ้นกับแวดวงการศึกษาเช่นกัน

วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2563

          เรื่องของ Disruption ถูกกล่าวถึงมาได้สักระยะหนึ่งแล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา... Disruption ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะแวดวงธุรกิจเท่านั้น แต่มันเกิดขึ้นกับแวดวงการศึกษาเช่นกัน ซึ่งทั้งสองก็มีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกันด้วย

          พูดคุยกับ รศ.ดร.สถาพร โอภาสานนท์ จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกี่ยวกับเรื่องของ Technology Disruption ใครบ้างที่จะต้องเปลี่ยน เพื่อให้อยู่รอดในยุคของการเปลี่ยนแปลงตลาดแรงงานและการศึกษา

ทำความเข้าใจ Disruption กับการศึกษาหลัง COVID-19

          ปัจจัยหลักของ Disruption คือความก้าวหน้าของเทคโนโลยี จนทำให้สิ่งที่เคยเกิดขึ้นอยู่ “ถูกทดแทน-เปลี่ยนแปลง” จากเทคโนโลยีก่อนมาเปลี่ยนแปลงในเรื่องพฤติกรรมของคนหรือผู้บริโภค ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่าการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี คือเหตุการณ์ที่เราไม่อาจจะคาดการณ์ได้ (unexpected) ตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่สุดคือ COVID-19 เรามีการพูดถึงการเรียนแบบออนไลน์ ซึ่งแน่นอนว่าเรามีเทคโนโลยีรองรับการเรียนออนไลน์ มีการประชุมแบบรีโมทมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ไม่ได้แพร่หลายนัก แต่เมื่อสถานการณ์ COVID-19 เข้ามา ทุกคนจะต้องปรับตัวทันที

          สถานการณ์การศึกษาจากนี้ต่อไป บางคนอาจใช้คำว่า New normal ทั้งผู้สอนและผู้เรียน ได้รับรู้แล้วว่าไม่ได้มีแค่ช่องทางการศึกษาเพียงแบบเดียว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ความรู้กับสถาบันการศึกษาเริ่มมีช่องว่าง คนไม่จำเป็นต้องมาสถาบันการศึกษา เราสามารถเข้าอินเทอร์เน็ต เพื่อหาความรู้ในเบื้องต้นได้ มีช่องทางให้เราเข้าไปถามเพื่อ crosscheck ความรู้ได้หลายช่องทาง เป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ของการศึกษาให้กว้างขึ้น

จะทำอย่างไรให้เราเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน

          Disruption จะเกิดขึ้นที่ตลาดแรงงานก่อน เพราะเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้เข้ามาทดแทน เช่น หุ่นยนต์ (Robotic) ทดแทนงานที่ใช้แรงงานเป็นสำคัญ (Labour intensive) อย่างสถานการณ์ COVID-19 จะเห็นได้ว่า เมื่อคนไม่สามารถที่จะเคลื่อนย้ายได้ ต้องลดการติดต่อกัน บทบาทของหุ่นยนต์จะมีความสำคัญมากขึ้น ส่วนงานที่ต้องใช้การวิเคราะห์ข้อมูล จะถูกทดแทนด้วย AI หรือ Artificial Intelligence เพราะคุณสมบัติของ AI สามารถรองรับข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ได้และประมวลผล วิเคราะห์ในเชิงตรรกะได้

ในอนาคตตลาดแรงงานจะถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่

     1. กลุ่มที่ใช้แรงงาน คนกลุ่มนี้จะถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลเป็นหลัก

     2. กลุ่มที่ต้องใช้การวิเคราะห์และการใช้ข้อมูล จะแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยคือ กลุ่มที่สร้าง AI ขึ้นมา และกลุ่มที่จะทำงานร่วมกับ AI ได้ คนกลุ่มนี้จะต้องรู้ว่า AI มีประโยชน์อย่างไรบ้าง และนำมาประยุกต์ใช้กับงานของตนเอง เพื่อให้ได้ประโยชน์จากข้อมูลที่วิเคราะห์มาให้มากที่สุด

     3. กลุ่มที่ AI ไม่สามารถทดแทนได้ คือกลุ่มที่ต้องใช้ทักษะความสามารถที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ เช่น ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และสัมผัสของมนุษย์ (Human touch) รวมถึงงานศิลปะต่าง ๆ

          ทั้ง 3 กลุ่ม จะเป็นตัวผลักดันให้สถาบันการศึกษาตระหนักถึงการเตรียมความพร้อมของคนออกไปสู่ตลาดแรงงานนั้น ควรจะมีความรู้ความสามารถในด้านใดบ้าง ซึ่งเราไม่สามารถที่จะมีความรู้ที่มาจากความจำเพียงอย่างเดียวและจะออกไปทำงานได้ เพราะคุณสมบัตินี้ไม่มีความต้องการอีกแล้ว เพราะเราสามารถ Search ข้อมูลต่าง ๆ ได้ทุกที่ แต่ทักษะในการทำงานร่วมกับคน (People management skills) ทักษะในการแก้ปัญหา (Problem solving skills) ทักษะในการเจรจาต่อรอง (Negotiation skills) จะมีความสำคัญมาก ซึ่ง AI ยังพัฒนาไปไม่ถึง แต่ก็ยังมีขีดจำกัดที่สู้มนุษย์ไม่ได้

เมื่อองค์กรปรับลดขนาดลง แต่สถาบันการศึกษายังผลิตบัณฑิตเท่าเดิม

          นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาไปแล้ว จะถูกคาดหวังสูงมาก เพราะควรจะทำงานต่าง ๆ ในสิ่งที่ AI ไม่สามารถทำได้ และก็ควรที่จะทำงานร่วมกับ AI ได้ด้วย ซึ่งในอดีตนั้นเทคโนโลยีถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุนการทำงานของมนุษย์ แต่ปัจจุบันและอนาคตจะไม่ใช่แล้ว มนุษย์จะถูกใช้เพื่อสนับสนุนให้เทคโนโลยีทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด จะมีการใช้แรงงานคนน้อยลง เพราะนำเทคโนโลยีมาทดแทนได้ แปลว่า “คนจะต้องพัฒนาคุณภาพ” ซึ่งก็เป็นความท้าทายของสถาบันการศึกษาและนักศึกษา โดยเฉพาะนักศึกษาที่จะต้องพัฒนาและปรับตัว เพื่อให้ตนเองมี “Value”

นักศึกษาควรจะมีทักษะทำงานเป็นทุกอย่าง หรือไม่?

          เมื่อมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ตลาดแรงงานจะต้องการคนที่มีความสามารถเฉพาะทางหรือเจาะจงมากขึ้น ซึ่งมีการคาดการณ์ในอนาคตว่า บริษัทหรือนายจ้างจะต้องการปริญญาน้อยลง แต่จะต้องการคนที่มีความสามารถและความชำนาญในการทำงานเฉพาะทางมากกว่า ซึ่งคนที่เป็น “เป็ด” หรือไม่มี specialist ทางด้านใดด้านหนึ่งก็อาจจะไม่รอด เพราะฉะนั้น คนจึงจะต้องปรับเปลี่ยนและพัฒนาคุณภาพของตนเองด้วยเช่นกัน

          การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่น่ากลัวไม่น้อยเลย ทุกคนควรพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและพร้อมที่จะปรับตัวอยู่เสมอ โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาที่ผลิตกำลังคนออกมาสู่ตลาดแรงงาน และนักศึกษาที่จะเป็นกำลังในอนาคตต้องสามารถปรับตัวได้อย่างทันสถานการณ์ และควรมีความสามารถเฉพาะทาง รวมถึงการมีทักษะในการทำงานร่วมกับมนุษย์เป็นสำคัญ