Loading...

ภาษาไทยกับคนรุ่นใหม่ ผ่านมุมมอง “ยอร์ช ธีระวัฒน์” พิธีกรแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

“ภาษาไทย” เอกลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน เป็นสิ่งที่ต้องกระตุ้นให้เยาวชนไทยเห็นคุณค่าความงดงามของภาษาไทยและร่วมกันสืบสานเอกลักษณ์ทางภาษาของชาติ 

วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2562

  

          เราไปฟังมุมมองความคิดของเด็กรุ่นใหม่กับการใช้ “ภาษาไทย” ในยุคปัจจุบัน ซึ่งเขายังได้รับรางวัลเยาวชนผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นแห่งชาติที่มีความสามารถด้านการพูด การอ่าน การเขียน จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ประจำปี 2562 เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ และยังเป็นหนึ่งใน MC of Thammasat อีกด้วย จะเป็นใครไปไม่ได้ “ยอร์ช” ธีระวัฒน์ ชูรัตน์ ว่าที่บัณฑิตใหม่ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จะมาถ่ายทอดความคิดเห็นในมุมของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการอนุรักษ์ภาษาไทย

กับรางวัลเยาวชนผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น

          ดีใจมากครับที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมให้ความสำคัญกับการมอบรางวัลนี้ เพราะต้นแบบที่ดีจะนำทางไปสู่การพัฒนา ผมภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการจรรโลงวัฒนธรรมด้านภาษาไทย และภายใต้ความดีใจและภาคภูมิใจ ผมถือว่ารางวัลนี้เป็นเสมือนเครื่องเตือนใจ ให้เราใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง อนุรักษ์เอกลักษณ์ที่งดงามนี้ให้คงอยู่ต่อไป

ทักษะการสื่อสารที่เป็นตัวเอง

          ส่วนตัวแล้วผมฝึกฝนทักษะ “การพูด” มามากที่สุด และใช้ประโยชน์ของการพูดได้ดีกว่าด้านอื่น ๆ แต่หากเราพิจารณาดูแล้ว ทั้งการพูด การอ่าน และการเขียน เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงถึงกัน โดยไม่สามารถขาดทักษะใดไปได้ สำหรับการใช้ภาษาไทย แน่นอนว่าสิ่งที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด คือ “การพูด” เพราะเราสื่อสารกันในชีวิตประจำวัน แต่ในขณะเดียวกันการที่เราจะพูดได้ อย่างเป็นลำดับขั้นตอน และมีเนื้อหาชัดเจน ล้วนเกิดจากการลงมือเขียนด้วยตัวเอง จึงจะเข้าใจเรื่องที่จะพูดเป็นอย่างดี สองอย่างที่ว่ามาเป็นกระบวนการส่งออก ที่เราส่งสารไปให้ผู้อื่น และสำหรับการอ่าน เป็นกระบวนการรับเข้า เราต้องมีข้อมูล มีองค์ความรู้ เพื่อให้สิ่งที่เราส่งออกไป มีแก่นสาร และเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ทั้งสามทักษะล้วนเป็นสิ่งที่ฝึกฝนได้ ความยากง่ายจึงขึ้นอยู่กับความชอบและความถนัดของแต่ละบุคคล แต่ทั้งนี้ทุกคนสามารถพูดเก่ง เขียนเก่ง และอ่านเก่งได้ ถ้าเราตั้งใจ และฝึกฝนอย่างจริงจังครับ

บทบาทหน้าที่ MC of Thammasat

          การทำหน้าที่ของพิธีกร สำคัญที่การพูด ผู้ฟังจะรับรู้ถึงความสามารถในการใช้ภาษาได้ด้วยการฟัง เพราะฉะนั้นหากเราพูดและออกเสียงไม่ชัดเจน คนฟังเขาจะคิดไปก่อนแล้ว ว่าเราไม่แม่นยำเรื่องการใช้ภาษา ถึงแม้เราจะรู้ถึงวิธีการ หรือความหมายเป็นอย่างดีก็ตาม ถ้าเราสื่อสารออกมาไม่ครบถ้วน ก็จะขาดความน่าเชื่อถือไปทันที การพูดภาษาไทยอย่างถูกต้องตามอักขระวิธี แม้จะมีรายละเอียดเยอะ แต่หากเรามีสติ ฝึกซ้อมด้วยตนเองสม่ำเสมอ จะช่วยให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้ ‘เคล็ดลับของผม’ ที่ใช้อยู่เสมอคือ การอ่านออกเสียง ถ้าอยากพูดชัด ต้องพยายามเปล่งเสียงออกมาให้ดัง และถูกต้อง เวลาอ่านหนังสือ หรือป้ายโฆษณา หาโอกาสให้ตัวเองได้ใช้เสียง ส่วนหนึ่งเป็นการบริหารปาก และจะทำให้เราคุ้นชินกับการพูด จะช่วยทำให้เราพูดได้ชัดเจนขึ้นครับ

          “การทำหน้าที่พิธีกรแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วยพัฒนาความสามารถการพูดและการใช้ภาษาไทยของผมมาก เพราะเรามีเวทีให้ฝึกฝนตัวเองอยู่เสมอ จึงอยากให้ทุกคนหาโอกาสในการพัฒนาตัวเอง โดยเฉพาะในรั้วมหาวิทยาลัยครับ” – ยอร์ช ธีระวัฒน์ ชูรัตน์

การใช้ภาษาไทยปัจจุบัน

          คนในสมัยนี้ กลัวที่จะพูดไทยให้ถูกต้อง มองว่าเก่า คร่ำครึ ไม่จำเป็นต้องพูดหรือพิมพ์สนทนากันให้ถูกต้อง ผมมองว่าปัญหานี้เกิดจากสาเหตุสำคัญ 2 ประการ คือ ‘ความเคยชิน’ และ ‘ค่านิยมในสังคม’ หลายคนอาจจะนึกไม่ถึงว่าสภาพสังคมของไทยเราเองที่ทำให้ภาษาไทยถดถอย คนพูดไทยชัดเจนถูกต้อง กลายเป็นคนแปลก และเยอะเกินไป แต่คนที่พูดภาษาไทยแบบไม่ถูกต้อง หรือผิดเพี้ยนไปจากเดิมกลับดูกลมกลืนและเป็นปกติ ยกตัวอย่างเช่น เวลานั่งพูดคุยกับเพื่อน ถ้าผมกระดกลิ้นคำที่มี ร เรือ มากเกินไป เพื่อนบางคนก็จะล้อขึ้นมา (หัวเราะ) ส่วนตัวผมรู้สึกปกติมาก ไม่โกรธ และไม่หงุดหงิดเลย เหตุผลเพราะว่า เพื่อนอาจจะไม่คุ้นชินกับการพูดให้ถูกต้อง แต่พอเรายืนยันในความถูกต้องของเราและพูดให้เป็นกิจวัตรในทุกวัน ปัจจุบันไม่มีใครล้อผมแล้ว เพราะเขารู้แล้วว่าผมพูดถูก และจะพูดให้ชัดเจนตลอด สำคัญคือตัวเราเองมั่นคงในความถูกต้องนี้แค่ไหน ต้องกล้าที่จะแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ถูกต้องเป็นแบบนี้

ภาษาวิบัติและคำพูดแปลกๆ

          การใช้ภาษาจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยเป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับ ไม่เช่นนั้นปัจจุบัน เราคงต้องพูดเยี่ยงนี้ แล้วไซร้ อันใดเล่ากันอยู่ ผมไม่มองว่าการใช้ภาษาที่เรียกว่า “ภาษาวิบัติ” คือเรื่องที่ผิด หากแต่ความวิบัติจะเกิดแน่ ถ้าคนไทยไม่สำนึกรู้ตัว ว่าสิ่งใดคือแบบแผนที่ถูกต้อง และปล่อยให้ความเคยชินกลืนกินวัฒนธรรมอันดีงามของเรา คุณจะพูดคำว่าสินสาด กับเพื่อนก็ได้ แต่ต้องรู้ว่าจริง ๆ แล้ว ต้องใช้คำว่า ศิลปศาสตร์ หรือคุณจะใช้คำว่า สินกำ กับเพื่อนก็ได้ แต่ตัวเองก็ต้องรู้ว่าที่ถูกมันคือ ศิลปกรรมศาสตร์ แต่เกือบทุกครั้งเราทุกคนจะเคยชินและนำสิ่งที่ใช้อยู่บ่อย ๆ มาใช้ในโอกาสอื่นด้วย ซึ่งอาจจะไม่เหมาะสม ในภาษาไทยจึงมีคำว่า กาละ-เทศะ อย่างไรล่ะครับ ตราบใดที่ยังไม่เคยรู้ถึงคำที่ถูกต้อง ต้องศึกษาหาความรู้ว่าที่ถูกเป็นอย่างไร เมื่อรู้แล้วเราจะเลือกใช้คำได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมตามสถานการณ์ครับ

ฝากถึงการใช้ “ภาษาไทย” อย่างถูกต้อง

          ในฐานะที่ผมก็เป็นคนรุ่นใหม่เหมือนกัน อยากบอกว่า ‘ภาษาไทย’ เป็นภาษาที่ใช้กันในประเทศเดียว ไม่มีประเทศใดในโลกนี้ใช้ภาษาไทยเหมือนเรา หลายคนจึงมองว่าจะผิดแปลกไปจากเดิม ก็หาใช่ประเด็นสำคัญ แต่ในความคิดของผมเห็นว่า ยิ่งเรามีเอกลักษณ์ที่เป็นหนึ่งเดียวแล้ว ยิ่งต้องรักษา หวงแหน และเอาใจใส่ให้มากที่สุด เพราะสิ่งนี้เป็นรากเหง้าที่แสดงถึงความเป็นไทย แม้สังคมจะเจริญก้าวหน้าไปมากแค่ไหน ก็ไม่ได้หมายความว่าภาษาประจำชาติเราต้องพังทลายไปด้วย

          การหันมาใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง ไม่ใช่การคลั่งชาติ หรือเป็นการปิดกั้นภาษาอื่นแต่อย่างใด แต่การคงอยู่ของภาษาไทย หมายถึงความคงอยู่ของวัฒนธรรมไทยที่แสดงตัวตนของเราบนเวทีโลก ดังนั้นต่อจากนี้คนไทยทุกคนต้องให้ความสำคัญกับการใช้ภาษาไทย รู้จักใช้ให้เหมาะสมตามกาลเทศะ ใช้ในทางที่ถูกต้องสร้างสรรค์ สร้างโอกาสให้กับตัวเอง

          สุดท้ายเรื่องที่ผมอยากฝาก คือปัจจุบันผมมักเห็นคนที่ตั้งตนเป็นผู้รู้ในภาษาไทย มองคนที่ใช้ภาษาแบบผิด ๆ ว่าเป็นคนที่ลืมรากเหง้าของตน บางครั้งหลายท่านหงุดหงิดจนน่ากลัว แต่หลายเหตุการณ์สอนเรามาแล้วว่าการบังคับหรือการชี้นิ้วต่อว่า ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้คนหันกลับมาใส่ใจในเรื่องนั้นได้จริง แต่การแสดงความงามของภาษาไทยให้เห็น ผ่านงานศิลป์อันทรงคุณค่า จะช่วยกล่อมเกลาให้คนไทยเรากลับมามองเห็นความงามของภาษาไทยได้เอง แค่เพียงเราทำตัวเองให้เป็นแบบอย่าง แนะนำในเรื่องที่สมควรแก่คนรอบข้าง เท่านี้ก็เป็นการรักษาภาษาไทยของเราแล้วครับ