Loading...

ธรรมศาสตร์ ดึง UN และภาคีเครือข่าย คุ้มครองสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศและสิทธิมนุษยชน

 

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) เปิดตัวโครงการยุติการคุกคามทางเพศในสถาบันการศึกษา ส่งเสริมความปลอดภัย-ความเข้าใจทางเพศ

วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายนพ.ศ.2562

  

          ​มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) และภาคีในประเทศ อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศและสุขภาพ จัดงานเปิดตัวโครงการยุติการคุกคามทางเพศในสถาบันการศึกษา และส่งเสริมความปลอดภัยและความเข้าใจทางเพศ ภายใต้แนวคิด “TU Say No To Sexual Harassment on Campus. We are ‘Generation Equality’.” ขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งมิติหญิงชายและความหลากหลายทางเพศ รวมถึงการสร้างโครงข่ายทางสังคมเพื่อให้เกิดกลไกการเฝ้าระวัง การตรวจสอบ เยียวยาและให้ความเป็นธรรมอย่างเสมอภาคกับทุกคน ตลอดจนสร้างความปลอดภัยและความมั่นใจในการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียที่ได้ทำงานร่วมกับ UN อย่างจริงจัง

​          ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์และสภาพปัญหาเกี่ยวกับความไม่ปลอดภัยและความไม่เข้าใจทางเพศที่เกิดขึ้นในทุกสถาบันการศึกษา ทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เรียนรู้และถอดบทเรียนการทำงาน เพื่อให้เกิดมาตรการการป้องกัน แก้ไข และเยียวยาอย่างเป็นรูปธรรม โดยล่าสุดได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมความปลอดภัยและสร้างความเข้าใจทางเพศขึ้น ทำหน้าที่เป็นกลไกหลักในการคุ้มครองนักศึกษา และบุคลากรที่ใช้ชีวิตในประชาคมธรรมศาสตร์ทุกคน

          สำหรับคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าว จะมีรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาเป็นประธาน และมีกรรมการจากผู้บริหารธรรมศาสตร์ คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ และคณะสาธารณสุขศาสตร์ ผู้แทนสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งผู้แทนจากเครือข่ายภาคประสังคมด้านสิทธิทางเพศ และผู้แทนจาก UN รวมทั้งสิ้น 15 ราย

          ​“คณะกรรมการฯ ชุดนี้จะเป็นกลไกหลักในการรับเรื่องร้องเรียนจากนักศึกษา และจะให้การดูแล อำนวยความยุติธรรม และเยียวยาครอบคลุมทั้งในและนอกพื้นที่มหาวิทยาลัย ซึ่งจะช่วยทำให้การคุ้มครองสิทธิเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้นักศึกษามั่นใจ และมีที่ทางในการร้องทุกข์เมื่อเกิดปัญหาขึ้น” ศ.พญ.อรพรรณ กล่าว

          ศ.พญ.อรพรรณ กล่าวอีกว่า นอกจากการรับเรื่องร้องเรียนแล้ว คณะกรรมการฯ ยังมีหน้าที่จัดทำยุทธศาสตร์ แผนงาน มาตรการ และกิจกรรมต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศและความรุนแรงทางเพศ ภายใต้หลักการ “ไม่มีใครมีสิทธิทำร้ายใคร ไม่ว่ารูปแบบหรือสถานที่ใด เวลาใดก็ตาม”

          ผศ.รณภูมิ สามัคคีคารมย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) ตาม พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ในฐานะคณะกรรมการฯ กล่าวว่า ผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศในหลายรูปแบบ ตั้งแต่การใช้วาจา สายตา ไปจนถึงการแตะเนื้อต้องตัว ซึ่งจากการเก็บข้อมูลพบว่ามีนักศึกษาถึง 21% หรือราว 1 ใน 5 เคยประสบกับภาวะคุกคามดังกล่าว ฉะนั้นกลไกที่ธรรมศาสตร์สร้างขึ้นจะเท่าทันความซับซ้อนของปัญหา เนื่องจากคณะกรรมการฯ มีความหลากหลายของเพศ อายุ ความเชี่ยวชาญ ที่สำคัญก็คือมีกรรมการที่มาจากหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัยด้วย

          ทั้งนี้ ภายใต้คณะกรรมการฯ ชุดนี้ จะมีคณะอนุกรรมการฯ ที่ทำหน้าที่สอบสวน แสวงหาข้อเท็จจริง รวมถึงการดำเนินการเสนอให้มีการคุ้มครองฉุกเฉินผู้ถูกกระทำ มาตรการเยียวยา และส่งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำไปพัฒนาศักยภาพให้กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้

          “การสร้างพื้นที่ปลอดภัยและสังคมปลอดภัยบนหลักการการให้ความเคารพซึ่งกันและกันนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมไม้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกระดับ ดังนั้นการทำงานในครั้งนี้จึงเต็มไปด้วยการมีส่วนร่วมเพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกัน นั่นก็คือความปลอดภัยและความเข้าใจทางเพศอย่างแท้จริง” ผศ.รณภูมิ กล่าว

          ด้าน นายสุณัชธวิทย์ วัฒนผล ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่คณะกรรมการฯ ไม่ได้มีแต่คณะอาจารย์ แต่ยังมีนักศึกษาร่วมด้วย ซึ่งจะมีส่วนช่วยในฐานะผู้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร เหตุการณ์ หรือเรื่องราวที่ถูกสะท้อนผ่านกลุ่มเพื่อนฝูงและสื่อสังคมต่าง ๆ และนำเรื่องราวเหล่านั้นมาสะท้อนเพื่อหามาตรการช่วยเหลือเยียวยาต่อไป

          นายสุณัชธวิทย์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาผู้เผชิญปัญหามักไม่มีโอกาสสะท้อนเรื่องราวที่เกิดขึ้น ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการฟังเสียงนักศึกษา ซึ่งเป็นสมาชิกส่วนใหญ่ในรั้วมหาวิทยาลัยให้มากที่สุด ผ่านการสะท้อนจากตัวแทนนักศึกษาที่จะขับเคลื่อน สร้างความเข้าใจ และช่วยเหลือเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัย ก่อนที่จุดเริ่มต้นจุดเล็ก ๆ นี้จะขยายใหญ่สู่ระดับประเทศชาติต่อไป

          “สำหรับเพื่อนทุกคนที่เคยประสบปัญหา หรือมีเพื่อนประสบปัญหา สิ่งที่ต้องเปลี่ยนคือการไม่เก็บเรื่องเหล่านั้นไว้กับตัวเองหรือเฉพาะคนรอบข้าง แต่ต้องเริ่มจากการแชร์ประสบการณ์เหล่านั้นออกมา เพื่อร่วมกันหามาตรการทางออก ซึ่งจะช่วยเยียวยาทั้งตัวผู้ประสบเอง กระทั่งป้องกันไม่ให้เกิดกับเพื่อนคนอื่น ๆ ต่อไป” นายสุณัชธวิทย์ กล่าวทิ้งท้าย