Loading...

ชวน 4 นักศึกษา มธ. แชมป์โตโยต้า ถนนสีขาว 2019 คุยแผนรณรงค์ความปลอดภัยในสถานศึกษา

นักศึกษาธรรมศาสตร์ได้คว้าแชมป์บนเวทีระดับประเทศในโครงการโตโยต้า ถนนสีขาว เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน โดยมีเป้าหมายให้ทุกคนหันมาข้ามทางม้าลายเพื่อความปลอดภัย

วันศุกร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ.2563

  

          นับเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันที่นักศึกษาธรรมศาสตร์ได้ไปสร้างชื่อเสียงและสามารถคว้าแชมป์บนเวทีระดับประเทศในโครงการ "โตโยต้า ถนนสีขาว Toyota Campus Challenge 2019" โดยเป็นผลงานความสำเร็จจาก 4 นักศึกษาธรรมศาสตร์ชั้นปีที่ 3 ได้แก่ นายธนภัทร พรหมภัทร์ และนางสาวอาทิตยา พิมพาคำ จากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน นางสาวอารียา หน่อสุวรรณ จากคณะศิลปศาสตร์ และนางสาวปวริศา ปัทมะสุวรรณ์ จากคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 ซึ่งพวกเขาให้ความสำคัญโดยหยิบเอาประเด็นของ “ทางม้าลาย” ขึ้นมาใส่ไอเดียจนกลายเป็นแผนรณรงค์สร้างความปลอดภัยในสถานศึกษาที่ดีที่สุด โดยน้อง ๆ ตั้งเป้าหมายไว้ว่า “ทำให้นักศึกษาธรรมศาสตร์ หันมาข้ามทางม้าลายที่เราสร้างขึ้นเพื่อความปลอดภัยในการข้ามถนน”

          ในปีนี้มีโจทย์การแข่งขันคือ “ปลุกพลังคนรุ่นใหม่ ร่วมสร้างสังคมคนขับรถดี ลดอุบัติเหตุในสถานศึกษาให้เป็นศูนย์” ซึ่งผู้แข่งขันจะต้องวิเคราะห์ปัญหา วางแผนการรณรงค์ พร้อมทั้งลงมือปฏิบัติ และจะต้องมีการวัดผลอย่างจริงจังด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลยที่จะเนรมิตแผนดำเนินงานต่าง ๆ ออกมาได้อย่างรวดเร็วและทันที เราจึงได้ชวนน้อง ๆ มาพูดคุยถึงที่มาที่ไปกว่าจะได้แชมป์ในปีนี้มาครองได้สำเร็จ

จุดเริ่มต้นของแผนรณรงค์ “ทางม้าลาย”

          เราทำแผนการสื่อสารเพื่อรณรงค์ให้นักศึกษาธรรมศาสตร์ โดยเฉพาะนักศึกษาสายสังคมศาสตร์ข้ามทางม้าลายบริเวณระหว่างโรงอาหารสังคมศาสตร์ และอาคารเรียน SC ที่เราได้ร่วมมือกับนักศึกษาวิชา TU100 กลุ่ม Zebra Crossing Calling See Me สร้างขึ้น และจากผลสำรวจความคิดเห็น พื้นที่บริเวณนี้เป็นจุดที่ข้ามถนนยาก อันตราย และมีนักศึกษาข้ามถนนจำนวนมาก ซึ่งพวกเราเป็นกลุ่มที่ประสบปัญหานี้เช่นเดียวกัน จึงอยากจะพัฒนาให้การข้ามถนนตรงนี้ให้มีปลอดภัยขึ้น โดยเริ่มง่าย ๆ จากการสร้างทางม้าลายขึ้นมา และเป็นการจัดระเบียบคนข้ามถนน และคนขับรถบริเวณนั้น

พูดถึงไอเดียและการนำเสนอกันบ้าง

          เราใช้กลยุทธ์การเล่าเรื่อง (Storytelling) มาเป็นกลยุทธ์หลักในการสร้างเนื้อหา โดยเล่าผ่าน Story ภายใต้ key message “ความมงคล” จากนั้นสร้าง Content ที่สอดคล้องกับ key message ผ่านสื่อออนไลน์และออฟไลน์ เช่น Viral Video, Online Content และสร้าง Mascot “น้องนำโชค” เพื่อใช้ในการสื่อสารเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษาให้แปลกใหม่และมีความน่าสนใจ จากนั้นเราบูรณาการช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ เพื่อสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายอย่างตรงจุด โดยพิจารณาจากพฤติกรรมการใช้สื่อของนักศึกษาธรรมศาสตร์เป็นหลัก  

          เราใช้เวลาในการวางแผนและดำเนินงานทั้งหมด 3 เดือน ตั้งแต่การลงพื้นที่ค้นหาปัญหา เขียนแผนการสื่อสาร และกำหนดกลยุทธ์ จากนั้นในเดือนที่ 3 นำแผนมาปฏิบัติจริงและวัดผลการดำเนินงาน เราใช้เวลาทั้งเทอมทุ่มเทให้กับโปรเจกต์นี้ เพราะคนในทีมน้อยแต่ต้องการงานที่มีประสิทธิภาพเลยต้องใส่ใจในทุกรายละเอียด และ Feedback

          โดยเราแบ่งหน้าที่ในทีมตามความถนัดของแต่ละคน เช่น เพื่อนจากคณะวารสารฯ ดูแลเรื่องแผนการสื่อสาร การเลือกใช้สื่อที่เหมาะสม เพื่อนจากคณะวิทยาการเรียนรู้ฯ ดูแลเรื่องการประสานงานกับชุมนุมและจัดกิจกรรมออนกราวน์ ส่วนเพื่อนที่เรียนคณะศิลปศาสตร์ดูแลงานในภาพรวมทั้งหมด เช่น การวิเคราะห์ข้อมูล การนำเสนอเนื้อหา ทิศทางการสื่อสารที่เหมาะสม แต่ในภาพรวมทุกคนช่วยกันทำงานทุกอย่าง การแบ่งหน้าที่ชัดเจนทำให้งานมีระบบและแข่งกับเวลาได้แต่ส่วนใหญ่อันไหนช่วยกันได้เราก็ช่วย นอกจากนี้ งานของเรายังได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อน ๆ ที่มาช่วยกันทำงานด้านอื่น ๆ ทำให้งานประสบความสำเร็จตามที่พวกเราได้ตั้งใจไว้

แผนการต่อยอดในระยะต่อไป?

          เราได้วางแผนต่อยอดโครงการออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ Sustainability Project และ Communication & Education Project เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการใช้ถนนของนักศึกษาอย่างยั่งยืน และสร้างความตระหนักด้านความปลอดภัยผ่านการเรียนรู้ให้แก่นักศึกษาในวงกว้าง

          โดยในส่วนของ Sustainability Project เราจะทำเนินชะลอความเร็วสำหรับคนข้าม (Raised Crosswalk) บนทางม้าลายบริเวณเดิม เพื่อให้ทางม้าลายมีความยั่งยืนและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และปรับโครงสร้างบริเวณโดยรอบทางม้าลายให้เอื้อต่อการข้ามทางม้าลายของผู้พิการ

          และ Communication & Education Project เราจะจัดทำสื่อการสอนระยะยาวเรื่องกฎระเบียบจราจร และสร้างความตระหนักด้านความปลอดภัยทางถนนในรายวิชา TU100 และทำค่ายสร้างสติ Safety Together โดยเป็นการจัดทำกระบวนการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้ท้องถนนให้แก่น้อง ๆ นักเรียนโรงเรียนสาธิตเเห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

          “รู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ การเข้าร่วมประกวดในโครงการนี้ สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่รางวัล แต่เป็นการฝึกคิด และลงมือแก้ไขปัญหาจริงโดยเริ่มจากพื้นที่เล็ก ๆ ในมหาวิทยาลัย” หนึ่งในสมาชิกในทีม กล่าว

ตามแนวคิดของโครงการฯ ให้น้อง ๆ พูดถึงมุมมองต่อ “ความปลอดภัยในสถานศึกษา”

          “ความปลอดภัย” คือ การที่ทุกคนเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทางได้ตามที่ตั้งใจไว้ มีน้ำใจ แบ่งปันต่อเพื่อนร่วมทาง โดยเริ่มจากสังคมเล็ก ๆ ของเรา คือ สถานศึกษา ที่จะปลูกฝังให้เรานำไปปรับใช้บนท้องถนนต่อไปในอนาคต แต่สิ่งที่ท้าทายคือจะทำอย่างไรให้ทุกคนเข้าถึงความปลอดภัยขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ได้อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะในสถานศึกษา มหาวิทยาลัยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ให้ปลอดภัยเพื่อประโยชน์ของนักศึกษาทุกคน

พูดถึงการมีส่วนร่วมสร้างความปลอดภัยในสถานศึกษา

          การมีส่วนร่วมในการสร้างความปลอดภัยในสถานศึกษามีอยู่แค่ 2 วิธีง่าย ๆ คือ 1. ทุกคนต้องมีสติ และ 2. ต้องเคารพสิทธิผู้อื่น ถ้าทุกคนมีสติ ไม่ประมาท และเคารพสิทธิผู้อื่นโดยการเคารพกฎจราจร ใส่ใจว่าทุกชีวิตมีค่า เพียงแค่นี้ก็สามารถสร้างความปลอดภัยในสถานศึกษาได้อย่างยั่งยืนแล้ว โครงการรณรงค์ของเราจึงเป็นเหมือนแรงเสริมในการสร้างสติและเคารพกฎจราจรให้กับนักศึกษา และที่สำคัญไม่แพ้กันคือโครงสร้างพื้นฐานที่มหาวิทยาลัยจัดสรรให้นักศึกษาใช้ต้องดีและมีคุณภาพควบคู่กันไปด้วย

          “พวกเราได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ และทำให้เรารู้ว่าหากเรามีความพยายาม ตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ เราก็สามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมของเราได้ และเราต้องมีคือ “ความอดทน ความมุ่งมั่น และความตั้งใจ” ตั้งใจทำงานจนสำเร็จลุล่วง มุ่งมั่นเรียนรู้ในสิ่งที่ยังไม่รู้ รับมือกับปัญหาและลงมือแก้ไขอย่างมีระบบ สุดท้ายคืออดทนเพื่อที่จะได้รู้ว่าเราสามารถรับมือสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งถือว่าเป็นบททดสอบที่จะทำให้เรารู้จักตัวเองไปพร้อม ๆ กัน” หนึ่งในสมาชิกในทีม กล่าวทิ้งท้าย

          จากโครงการฯ น้อง ๆ ได้นำความรู้ และทฤษฎีของศาสตร์ต่าง ๆ ในห้องเรียน จากตำรา หรือที่อาจารย์สอนมาปรับใช้ให้เกิดชิ้นงานจริง จนสามารถสร้างความปลอดภัยให้กับชาวธรรมศาสตร์ได้

ขอบคุณภาพจาก FB : CSR Society with Toyota