Loading...

จากงานวิจัยเพื่อตีพิมพ์สู่การสร้างสรรค์งานวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรม

"รู้จักแนวทางการวิจัยเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมกับอาจารย์ดร. ณัฐดนย์ พรรณุเจริญวงษ์"

 

 

          การวิจัยและพัฒนาถือเป็นส่วนสำคัญที่รัฐบาลไทยส่งเสริมเพื่อยกระดับประเทศไทยให้ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางและวิกฤตเศรษฐกิจ รวมถึงความท้าทายทางเศรษฐกิจซึ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น มหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันทางการศึกษาและแหล่งเรียนรู้เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรม ถือเป็นเป้าหมายสำคัญที่รัฐบาลต้องการให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการทำงานด้านการวิจัยและการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทสให้มากยิ่งขึ้น แน่นอนว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหนึ่งภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลย่อมปฏิบัติตามพันธกิจเช่นเดียวกัน ฉะนั้น คณาจารย์และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยจึงถือเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญในการนำพามหาวิทยาลัยให้สามารถทำงานตอบโจทย์ประเทศ นอกจากนี้ด้วยเป้าหมายการเป็นมหาวิทยาลัยด้านการวิจัยระดับสากลของอธิการบดี การสร้างสรรค์นวัตกรรมและตีพิมพ์ผลงานการวิจัยย่อมช่วยตอบโจทย์นี้ได้เช่นเดียวกัน

          อาจารย์ดร. ณัฐดนย์ พรรณุเจริญวงษ์ หนึ่งใน YPIN Ambassador ถือเป็นอีกหนึ่งนักวิจัยรุ่นใหม่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งทำงานวิจัยมาหลากหลายรูปแบบทั้งงานวิจัยเพื่อมุ่งเน้นการตีพิมพ์ จนถึงการต่อยอดสู่การพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศและสังคมไทย ฉะนั้นประสบการณ์และทักษะ รวมถึงบทเรียนการใช้ชีวิตด้านการวิจัยของอาจารย์จึงถือเป็นเรื่องน่าสนใจ ในโอกาสนี้โครงการปีแห่งการตีพิมพ์และสร้างสรรค์นวัตกรรมจึงได้ถือโอกาสชวนอาจารย์มาพูดคุยในหลากหลายประเด็นทั้งงานวิจัยที่อาจารย์กำลังทำอยู่ แนวทางการพัฒนาผลงานวิจัยสู่นวัตกรรม แง่มุม แง่คิดสำหรับนักวิจัยเพื่อให้ฝ่าฟันอุปสรรคทั้งหลายไปได้ ตลอดจนเชิญชวนให้ทุกคนได้รู้จักทุนสนับสนุนต่าง ๆ ของทางมหาวิทยาลัยที่อาจารย์เคยใช้และสามารถสร้างประโยชน์ได้จริง

จากวิจัยเพื่อตีพิมพ์สู่การวิจัยเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม

          ก่อนอื่นต้องขอแนะนำก่อนว่าปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิขาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ฉะนั้นงานวิจัยส่วนใหญ่จึงเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาทางด้านเครื่องกลเป็นหลัก ในอดีตตั้งเรียนจนจบปริญญาเอก ผมถูกเทรนมาให้ทำงานวิจัยเพื่อเน้นการตีพิมพ์เป็นหลัก เน้นการสร้างแบบจำลองเพื่อแก้ไขปัญหาทางด้านเครื่องกล ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลากหลายประเด็นไม่ว่าจะเป็นประเด็นทางด้านพลังงาน ของเหลว หรือระบบความร้อน งานวิจัยส่วนใหญ่จึงเป็นการปฏิบัติการบนระบบคอมพิวเตอร์เป็นหลัก และมุ่งสร้างองค์ความรู้ใหม่ ฉะนั้นงานวิจัยส่วนใหญ่ในอดีตที่ผ่านมาจึงมีลักษณะเป็น Simulation มากกว่าไปลงมือปฏิบัติจริง เราตั้งสมมติฐานขึ้นมา จากนั้นก็พยายามแสวงหาแนวทางการแก้ไขปัญหานั้นผ่านเทคนิควิธีการต่าง ๆ แล้วอาศัยการคำนวณและการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ในการหาคำตอบ เน้นสร้างองค์ความรู้ และนำเอาองค์ความรู้ดังกล่าวผลิตเป็นงานวิจัยและส่งตีพิมพ์ในวารสาร พูดง่าย ๆ ก็คือ งานส่วนใหญ่ในอดีตเน้นการทำงานเพื่อตีพิมพ์

          เหตุผลใหญ่ที่งานวิจัยส่วนใหญ่ออกมาในแนวลักษณะนั้นเพราะต้องยอมรับว่าการลงมือปฏิบัติการจริงมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง และการทดลองแต่ละครั้งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก การคิดคำนวณผ่านระบบคอมพิวเตอร์เพื่อสร้างฐานองค์ความรู้ก่อนจะช่วยลดปัญหาเรื่องการใช้งบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ได้ ในขณะเดียวกันองค์ความรู้เหล่านี้ก็สามารถนำไปใช้ต่อยอดในเชิงปฏิบัติการจริงได้ในช่วงเวลาที่เหมาะสมเช่นเดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่ามันส่งผลด้านบวก โดยเฉพาะในการวิจัยปัจจุบันของผม ซึ่งเน้นการทำวิจัยแนวประยุกต์มากขึ้น พอถึงจุดหนึ่งเราเริ่มรู้สึกว่าการทำวิจัยเพื่อเน้นตีพิมพ์มันยังไม่ตอบโจทย์ตัวเองเท่าที่ควร ในขณะเดียวกันมันก็ไม่ตอบโจทย์สังคมด้วย จึงเป็นที่มาของการทำงานวิจัยในปัจจุบันที่เน้นการวิจัยเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการใช้งานจริงมากยิ่งขึ้น

          ฉะนั้นในปัจจุบันงานวิจัยโดยภาพรวมเน้นการสร้างนวัตกรรมเพื่อการใช้งานจริงมากยิ่งขึ้น โดยนำเอาองค์ความรู้ที่เคยศึกษามาประยุกต์ใช้ด้วยส่วนหนึ่ง และคิดค้นใหม่ด้วย ในขณะเดียวกันด้วยการทำงานร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหน่วยงานด้านเอกชน หรือชุมชน ยิ่งช่วยส่งเสริมให้งานวิจัยของเราได้รับการยอมรับและถูกนำไปใช้งานจริง ยกตัวอย่างงานที่ผ่าน ๆ มาก็มีทำงานร่วมกับปตท. บริษัท พานาโซนิค กระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ลาว เป็นต้น ด้วยการทำวิจัยที่ประสานและขยายเครือข่ายสู่ภายนอกมากยิ่งขึ้น ยิ่งส่งเสริมให้การสร้างสรรค์นวัตกรรมบนฐานงานวิจัยได้รับการนำไปทดลองใช้ และเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนตัวมองว่านี่คือการทำงานวิจัยที่ควรจะเป็น และช่วยตอบโจทย์ภาพใหญ่ของมหาวิทยาลัยที่ต้องการเป็นมหาวิทยาลัยระดับสากล ในอีกส่วนหนึ่งเพื่อตอบโจทย์อุดมการณ์ของมหาวิทยาลัยซึ่งเน้นตอบโจทย์สังคม ผมก็มีการทำวิจัยร่วมกับชุมชนเช่น การพัฒนาเครื่องตัดใบข้าวเพื่อลดการสั่นสะเทือน เครื่องหยอดข้าวนาแห้งแบบต่อพ่วงเจาะหมุน และเครื่องสับฟางแบบต่อพ่วง 3 จุด โดยอาศัยกำลังจากเพลาพีทีโอ เป็นต้น

ถ้าไม่มีใครผลักดันเรื่องการวิจัยและพัฒนาแล้วภาพรวมของมหาวิทยาลัยจะเป็นอย่างไร?

          คำถามข้างต้นคือสิ่งที่อยากชวนให้ลองคิดกันสั้น ๆ ดูว่าภาพของมหาวิทยาลัยโดยรวมจะมีลักษณะอย่างไร หากไม่มีหน่วยงานหรือโครงการใด ๆ ที่จะเข้ามากระตุ้นให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สร้างผลงานการวิจัยให้มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับ รวมถึงเผยแพร่องค์ความรู้เหล่านั้นผ่านการตีพิมพ์ ในความคิดเห็นผมนั้น มองได้สองมุม คือถ้าเราไม่มีการผลักดันเรื่องเหล่านี้เลย สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือการมีงานวิจัยขึ้นหิ้งจำนวนมากที่คณาจารย์และนักวิจัยทำขึ้น แต่ปราศจากการต่อยอดสู่การพัฒนาเป็นนวัตกรรม หรือแม้กระทั่งการตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ เราจะเน้นเพียงการพัฒนาฐานองค์ความรู้มากกว่างานวิจัยในเชิงประยุกต์ และที่สำคัญที่สุดเลยคือสภาวะสมองไหลของคณาจารย์และนักวิจัย เพราะพวกเราคงพยายามหนีไปหาแหล่งทุนหรือมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่มีความพร้อมมากกว่าในการสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานเอกชนหรือทุนจากต่างประเทศที่มีความพร้อมมากกว่า

          แต่เมื่อมามองอีกมุมหนึ่งเห็นได้ชัดว่าปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีความจริงจังอย่างมากในการส่งเสริมและสนับสนุนเงินทุนและงบประมาณด้านการวิจัย เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการพัฒนานวัตกรรม ตลอดจนเอื้ออำนวยให้นักวิจัยสามารถทำงานได้อย่างราบรื่น ตามแนวนโยบายของท่านอธิการบดี รศ. เกศินี วิฑูรชาติ ที่ต้องให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยทำงานวิจัยเพื่อตีพิมพ์ให้มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในฐานข้อมูล SCOPUS หรือ SCI ก็ตาม ตลอดจนการ Citation ของชิ้นงานซึ่งมีความสำคัญ เพราะมันสะท้อนถึงผลกระทบของงานวิจัยของเราที่มีต่องานชิ้นอื่น ๆ เพราะสิ่งเหล่านี้จะส่งเสริมให้อันดับของมหาวทิยาลัยเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ฉะนั้นเราจึงเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมามหาวิทยาลัยมีงบประมาณและโครงการจำนวนมากที่พยายามส่งเสริมให้คณาจารย์ทำงานวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

          สำหรับในปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยก็มีทุนรางวัลด้านการตีพิมพ์ผลงานให้ การแลกเปลี่ยนคณาจารย์ระหว่างมหาวิทยาลัยคู่สัญญา หรือจะเป็นทุนนักวิจัยรุ่นใหม่ หรือทุนนักศึกษาปริญญาโท/ปริญญาเอก ซึ่งนี้สะท้อนว่ามหาวิทยาให้ความสำคัญกับเรื่องการวิจัยเป็นอย่างมาก นี่จึงเปรียบเสมือนรางวัลสำหรับนักวิจัย ซึ่งมีส่วนช่วยให้มหาวิทยาลัยสามารถยกระดับสู่ความเป็นสากลอย่างมีคุณภาพได้มากยิ่งขึ้นผ่านการตีพิมพ์ผลงาน และพัฒนาต่อยอดสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม ทุกวันนี้เองมหาวิทยาลัยก็มีรางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่นระดับคณะ ซึ่งส่วนตัวมองว่ามันเป็นการสร้างขวัญกำลังใจที่ดีมาก เพราะหลายคนทำงานวิจัยมานาน สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนสิ่งตอบแทนและมีคุณค่าทางจิตใจ

          ในขณะเดียวกันผมมองว่าคณะฯ เองก็มีแหล่งทุนจำนวนมากในการสนับสนุนการทำงานวิจัยให้กับคณาจารย์ โดยเฉพาะนักวิจัยรุ่นใหม่ ที่ยังมีประสบการณ์น้อย ซึ่งทุนเหล่านี้ช่วยให้เราคุ้นชินกับการทำวิจัยและสามารถต่อยอดสู่การทุนที่มีขนาดใหญ่ขึ้นจากมหาวิทยาลัย และหน่วยงานภายนอก ฉะนั้นกล่าวได้ว่ามหาวิทยาลัยเราให้ความสำคัญในทุกระดับด้านการวิจัยทั้งในเรื่องการให้ทุนสำหรับการวิจัย รวมถึงการให้คุณค่าทางจิตใจของนักวิจัยผ่านรางวัลและเงินงบประมาณสนับสนุนต่าง ๆ

งานวิจัยที่ดีไม่ได้เกิดจากการคิดในหัว แต่เกิดขึ้นจากการลงมือทำ

          หลายคนมักพูดว่าถึงแม้ว่ามหาวิทยาลัยจะมีงบประมาณสนับสนุนแต่ยังคงมีอยู่อย่างจำกัด ต่ส่วนตัวผมมองว่างบประมาณดังกล่าวเหมือนเป็นเงินทุนตั้งต้น เพื่อให้เราได้มีโอกาสต่อยอดสู่การพัฒนางานวิจัยในอนาคต ซึ่งการต่อยอดดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอก สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่นักวิจัยหลาย ๆ คนควรมี และจำเป็นต้องฝึก เพราะงานวิจัยไม่สามารถอยู่ได้เพียงแต่ในมหาวิทยาลัยอย่างเดียวได้ แต่จำเป็นต้องสร้างเครือจ่ายความร่วมมือกับภายนอกด้วย เพื่อให้มันถูกใช้จริง เครือข่ายที่ขยายออกไปมากยิ่งขึ้น นั่นย่อมหมายถึงเงินงบประมาณที่จะตามมาจากภายนอก ฉะนั้นนักวิจัยไม่ควรจำกัดตัวเองเพียงในกรอบงบประมาณของมหาวทิยาลัย แต่ต้องแสวงหาจากภายนอกด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสร้างประโยชน์ให้มากกว่า

          ฉะนั้นความกล้าจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับเป็นนักวิจัยโดยเฉพาะนักวิจัยรุ่นใหม่ ซึ่งมีองค์ความรู้และศักยภาพเต็มเปี่ยม นอกจากความกล้าแล้ว นักวิจัยรุ่นใหม่ก็ต้องตั้งคำถามกับตัวเองไว้เสมอว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่และทำเพื่ออะไร พยายามเลือกงานที่ตัวเองรัก งานที่ตนเองสนใจ อย่ากลัวที่จะผิดพลาด เพราะถ้าเราไม่ทำอะไรเลยมันก็จะไม่ได้ลอง ที่สำคัญความสำเร็จเริ่มต้นจากการลงมือทำ ถ้าคิดเฉย ๆ จะไม่มอะไรเกิดขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะนักวิจัย ขาดไม่ได้คือเรื่องกำลังใจโดยเฉพาะกำลังใจจากตัวเอง สิ่งนี้หลายคนละเลยแต่สำหรับผมมันจำเป็นมาก ๆ

          อีกส่วนที่ต้องพิจารณาสำหรับนักวิจัยคือการพัฒนาไม่ว่าจะตนเองหรืองานวิจัยไม่ได้เกิดจากคำชมเพียงอย่างเดียวแต่เกิดจากคำติด้วย ฉะนั้นจงเปิดใจรับฟังและปรับปรุงมันอยู่ตลอดเวลา เราต้องรู้จักรับฟังให้มากกว่าที่จะพูด ไม่ใช่พูดอย่างเดียวแต่ไม่ทำอะไรเลย จงอย่าหยุดพัฒนาตัวเอง แสวงหาความรู้ใหม่ ๆ มาเพิ่มเติมเสมอ ๆ ระเบียบวินัยเป็นเรื่องสำคัญ และที่ขาดไม่ได้คือการมีเครือข่ายที่ดี สร้างเครือข่ายทั้งกับคณาจารย์ภายในคณะ ภายนอกคณะ ตลอดจนบุคคลภายนอก เพราะมันจะช่วยเกื้อหนุนเราให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สุดท้ายร่างกายเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าสุขภาพแย่ทุกอย่างก็จบ ผมว่าสิ่งเหล่าเป็นเรื่องที่นักวิจัยไม่ว่ารุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่ก็ควรมี