Loading...

งานวิจัยสังคมศาสตร์เพื่อตอบปัญหาสังคมไทยในวังวนความขัดแย้ง

"รู้จักแนวทางการวิจัยเพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับสังคมไทยในวังวนความขัดแย้งกับอาจารย์ดุลยภาพ จาตุรงคกุล"

 

 

          การศึกษาวิจัยถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งสำหรับการพัฒนาองค์ความรู้ในการต่อยอดสู่การพัฒนาและแสวงหาแนวทางใหม่ ๆ ในการแก้ไขปัญหา อีกหนึ่งมุมมองการวิจัยที่น่าสนใจและได้รับความสนใจในหลายประเทศทั่วโลก คือการวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ ซึ่งมีโจทย์และคำถามที่มีความแตกต่างออกไปจากการวิจัยในแนววิทยาศาสตร์ที่มุ่งเน้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ และขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงในภาคการผลิตและเศรษฐกิจ แต่สำหรับการวิจัยในทางสังคมศาสตร์อาจมีโจทย์อยู่ที่การแก้ไขปัญหาสังคมหรือความพยายามในการอธิบายปรากฎการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม เพื่อเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันของประชาชนในสังคมนั้น สิ่งเหล่านี้ทำให้งานวิจัยในสายสังคมศาสตร์ยังคงเป็นที่สนใจและได้รับการสนับสนุนในหลายประเทศเพื่อร่วมออกแบบแนวทางการพัฒนาร่วมกับแขนงวิทยาศาสตร์ เพราะการพัมนาของประเทศจำเป็นต้องขับเคลื่อนทั้งในเชิงการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไปอย่างพร้อมเพียงกัน

          อาจารย์ดุลยภาพ จาตุรงคกุล หนึ่งใน YPIN Ambassador ถือเป็นอีกหนึ่งนักวิจัยรุ่นใหม่ของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งสนใจทำงานวิจัยเกี่ยวกับการอาศัยแนวคิดทางด้านปรัชญาการเมืองมาสอดส่องและทำความเข้าใจปรากฎการณ์ทางสังคมไทยที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันเพื่อเสนอแนะและแสวงหาแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศในการก้าวข้ามวังวนความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศไทยที่กินระยะเวลามากกว่า 10 ปีแล้ว ฉะนั้นประสบการณ์และทักษะ รวมถึงบทเรียนการใช้ชีวิตด้านการวิจัยของอาจารย์จึงถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องน่าสนใจ ในโอกาสนี้โครงการปีแห่งการตีพิมพ์และสร้างสรรค์นวัตกรรมจึงได้ถือโอกาสชวนอาจารย์มาพูดคุยในหลากหลายประเด็นทั้งเรื่องการวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์จะตอบโจทย์การพัฒนาประเทศอย่างไร ปรัชญาการเมืองจะช่วยให้เราเข้าใจปัญหาสังคมไทยในปัจจุบันได้มากน้อยเพียงไหน งานวิจัยที่อาจารย์กำลังทำอยู่มีอะไรบ้าง รวมถึงแง่มุม แง่คิดสำหรับนักวิจัยเพื่อให้ฝ่าฟันอุปสรรคทั้งหลายไปได้โดยเฉพาะในงานกลุ่มสังคมศาสตร์

ปรัชญาการเมืองกับการทำความเข้าใจปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย

          ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนว่าตอนแรก ๆ ที่จบการศึกษามาค่อนข้างผิดหวังกับการสมัครงานเพราะจบการศึกษาในเรื่องปรัชญาการเมือง ซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าไหร่นักในสังคมไทย แม้กระทั่งในสถาบันวิจัยในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถาบันทางด้านการออกแบบนโยบาย ซึ่งเขาไม่เข้าใจว่าปรัชญาการเมืองจะมีส่วนช่วยในการทำวิจัยในประเด็นนั้น ๆ อย่างไร แตกต่างจากสถาบันวิจัยในต่างประเทศที่ทุก ๆ สถาบันวิจัยจะมีนักปรัชญาอยู่ในทีมเสมอเพื่อ ก) คอยให้คำปรึกษาหรือช่วยให้การทำงานวิจัยแหลมคมมากยิ่งขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าการมองมิติปัญหาผ่านแว่นปรัชญาการเมืองจะช่วยทำให้เห็นถึงขีดจำกัดของวิธีการรับมือเดิมๆรวมไปถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆของวิธีการที่แหวกแนวกว่าเดิมหรือคาดไม่ถึง และ ข) คอยให้คำปรึกษาเรื่องการถกเถียงเชิงคุณค่าที่แยกออกไม่ได้จากการออกแบบระบบการเมืองหรือร่างนโยบายที่ดีที่สุดหรือยุติธรรมกับทุกฝ่ายทำให้ต้องเบนเข็มทิศมาสมัครอาจารย์มหาวิทยาลัยเพราะคิดว่าอย่างน้อยที่สุดมหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานที่ไกล้เคียงสุดกับอุดมคติของการมี “เสรีภาพทุกตะรางนิ้ว” นั้นก็คือ เสรีภาพที่จะท้าทายองค์ความรู้และวิธีการทำการวิจัยแบบเดิมๆ ผลก็คือ การขยายขอบเขตของความรู้แบบไร้ขีดจำกัดและการเป็นผู้บุกเบิกมุมมองใหม่ๆเสียเอง ซึ่งก็โชคดีว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตอบรับให้ผมเข้ามาเป็นอาจารย์และก็ได้เริ่มงานศึกษาวิจัย

          จำได้ว่าหนึ่งในคำถามที่ผมถูกสัมภาษณ์ในช่วงสมัครเป็นอาจารย์และนำมาซึ่งการทำวิจัยของชิ้นปัจจุบันก็คือคำถามที่ว่า “ปรัชญาสามารถตอบโจทย์ปัญหาการเมืองไทยอย่างไร” ซึ่งตอนนั้นผมก็ตอบถามที่คิดไปซึ่งค่อนข้างจากฉีกกรอบไปพอสมควร นี่เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้หันมาศึกษาและวิจัยเพื่อหาคำตอบของปัญหาการเมืองไทยโดยเฉพาะ จากที่แต่ก่อนจะคุ้นชินกับการวิเคราะห์ตัวหลักปรัชญาแบบโดดๆซักมากกว่า ซึ่งจากการได้ใช้เวลาศึกษาประวัติศาสตร์ตลอดจนการเมืองไทยยุคปัจจุบันโดยส่วนตัวมองว่ามันมีช่องทางให้กับปรัชญาในการเข้าไปมองปัญหาโดยมันอาจช่วยให้เราก้าวข้ามกรอบการแก้ไขแบบเดิม ๆ ที่อาศัยเพียงกรอบทางด้านเทคนิค ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่เรามองข้ามมาตลอด โดยเราพยายามเข้าไปทำความเข้าใจแก่นของปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดการแก้ไขที่ตรงจุดมากขึ้นและส่งผลในระยะยาว

          งานวิจัย ณ ขณะนี้จึงเน้นไปที่การทำความเข้าใจสิ่งที่นักวิชาการมักนิยามแบบผิดๆถูกๆว่า “วิกฤตทางการเมืองระหว่างเหลือง-แดง” โดยเมื่อพิจารณากลุ่มของคนเสื้อเหลืองเป็นต้น ก็เกิดโจทย์ง่าย ๆ ว่าทำไมคนเสื้อเหลืองถึงดูต่อต้านประชาธิปไตยแม้คนส่วนใหญ่จะดูมีเหตุมีผล และเชื่อว่าทั้งสองกลุ่มการเมืองมีอุดมการณ์ที่ยึดโยงอยู่ไม่มากก็น้อย โดยในการศึกษาครั้งนี้เลือกวิเคราะห์อุดมการณ์ทางการเมืองที่อยู่เบื้องหลังเหตุผลของทั้งสองฝ่ายในการทำความเข้าใจทั้งข้อจำกัดและความเป็นไปได้ต่างๆของการเมืองที่ถูกขับเคลื่อนโดยอุดมการณ์ที่ขัดแย้ง ซึ่งตอนนี้งานชิ้นนี้อยู่ระหว่างการรีวิวของคณะกรรมการและคาดว่าจะออกมาให้ทุกคนได้อ่านอีกไม่ช้านี้

ทุนอัดฉีดและการสนับสนุนการตีพิมพ์ในฐานข้อมูลสากลที่มีความชัดเจน

          ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าผมเองค่อนข้างใหม่มากในการเข้ามาเป็นอาจารย์และทำงานวิจัยในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้อาจยังไม่ได้เข้าไปใช้บริการการสนับสนุนต่าง ๆ เกี่ยวกับด้านวิจัยของมหาวิทยาลัย แต่จากที่ได้ศึกษาข้อมูลบางส่วนด้วยตัวเองก็พอเห็นได้ว่ามหาวิทยาลัยของเราค่อนข้างมีความจริงในเรื่องการอัดฉีดเงินทุนสนับสนุนด้านการวิจัย และการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในฐานข้อมูลสากล แต่ปัญหาคือยังขาดประชาสัมพันธ์ที่เป็นระบบและทั่วถึงเพียงพอ ทำให้ในบางเรื่องบางประเด็นอาจารย์และนักวิจัยต้องหาข้อมูลด้วยตนเอง แต่โดยภาพรวมการให้ทุนสนับสนุนก็ถือว่ามหาวิทยาลัยมีอยู่อย่างชัดเจน และไม่ได้จำกัดสาขาว่ามาจากกลุ่มสาขาเป้าหมายหรือไม่ แต่มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับทุกกลุ่มสาขาวิชา

          ในส่วนเรื่องการตีพิมพ์ผลงานบนฐานข้อมูลระดับสากลผมมองว่ามหาวิทยาลัยมีความจริงจังอย่างมาก เห็นได้จากมีการให้ทุนสำหรับนักวิจัยในเรื่องการแปลงานวิจัยเพื่อการตีพิมพ์ นี่สะท้อนให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยของเราพร้อมอย่างยิ่งในการสนับสนุนคณาจารย์และบุคลากรทางด้านการวิจัยที่อาจประสบปัญหาทางด้านภาษาให้สามารถเผยแพร่ผลงานของตนเองได้ในฐานข้อมูลระดับสากล ซึ่งนี่จะส่งผลให้การกระจายองค์ความรู้มีความแพร่หลายมากยิ่งขึ้น ส่วนนี้ผมมองว่านี่เป็นความจริงใจของมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้เพียงตั้งเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการตีพิมพ์โดยโดดเดี่ยวคณาจารย์และบุคลากรทางด้านการวิจัย แต่มหาวิทยาลัยก็มีแนวทางในด้านต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการเผยแพร่ผลงานในฐานข้อมูลสากล

มองมุมใหม่และขยายออกจากกรอบการศึกษาทางด้านสังคมศาสตร์แบบเดิม

          คือถ้าถามว่าจะมีอะไรแนะนำนักวิจัยรุ่นใหม่ที่กำลังทำงานวิจัยในสายสังคมศาสตร์เหมือน ๆ กัน ผมคิดว่างานทางด้านสังคมศาสตร์มีความพิเศษในตัวของมันเอง ในการศึกษาวิจัยมันไม่มีวิธีวิทยาที่ตายตัวและสากล และมากไปกว่านี้หลายต่อหลายโจทย์ปัญหาเป็นโจทย์ปลาย-เปิด หมายความว่า การสถาปนาว่าอะไรผิดหรือถูกอาจเป็นเรื่องที่มีปัญหา แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่านักวิจัยด้านสังคมศาสตร์ควรรู้สึกท้อแท้แต่อย่างใด ตรงกันข้ามนักวิจัยต้องเน้นไปที่การสร้างสรรค์ผลงานวิจัยในมุมมองหรือแง่คิดใหม่ ๆ ไม่ผลิตซ้ำงานวิจัยที่ในแง่มุมหรือที่มีจุดยืนเดิม ๆ ควรมีข้อเสนอที่มีความแปลกใหม่ และหลีกเลี่ยงข้อสรุปแบบมีการแบ่งขาว แบ่งดำ ชัดเจน เพราะในความเป็นจริงทางสังคมมันไม่มีความชัดเจนในการแบ่งแยกขนาดนั้น นักวิจัยสังคมศาสตร์จึงจำเป็นต้องมีความใส่ใจต่อผลของงานวิจัย เพราะมันส่งผลกระทบอย่างมากต่อความคิดและแนวทางการเดินของสังคมในภาพรวมทั้งหมด

          งานวิจัยสังคมศาสตร์ที่มีศึกษาและวิจัยผ่าน ๆ มานั้น ยังคงมีช่องว่างจำนวนมาก ถ้าจะแนะนำก็คือการหยิบเอาช่องว่างและช่องโหว่ที่การศึกษาวิจัยเดิมยังไม่ได้มอง มาทำให้มันแปลกใหม่ เป็นโจทย์ในตัวมันเองที่สามารถนำมาต่อยอดหรือล้มล้างแนวคิดหรือข้อเสนอเดิมๆ นี่ต่างหากที่จะทำให้การศึกษาวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ได้รับความนิยม ได้รับความสนใจ และที่สำคัญก็สามารถตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในเชิงการพัฒนาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในเชิงการแก้ไขปัญหาฐานรากได้เช่นเดียวกับกลุ่มสาขาทางด้านวิทยาศาสตร์ที่สามารถผลิตนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ เพียงแค่เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่สายสังคมศาสตร์คิดค้นขึ้นนั้นมุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงตัวสังคมแบบองค์รวม