Loading...

YPIN Talk Series ครั้งที่ 5 เทคนิคการตั้งโจทย์วิจัยและการเขียนข้อเสนอโครงการแบบสมาร์ท

“การเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยที่ดีต้องตอบวัตถุประสงค์และบริบทของแหล่งทุนที่สนับสนุน”

 

 

          จบไปอีกหนึ่งงานเสวนาสำคัญอย่าง YPIN Talk Series ครั้งที่ 5 ภายใต้โครงการปีแห่งการตีพิมพ์และสร้างสรรค์นวัตกรรมโดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.คมกฤต เล็กสกุล มาแลกเปลี่ยนแผนนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานวิจัยของสำนักงานกองทุนวิจัยแห่งชาติ (สกว.) เสริมด้วยเวทีเสวนาภายใต้หัวข้อ เทคนิคการตั้งโจทย์วิจัยและการเขียนข้อเสนอโครงการแบบสมาร์ท โดย รศ.ดร.ศากุน บุญอิต ตัวแทนจากสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และ ศ.ดร. ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ตัวแทนจากสายวิทยาศาสตร์

แนวโน้มและยุทธศาสตร์การผลักดันงานวิจัยของไทยในอนาคต

          รศ.ดร.คมกฤต เล็กสกุลเริ่มเปิดประเด็นด้วยการแสดงตัวเลขการตีพิมพ์และการอ้างอิงของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศไทย เปรียบเทียบกับประเทศสมาชิกอาเซียน สถิติเหล่านี้สะท้อนให้เห็นแนวโน้มด้านการทำงานวิจัยของประเทศไทย ที่ยังอยู่ในระดับปานกลาง หลายฝ่ายอาจมองว่าการตีพิมพ์เหล่านี้ไม่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาที่แท้จริงได้ แต่ในวงเสวนามองว่าการตีพิมพ์กลับเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ให้กว้างของมากยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ของสาธารณะในอนาคต ในขณะเดียวกันนี่ถือเป็นพื้นฐานสำคัญของบุคลากรทางด้านการศึกษาในมหาวิทยาลัย เพื่อต่อยอดการเรียนการสอน

          การทำวิจัยไม่ใช่เรื่องของภาระแต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ งานวิจัยส่งผลในหลายทางทั้งต่อผู้ทำวิจัย ต่อมหาวิทยาลัย ต่อสังคม และต่อประเทศชาติ จากข้อมูลการตีพิมพ์ในวารสารและฐานข้อมูลประเภทต่าง ๆ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อยู่ในลำดับที่ 8 ของประเทศ ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น่าสนใจอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ

          ความสำคัญอีกประการของการตีพิมพ์คือการต่อยอดสู่การอ้างอิงในงานวิจัยอื่น ๆ ในอนาคต ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการจัดลำดับของมหาวิทยาลัยทั้งในระดับประเทศ และระดับสากล ถึงแม้ว่าการจัดลำดับเหล่านี้จะถูกมองเป็นเรื่องทางพาณิชย์ แต่หากมองอีกทางหนึ่งนี่คือการตรวจสุขภาพทางวิชาการของมหาวิทยาลัย เพื่อให้มหาวิทยาลัยรับรู้ถึงข้อบกพร่อง และจุดอ่อนที่ต้องแก้ไข อันจะนำไปสู่การวางแผนในการพัฒนาและต่อยอดสู่การผลักดันนโยบายในทางปฏิบัติ

          แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเป้าหมายหลักของ สกว. ในการผลักดันให้เกิดการทำวิจัยด้านองค์ความรู้ใหม่ในระดับมหาวิทยาลัยในเกิดการขยายตัวมากยิ่งขึ้น ในปัจจุบันกรอบการทำงานของ สกว. วางอยู่บนพื้นฐานการต่อยอดการพัฒนาประเทศ เพื่อส่งเสริมวิสัยทัศน์ ปี 2580 ที่รัฐบาลต้องการให้ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มียุทธศาสตร์สำคัญถึง 6 ด้าน คือ 1.ความมั่นคง 2. การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน 3. การพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ 4. การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 5. การสร้างความเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ6. การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารภาครัฐ

          สิ่งเหล่านี้ถือเป็นจุดมุ่งเน้นสำคัญสำหรับการให้ทุนสำหรับการทำวิจัยในอนาคตของนักวิจัยที่ต้องการขอรับการสนับสนุนเงินงบประมาณจาก สกว. ในอนาคต ทั้งนี้มีการตั้งเป้าไว้ว่าในอนาคตงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทยต้องมีสัดส่วนถึงร้อยละ 2 ของ GDP เพื่อต่อยอดสู่การผลักดันงานวิจัยสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีคุณภาพในอนาคต ทั้งนี้ในปัจจุบันหน่วยงานเอกชนของไทยเริ่มหันมาให้ความสนใจกับประเด็นนี้มากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เงินงบประมาณด้านการลงทุนและพัฒนาปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตามภาคเอกชนยังไม่มีความเชื่อมั่นในนักวิจัยไทย ส่งผลให้เงินเหล่านี้ยังไม่กระจายตัวมากนัก ซึ่งถือเป็นภารกิจที่ สกว.กำลังเร่งสร้างความเชื่อมั่น

          สุดท้ายนี้เป้าหมายหลักของงานวิจัยอนาคตที่ทุกคนจำเป็นต้องนึกไว้เสมอคือการต่อยอดสู่การพัฒนานวัตกรรมรูปแบบใหม่เพื่อส่งเสริมการเติบโตของประเทศ สามารถแก้ไขปัญหาของชุมชนและสังคม ผ่านทุนประเภทต่าง ๆ ที่ สกว. มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นทุนนักวิจัยรุ่นใหม่ ทุนวิจัยรุ่นกลาง ทุนเมธีวิจัยอาวุโส ทุนศาสตราจารย์ วิจัยดีเด่น สกว. และทุนวิจัยเพื่อต่อยอด โดยสกว. พยายามออกแบบระบบการให้คำแนะนำ (Multi Mentoring System) เพื่อให้ความช่วยเหลือนักวิจัยในการทำงานตั้งแต่การเขียนขอทุนวิจัยจนกระทั่งแนวทางการตีพิมพ์ผลงาน

เริ่มต้นอย่างไรในการเขียนขอทุนวิจัย

          ในส่วนถัดมา ศ.ดร. ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช เริ่มการสนทนาด้วยการแสดงตัวเลขที่น่าสนใจเกี่ยวกับตัวเลขผู้ขอทุนนักวิจัยรุ่นใหม่ของ สกว. ที่ปัจจุบันมีตัวเลขที่ค่อนข้างสูงในหลักพัน แต่ สกว. สามารถให้ทุนได้เพียงในหลักร้อยเท่านั้น กล่าวคือเพียงร้อยละ 30 ของผู้ขอรับการสนับสนุนทั้งหมดเท่านั้นที่ได้รับเงินสนับสนุนในการทำงานวิจัยที่ตนเองสนใจ ทั้งนี้อาจารย์มองว่าการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยนั้นเป็นเรื่องที่นักวิจัยส่วนใหญ่น่าจะทำได้อยู่แล้วเพราะผ่านประสบการณ์ในการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกมาแล้ว อาจารย์มองว่าสิ่งที่นักวิจัยรุ่นใหม่ควรให้ความสำคัญคือความแหลมคมของประเด็นที่ตัวเองต้อง ในขณะเดียวกันต้องรู้บริบทของลักษณะทุนที่ตัวเองกำลังต้องการขอ

          กล่าวคือทุนแต่ละประเภทมีความต้องการที่แตกต่างกัน ไม่สามารถลอกเลียนกันได้ เราไม่สามารถเอาแนวทางการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยจากหน่วยงานหนึ่งมาใช้กับอีกหน่วยงานได้ ฉะนั้นเราต้องเขียนให้สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของแหล่งทุนและหน่วยงานด้วย สิ่งเหล่านี้ช่วยเพิ่มโอกาสในการผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญเมื่อเราสามารถจับประเด็นเหล่านี้ได้แล้ว การเขียนก็จะง่ายขึ้น สามารถจับทิศทางได้ถูก

          อาจารย์เน้นย้ำว่าข้อเสนอโครงการวิจัยที่ดีนั้นต้องมีการประมาณการเรื่องงบประมาณให้มีความเหมาะสม ไม่ทำเกินตัว ที่สำคัญคือต้องทำได้จริง ปัญหาในปัจจุบันของ สกว. โดยเฉพาะในกลุ่มทุนนักวิจัยรุ่นใหม่คือมีเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่ทำการปิดทุนตามกำหนดเวลา ซึ่งสาเหจุสำคัญมาจากนักวิจัยจำนวนมากไปต่อไม่ได้จริงตามแนวทางที่เขียนเสนอมา ทั้งที่การปิดทุนอาศัยเพียงการตีพิมพ์บทความวิจัยเท่านั้น โดยในสายวิทย์ต้องเป็น Q1 หรือ Q2 และสำหรับสายสังคมศาสตร์ต้องการการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติที่ สกว. ให้การรองรับ

          ข้อแนะนำคือนักวิจัยรุ่นใหม่ควรต่อยอดจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของตนเอง ที่มีความรู้ตกค้างเยอะแยะมากมายที่สามารถต่อยอดได้ เพราะเราต้องคิดว่าการเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกนั้นถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับความรู้ที่เราศึกษา การต่อยอดจากสิ่งเหล่านี้จึงไม่ใช่เรื่องยาก ที่สำคัญเรามีความเชี่ยวชาญและคุ้นชิ้น การทำงานวิจัยจะสามารถดำเนินการไปได้จนประสบความสำเร็จ

          สอดคล้องกับ รศ.ดร.ศากุน บุญอิต ที่มองว่านักวิจัยควรต้องมองวัตถุประสงค์ของแหล่งทุนเพื่อประกอบการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัย สิ่งนี้จะช่วยให้นักวิจัยสามารถเขียนโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตอบโจทย์ผู้ประเมินและหน่วยงานที่ให้ทุนการวิจัย เราต้องบูรณาการงานวิจัยที่เราต้องการเสนอให้เข้ากับยุทธศาสตร์หรือเป้าหมายของหน่วยงาน เพื่อเพิ่มโอกาสในการขอทุนให้มากยิ่งขึ้น

          สำหรับสายสังคมศาสตร์นั้น อาจารย์มองว่าปัญหาเรื่องการผลักตัวเองจากความเป็นวิทยาศาสตร์กำลังกลายเป็นปัญหาการขาดการศึกษาแนวทางการพัฒนาการวิจัยในรูปแบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งส่วนตัวอาจารย์เองเอาแนวทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการพัฒนาโครงการวิจัยของตนเอง นำมาซึ่งการขอรับทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยในการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ ในลักษณะเดียวกับห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ของกลุ่มวิศวกรรมศาสตร์ อาจารย์มองว่าคนที่ทำงานวิจัยในสายสังคมศาสตร์คือนักวิทยาศาสตร์ที่เปลี่ยนพื้นที่การศึกษาเท่านั้นเอง ฉะนั้นการแยกขาดตัวเองจากองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์จึงไม่ถูกต้องนัก แต่ควรเรียนรู้ในลักษณะคู่ขนาน

เขียนข้อเสนอโครงการวิจัยแบบไหนให้ตรงใจผู้ประเมิน

          ในทัศนะของ รศ.ดร.ศากุน บุญอิต อาจารย์มองว่านักวิจัยควรเริ่มต้นจากมองว่าอะไรคือวัตถุประสงค์หลักของทุนวิจัยนั้น ๆ ซึ่งสามารถแบ่งประเภทได้ง่าย ๆ เป็น 2 กลุ่มทุนคือ 1. กลุ่มทุนที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ และ2. กลุ่มทุนที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการนำไปใช้และพัฒนานวัตกรรม ทั้งสองกลุ่มทุนจะมีแนวทางการเขียนข้อเสนอที่แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งสำคัญคือนักวิจัยต้องเริ่มต้นจากการสะท้อนปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน และอะไรคือสิ่งที่เราต้องการเสนอภายใต้กรอบทฤษฎีที่มีอยู่

          ในทางเดียวกันกับ ศ.ดร. ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ที่เสนอว่านักวิจัยต้องรู้ก่อนว่าการทำวิจัยคือการค้นหาสิ่งใหม่ ฉะนั้นต้องเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยให้ผู้ประเมินรู้ว่าเราต้องการเสนออะไรใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน หรือสะท้อนให้เห็นว่าการศึกษาที่ผ่านมามันมีปัญหาอย่างไรบ้าง แล้วงานที่เรากำลังจะศึกษามันสำคัญอย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นจุดแรก ๆ ที่ผู้ประเมินให้ความสนใจ อย่าตั้งชื่อกว้างหรือแคบจนเกินไป จนส่งผลต่อการต่อยอดงานวิจัยในอนาคต ที่สำคัญภาพรวมการทำงานวิจัยในอนาคตจะข้ามศาสตร์มากขึ้น การสร้างความสัมพันธ์และเครือข่ายทางวิชาการเป็นเรื่องจำเป็น อย่างทุนบูรณาการที่มีงบประมาณจำนวนมากนั้น จำเป็นต้องอาศัยนักวิจัยจากหลากหลายคณะมากขึ้น ซึ่งทุนนี้น่าสนใจ

          ปิดท้ายด้วย รศ.ดร.คมกฤต เล็กสกุล ที่เสนอแนะแนวทางการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยภายใต้หลักการ 2Cคือ 1. Convince และ 2. Contribution กล่าวคือนักวิจัยต้องสามารถบอกให้ได้งานวิจัยของตนเองจะสร้างประโยชน์อย่างไรให้ประเทศและสังคมได้บ้าง ในขณะเดียวกันต้องมีข้อมูลเบื้องต้นที่สนับสนุนปัญหาเหล่านั้นให้เกิดการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ประเมินในการอนุมัติทุนในการสนับสนุนการทำงานวิจัยชิ้นนั้น ๆ