Loading...

CICM จัดเสวนา การจัดการเชื้อ COVID-19 ในฐานะโรคประจำถิ่น

วิทยาลัยแพทย์นานาชาติจุฬาภรณ์ จัดเสวนาแลกเปลี่ยนความคิด สถานการณ์ COVID-19 กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

วันศุกร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ.2565

     เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานสัมมนาออนไลน์ ในหัวข้อ “การวางแผนนโยบายทางสาธารณสุขในการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์การระบาดของเชื้อ COVID-19” ซึ่งกำลังจะถูกเปลี่ยนเป็นโรคประจำถิ่น โดยได้รับเกียรติจาก อดีตนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ น.พ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมบรรยายและอภิปรายในครั้งนี้ โดยมี ศ.ดร.นพ.อดิศว์ ทัศณรงค์ คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้กล่าวเปิดการสัมมนา

     ศ.ดร.นพ.อดิศว์ ทัศณรงค์ คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นบุคลากรด้านสาธารณสุขทางการแพทย์ก็ได้พบเจอกับการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มาเป็นเวลา 2 ปีกว่าแล้ว ทำให้เราได้เรียนรู้ถึงการป้องกันตัว การติดเชื้อ การได้รับวัคซีนนะครับ การรักษาอื่น ๆ ที่เป็น New Technology หรือว่านวัตกรรมใหม่ ๆ แล้วก็รวมทั้งได้เรียนรู้ว่าการพัฒนาของโรคเป็นยังไง การจะทำให้โรคจาก Step Up ขึ้นมา เป็น Step Down ได้อย่างไร จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ร่วมเสวนาว่าในอนาคตต่อไปไวรัสโคโรนา 2019 จะเป็นอย่างไรครับ

     นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย กล่าวว่า วันนี้ธงมันไปสู่การบอกว่าโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะปรับไปสู่การเป็นโรคประจำถิ่น หรือ Endemic แต่ข้อเท็จจริงหรือการสื่อสารผมว่ามีความสุ่มเสี่ยงที่ทำให้ประชาชนทั่วไปอาจจะเข้าใจผิด เพราะจริง ๆ มันเป็นเรื่องเทคนิค “โรคประจำถิ่น” พอคนไม่เข้าใจก็จะซักถามว่ามันคืออะไร ในที่สุดส่วนใหญ่ก็จะยกตัวอย่าง เช่น ไข้หวัด ซึ่งก็เลยสื่อสารไปผิด เพราะว่าจริง ๆ ความรุนแรงของโรคมันอาจจะไม่ได้ลดลงเลย แล้วที่จริงขณะนี้ถ้าดูตัวเลขคนที่ปอดอักเสบและคนที่ใช้เครื่องช่วยหายใจก็ยังขาขึ้น สัดส่วนของคนที่พบการติดเชื้อเทียบกับการตรวจก็ยังอยู่ในระดับที่ถือว่าสูงมากนะครับ เพราะฉะนั้นมันยังไม่ได้มีอะไรที่บ่งบอกของการที่จะเป็นโรคประจำถิ่นตามคำจำกัดความหรือทางเทคนิคจริง ๆ

     นายอภิสิทธิ์ กล่าวเสริมว่า แต่สิ่งที่มันเป็นแรงกดดันเป็นเพราะว่าวันนี้เสมือนกับทุกประเทศ อาจจะยกเว้นจีน ยอมรับแล้วว่าการจะทำให้โควิดมันหายไปเนี่ย มันทำไม่ได้ ดังนั้นก็ต้องอยู่กับมัน คำว่า “อยู่กับมัน” เลยมาสับสนกับคำว่ามันเป็นโรคประจำถิ่นหรือเปล่า ผมก็มีข้อเสนอนะครับ ว่าเรากำลังพยายามทำอะไร สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าจำเป็นต้องทำให้มากที่สุดก็คือ ให้คนรู้สถานการณ์ที่แท้จริง เราคิดว่ามันจะปรับเข้าไปสู่โรคประจำถิ่นได้ เพราะจริง ๆ โดยหลักก็คือว่าเราได้ทำให้คนของเราเนี่ยมีภูมิคุ้มกันสูงในระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งหมายถึงทั้งคนที่ฉีดวัคซีนครบ ได้รับเสริม booster บวกกับคนที่เคยติดเชื้อ หรือผสมผสานกัน

     แต่อย่าลืมนะครับว่าสัดส่วนตรงนี้เนี่ยก็ยังไม่ได้สูงขนาดที่จะพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าสามารถควบคุมการระบาดได้ ที่สำคัญที่สุดก็คือ แต่ละกลุ่มแต่ละคนมีความเสี่ยงไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นถ้าเราบอกคนหนุ่มสาวเขาใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่บังเอิญในสังคมเราเขากลับบ้านไปก็เจอคุณพ่อ คุณแม่ คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ความเสี่ยงไม่เท่ากัน ฉะนั้นผมกลับมองว่าวันนี้สิ่งที่รัฐเองควรจะพยายามทำมากที่สุดคือเอาข้อมูลออกมาให้ประชาชนได้รู้ เพื่อสื่อสารให้สังคมรู้ว่าการที่จะอยู่กับโควิด จะเรียกโรคประจำถิ่นหรือไม่เนี่ย เขายังต้องใช้ความระมัดระวังอย่างไร มันไม่ใช่ว่าเป็นโรคประจำถิ่นแล้ววางใจได้ จะไม่เสียชีวิตกัน

     น.พ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ถ้าดูในบริบทของการรับมือโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในปีที่ 2 คือปีที่แล้ว เราก็พึ่งพาวัคซีนมากขึ้น ขณะที่เราก็ผ่อนคลายมาตรการในการที่จะจำกัดต่าง ๆ สถานประกอบการเริ่มมีการเปิดให้บริการ ยกเว้นเรื่องสถานที่เสี่ยงสูงสุด ก็คือประเภทผับ บาร์ แล้วประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการสวมหน้ากากในเปอร์เซ็นต์ที่สูงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคม กุมภาพันธ์ ปี 2563 จนกระทั่งถึงขณะนี้ 2 ปีกว่าแล้ว จากเดิมที่หน้ากากอนามัย หน้ากากผ้าไม่ได้เป็นวัฒนธรรมไทย แต่ตอนนี้ออกจากบ้านขาดไม่ได้ ซึ่งอันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งจุดแข็งที่ทำให้เราสามารถที่จะลดการติดเชื้อได้ วัคซีนคือเราเอาไว้ป้องกันภายในร่างกายหลังจากที่เชื้อเข้าไปแล้ว ดังนั้น ถ้าเราดูการทำงานในช่วงปีแรก นโยบายของประเทศไทยก็จะเป็นแนวที่เราจะป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อในประเทศ ซึ่งก็คือมีมาตรการอย่างเข้มงวดที่บริเวณช่องทางเข้าออก แล้วในประเทศเองก็มีมาตรการที่ค่อนข้างจะเข้มงวดสำหรับการป้องกันการติดเชื้อ

     ทีนี้ผมมาดูในส่วนที่เป็นเรื่องของการเตรียมการในระยะสัก 4 เดือนข้างหน้านี้ จะเห็นว่าสถานการณ์ตัวเลขของผู้ป่วยปอดอักเสบยังเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ไม่สูงมาก ทุกวันนี้เรามีอยู่ประมาณพันกว่ารายที่เป็นปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจอยู่สัก 400-500 ราย เมื่อเทียบกับปีที่แล้วตอนที่เราประสบกับการระบาดด้วยสายพันธุ์เดลตา ตอนนั้นเรามีผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจสูงสุดถึง 5,000 คน ถ้าเรายังรักษาสภาพ ดูแลการฉีดวัคซีน ป้องกันคนที่ป่วยแล้วมีความเสี่ยงเสียชีวิตให้ได้รับยาที่เร็ว และได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดก็น่าจะลดโอกาสการพบผู้ป่วยเสียชีวิตได้ มาตรการที่เราเตรียมก็มีทั้งด้านการสาธารณสุข การแพทย์ ด้านกฎหมายและสังคม และการสื่อสารประชาสัมพันธ์ โดยช่วง 4 เดือนข้างหน้านี้ ช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่ยังเป็นขาขึ้น เราก็เลยต้องสู้กับมันอยู่ ส่วนช่วงที่เราคาดว่าจะถึงจุดสูงสุดซึ่งมันจะไม่ได้เป็นจุดแหลม แต่อาจจะเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่งซึ่งตรงนี้เราคาดว่าจะเป็นช่วงหลังสงกรานต์ และถ้าหากเป็นไปตามที่คาด ไม่มีสายพันธุ์ตัวใหม่ ๆ มาอีก เราก็น่าจะเข้าสู่ช่วงที่เราสามารถจะจัดการมันแบบ Endemic disease

     “ทั้งหมดนี้ก็ถือว่าเป็นภาพที่เราพยายามฉายให้ประชาชนได้เข้าใจถึงทิศทางไปในอนาคตอีกระยะหนึ่ง สัก 3-4 เดือน แต่จริง ๆ แล้ว ระยะเวลาที่แท้จริงยังไม่มีใครทราบ มันอาจจะเร็วกว่านั้นก็ได้ หรือถ้าเกิดโชคร้ายมีสายพันธุ์ใหม่อาจจะทำให้ต้องเลื่อนเวลาไป แต่มันก็ทำให้เรามีความหวังว่าเรากำลังจะออกจากจุดที่เป็นความเครียดได้” น.พ.โสภณ กล่าวทิ้งท้าย