Loading...

“เมืองป่วย ต้องปรับ” จับเข่าคุยอาจารย์ผังเมือง เรื่องไหนกรุงเทพฯ ต้องเร่งแก้!

 

การใช้ชีวิตของคนในเมืองล้วนเชื่อมโยงกับผังเมือง และผังเมืองที่ดีต้องคำนึงถึงผู้อยู่อาศัย เพราะชีวิตของคนในเมืองจะสะท้อนการวางผังเมืองได้อย่างชัดเจน

วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565

     ปัญหาการจราจร ปัญหาน้ำท่วมขัง หรือแม้แต่ปัญหาที่อยู่อาศัยที่ชาวกรุงเทพฯ ต้องเผชิญอยู่ จะสามารถแก้ไขได้จริงหรือ?

     ใครว่า “ผังเมือง” ไม่สำคัญ... ผังเมืองทุกแห่งได้ผ่านการคิดวิเคราะห์ในทุกมิติอย่างหลากหลาย เพื่อให้คนในเมืองนั้น ๆ ได้ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ซึ่งผังเมืองต้องคำนึงถึงผู้อยู่อาศัยจริง ๆ เพราะว่าการใช้ชีวิตของคนในเมืองกรุง ล้วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับผังเมืองทั้งสิ้น และชีวิตของคนในเมืองยังสะท้อนถึงการวางผังเมืองได้อย่างชัดเจน

     รศ.ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ อาจารย์สาขาวิชาการผังเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า ผังเมืองเป็นเครื่องมือหนึ่งของรัฐในการเข้าไปพัฒนาเมืองในมิติต่าง ๆ โดยมี 3 เรื่องหลักที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิต ได้แก่ 1. ผังเมืองกำหนดเรื่อง Public Policy หรือนโยบายสาธารณะ คือนโยบายในการกำหนด Location หรือตำแหน่งต่าง ๆ ของกิจกรรมคนในเมือง เช่น พื้นที่นี้เป็นสถานที่อยู่อาศัย พื้นที่นี้เป็นแหล่งงาน เช่น ต้องการเปิดบริษัทหนึ่ง จะต้องเลือก Location ว่าพื้นที่นี้ควรเปิดบริษัทประเภทใดได้บ้าง หรือแม้แต่โรงเรียน โรงพยาบาล สาธารณูปโภคอื่น ๆ นโยบายสาธารณะจะเข้าไปกำหนดตำแหน่งกิจกรรมต่าง ๆ ที่เราใช้ชีวิตประจำวันอยู่

     2.ผังเมืองกำหนดเรื่อง Public Service หรือบริการสาธารณะ เช่น การก่อสร้างถนน BTS MRT ขนส่งสาธารณะ ทางเดินรถเมล์ หรือแม้แต่ทางเดินเท้า บริการเหล่านี้จะนำเราไปสู่จุดหมายต่าง ๆ

     และ 3. การดำเนินการ (Operation) เมื่อผังเมืองเข้าไปกำหนด Public Policy และ Public Service แล้ว จะมีเรื่องค่าใช้จ่ายในการใช้บริการสาธารณะตามมา (Operation) เช่น การเดินทางจากบ้านไปที่ทำงาน มีความใกล้ไกลแค่ไหน จะออกมาในเชิงของ Operation ว่าจะมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ผังเมืองยังไปกำหนดอ้อม ๆ ว่าเราจะมีค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตในเมืองอย่างไร กำหนดต้นทุนของการใช้ชีวิตในเมือง ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่าเช่าบ้าน หรือค่าน้ำค่าไฟ เชื่อมโยงกับการใช้ชีวิตโดยตรง

     “ผังเมืองเป็นเครื่องมือของรัฐที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการใช้ชีวิตในทุกมิติ โดยสะท้อนออกมาในเชิงของค่าใช้จ่ายคนในเมือง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับรัฐว่าสามารถใช้ผังเมืองให้เข้าไปแทรกแซงกลไกตลาดได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อให้ค่าใช้จ่ายของคนในเมืองจ่ายไหว”

     รศ.ดร.วิจิตรบุษบา ได้ยกตัวอย่างถึงปัญหาของคนทั่วไป เช่น “ปัญหารถติด” มันคือการกำหนด Public Policy ในเรื่องของ Location การให้มีแหล่งงานใกล้บ้าน การให้มีบ้านที่จ่ายไหวใกล้กับแหล่งงาน คนไม่ต้องเดินทางไกล จะช่วยแก้ปัญหารถติดได้ ปัจจุบันคนออกมาอยู่ไกลแหล่งงาน เพราะต้องอยู่ชานเมืองในราคาที่พักอาศัยที่จ่ายไหว

    “ชานเมืองในบ้านเราเป็นที่อยู่อาศัยอย่างเดียว ไม่ได้เป็นแหล่งงานที่เป็นทางเลือกของคนอยู่ชานเมืองจริง ๆ หากมองในบางประเทศ จะเห็นได้ว่าชานเมืองไม่ใช่แค่การอยู่อาศัยอย่างเดียว แต่มีแหล่งงานที่เหมาะกับคนที่เริ่มมาอยู่ชานเมืองด้วย เพราะฉะนั้นมันจะลดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนในการเดินทาง และค่าที่อยู่อาศัย”

     เราต้องมองภาพรวมการพัฒนาเมืองว่า “กรุงเทพฯ ไม่ควรโตไปกว่านี้แล้ว” ต้องกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค เพื่อลดความแออัด ความแออัดจะทำให้คนใช้ทรัพยากรเยอะขึ้น และรัฐจะเข้าไปแทรกกลไกตลาดไม่ได้ ไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัญหาของคนเมืองในอนาคตอย่าง “คุณภาพสิ่งแวดล้อมแย่ลง ฝุ่นควัน น้ำท่วม” เหล่านี้จะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น แต่มันคือการกระจายความเจริญ กระจายแหล่งงาน การจัดให้มีที่อยู่อาศัยที่คนจ่ายไหว โดยไม่ต้องผลักให้ไปอยู่ในพื้นที่ที่ไกล พวกนี้ผังเมืองจะแก้ได้ อาจารย์สาขาวิชาการผังเมือง กล่าว

     อาจารย์สาขาวิชาการผังเมือง กล่าวอีกว่า เราต้องอ่านพฤติกรรมของคน และอ่านอนาคตให้ออก ในอนาคตพฤติกรรมคนเมืองจะเปลี่ยนไป แรงงานที่สำคัญในภาคธุรกิจในอนาคตที่จะอยู่ในเมืองกว่า 50% คือ Gen Y และ Gen Z ในภาพรวมคนเหล่านี้จะเลือกเมืองที่เราสามารถใช้ชีวิตได้ไหว เมืองใหญ่อาจไม่ตอบรับกับความต้องการของคนยุคใหม่

     “ส่วนตัวมองว่า เมืองต้องเปลี่ยนทิศทางการลงทุน ต้องดูเรื่องความต้องการของคนที่อยู่ในเมืองจริง ๆ ดูเรื่อง Social Infrastructure เยอะขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องถนน หรือการเดินทาง ต้องดูว่าทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่อยากมาอยู่ในพื้นที่นี้ เป็นเรื่องยาก แต่สำคัญมาก ในกรุงเทพฯ เป็นเมืองโตเดี่ยวก็เลยล้มละลายยาก แต่ต่างประเทศในแต่ละเมืองจะแข่งขันกัน มันจะมีบางเมืองที่ล้มละลาย เพราะประชากรย้ายออก โครงสร้างพื้นฐานที่วางไว้ไม่มีคนใช้ สุดท้ายล้มละลาย”

        รศ.ดร.วิจิตรบุษบา กล่าวถึงการกระจุกตัวของพื้นที่งานที่อยู่ในเมืองว่า เมื่อเราวางผังเมือง เราพยายามกระจายย่านธุรกิจไปตามชานเมือง เช่นในย่านธุรกิจใหม่ชานเมืองอย่างบางซื่อ แต่นักธุรกิจมองกลับกัน ศักยภาพอาจไม่มากพอ เพราะอาจเป็นเรื่องของถนนแคบ ความเป็นชุมชน หรือมิติต่าง ๆ หากกล่าวว่าผังเมืองไม่ชี้นำการพัฒนาเมืองจริง ๆ มันก็มี ไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ แต่เป็นระดับประเทศ จะสังเกตได้ว่ากรุงเทพฯ มีการกระจุกตัวของการพัฒนา เมื่อเราวางผังเมืองในจังหวัดที่เป็นเมืองใหญ่ให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ หลายอย่างไม่ได้ดึงดูดการลงทุนจริง ๆ นักลงทุนจึงมาที่ศูนย์กลาง ซึ่งอาจจะมองได้ถึงความเหลื่อมล้ำในการกระจายการพัฒนาเช่นกัน

     จุดเด่นของกรุงเทพฯ ในแง่ของผังเมือง รศ.ดร.วิจิตรบุษบา มองว่า แต่ละเมืองมีบริบทต่างกัน อย่างกรุงเทพฯ มีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานโตมาจากพื้นที่เกษตร ระบบคูคลอง แม่น้ำ ย่านของคนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งทางกรุงเทพฯ พยายามดำเนินการเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนเดิม เช่น การเชื่อมวิถีชีวิตแบบเดิมแบบใหม่ แบบเดิมคือตั้งวิถีชีวิตริมน้ำ แบบใหม่คือมีรถไฟฟ้า โดยใช้คอนเซปต์ “ล้อ ราง เรือ” เชื่อมหลายจุดให้สมดุลกัน เพิ่มความสะดวกให้คนเดินทางผ่านบริการสาธารณะ

     แต่สิ่งที่คาดหวังมากกว่านั้นคือ “การจัดการที่ดิน” ปัจจุบันที่ดินราคาแพงขึ้น ชุมชนจะอยู่ได้อย่างไร เพราะวิถีชีวิตแบบเดิมไม่ใช่แค่การเดินทาง แต่มีการประกอบอาชีพในชุมชนรอบ ๆ หากสังเกตได้ว่า เมื่อเรามีรถไฟฟ้า ชุมชนที่อยู่รอบ ๆ หรือเป็นย่านจะค่อยๆ หายไป การจัดการที่ดินจะต้องเอื้อให้ชุมชนเดิมในพื้นที่อยู่ได้ ไม่เช่นนั้นเมืองเราจะไม่มีรากฐานวัฒนธรรม ไม่มีรากฐานชีวิตเดิม ทุกอย่างราคาสูง และสุดท้ายเราจะอยู่ไม่ไหว

     “อาจารย์ได้รับทุนจากรัฐบาลอังกฤษ ให้ทำโครงการ Global Future Cities Programme ทำงานร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาของอังกฤษที่เข้ามาวางผังให้ และร่วมกับกรุงเทพฯ คือการพัฒนาพื้นที่รอบขนส่งมวลชน เรียกว่า Transit Oriented Development หรือ TOD คือเมื่อเรามีรถไฟฟ้า ถ้าไม่เกิดการเอาผังเมืองเข้าไปแทรกแซงกลไกตลาด ที่ดินจะแพงขึ้น ทำให้ชุมชนอยู่ไม่ได้ โครงการนี้เรานำร่องที่สถานีบางหว้า มีคอนเซปต์คือ ส่งเสริมความเท่าเทียมด้วย หรือ Equitable TOD เพื่อรองรับ Social Infrastructure อย่างพื้นที่สาธารณะ Community Center รวมถึงชุมชนเก่า และวัด” อาจารย์สาขาวิชาการผังเมือง กล่าว

     ตัวอย่างผังเมืองที่วางโครงสร้างไว้ดี หากในประเทศเรามองไปที่ จ.อุดรธานี ซึ่งมีการผลักดันพื้นที่สาธารณะเยอะมาก หรือ จ.เชียงใหม่ ที่ภาครัฐกับภาคประชาสังคมทำงานร่วมกันเข้าไปพัฒนาพื้นที่

     ส่วนในต่างประเทศ อย่างประเทศเกาหลี ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องข้อมูลเมือง ไม่ใช่แค่ประชากร แต่ใช้ทุกอย่างเพื่อมาวางแผนวางผัง ข้อมูลต้องอัปเดตตลอดเวลา เพราะพฤติกรรมคนในอนาคตจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เมืองต้องตอบสนองคน ต้องเอาคนเป็นตัวตั้ง

     ประเทศญี่ปุ่น มีการตั้งถิ่นฐาน ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ที่เบลนด์เข้าด้วยกัน เราจะเห็นว่าภาคโรงงานอยู่กับภาคเกษตรได้ ซึ่งเขาคิดแล้วว่าตรงนี้สามารถตั้งโรงงานได้แบบไหน แล้วชุมชนอยู่ได้อย่างไร ที่เกียวโตจะเห็นได้ชัดเจน เมืองเก่าเมืองและใหม่อยู่ร่วมกันได้อย่างน่าสนใจ และยังมีการพัฒนาเมืองเชื่อมชนบท เช่น เราอยู่ในเมืองใหญ่เราใช้น้ำจากชนบท คนในเมืองต้องจ่าย tax เพื่อนำ tax ไปฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำในชนบท หรือการแลกเปลี่ยนประโยชน์ระหว่างเมืองซึ่งกันและกัน เพื่อให้ทุกเมืองอยู่ได้

     “สำหรับกรุงเทพฯ เราจะวิ่งตามปัญหาไม่ได้ เราต้องแก้ปัญหา ต้องเห็นภาพอนาคตว่าเราอยากให้คนแบบไหนมาอยู่อาศัย แต่ทุกอย่างยังต้องเชื่อมโยง เพื่อลดปัญหาในอนาคต และแก้ปัญหาในปัจจุบันด้วย ต้องแก้ไปพร้อม ๆ กัน ถ้าอยากให้กรุงเทพฯ มีเศรษฐกิจดี คนที่มาแก้ปัญหาต้องเห็นปัญหาจริง ๆ” รศ.ดร.วิจิตรบุษบา กล่าวทิ้งท้าย