Loading...

BBA ธรรมศาสตร์ โชว์ฝีมือ แก้ปัญหาธุรกิจ ในเวทีการแข่งขันกรณีศึกษาทางบัญชีระดับประเทศครั้งที่ 5 ประจำปี 2564 - Thailand Accounting Case Competition 2021

นักศึกษาหลักสูตรนานาชาติ BBA คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากการแข่งขัน Thailand Accounting Case Competition 2021

วันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2564

     ทีม FamTP consulting ประกอบด้วย นายอนล ตันตยานนท์ นางสาวจันทปภา แสงแก้วศรี นางสาวพัธ ศรีเมฆารัตน์ นางสาวพิชญา อัศวก้องเกียรติ และนายทัศ ศรีสุนทร นักศึกษาโครงการปริญญาตรีบริหารธุรกิจ หลักสูตรนานาชาติ (BBA) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้คว้ารองชนะเลิศอันดับ 1 จากการแข่งขันกรณีศึกษาทางบัญชีระดับประเทศครั้งที่ 5 ประจำปี 2564 - Thailand Accounting Case Competition 2021 จัดโดย สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์

     นายอนล ตันตยานนท์ กล่าวว่า ทางทีมมีความมุ่งมั่นและตั้งใจไว้อยู่แล้วว่าจะมาลงแข่ง เนื่องจากทางทีมก็ได้ลงเเข่งปีที่แล้ว แล้วรู้สึกประทับใจกับประสบการณ์รอบก่อน รอบนี้ทางทีมจึงกลับมาพร้อมความตั้งใจที่เพิ่มขึ้นครับ โดยโจทย์ของการแข่งขันปีนี้ คือ กรณีศึกษาของ บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) โดยโจทย์ถูกแบ่งเป็น 6 ข้อ ประกอบด้วย

     1. การวิเคราะห์ธุรกิจผ่านรายงานทางการเงินและข้อมูลอื่น ๆ

     2. วิเคราะห์ และนำเสนอนโยบายการบริหารต้นทุนทางการเงิน พร้อมกับการบริหารความเสี่ยง

     3. เสนอแนะรายงานสำหรับผู้บริหาร ซึ่งใช้ในการดำเนินงานระยะสั้นและใช้ในการประเมินและวิเคราะห์ผลการดำเนินงานรายปีด้วย

     4. วิเคราะห์โอกาสและความเสี่ยงจากการใช้โอเพนซอร์ซเทคโนโลยี พร้อมกับเสนอแนวทางการจัดการความเสี่ยง

     5.ประเมินกิจกรรมหรือการดำเนินธุรกิจของโกลบอลเฮ้าส์ ผ่าน SDGs พร้อมเสนอ CSV เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของธุรกิจและเพิ่มความภักดีของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

 และ 6. วิเคราะห์กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของโกลบอลเฮ้าส์ผ่านปัจจัยต่าง ๆ รวมถึงเสนอกลยุทธ์ในการเติบโตเพื่อให้โกลบอลเฮ้าส์บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

     นางสาวจันทปภา แสงแก้วศรี กล่าวเสริมว่า พวกเราเริ่มจากการตีโจทย์ร่วมกันกับทีม เมื่อได้ข้อสรุปที่เห็นตรงกันแล้ว ก็ต้องมีการแบ่งงานให้ตรงกับความถนัดของแต่ละคน นัดหมายเวลางาน เมื่อทุกคนทำเสร็จ เราก็กลับมาให้ Feedback ซึ่งกันและกัน ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนได้ผลงานที่ดีที่สุดออกมาค่ะ ส่วนคำถามของปีนี้ ทีมเรายอมรับว่าเป็นความท้าทาย แต่โชคดีที่สมาชิกในทีมเรามีความสนิทสนมกันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เวลาคุยหรือทำงานร่วมกัน จึงเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้การวิเคราะห์โจทย์ในครั้งนี้เป็นไปด้วยความราบรื่น ถือว่าทุกคนมีความสามัคคี ร่วมมือกันอย่างเต็มที่ค่ะ

     “เนื้อหาที่ได้เรียนมาจากในห้องเรียนทางทีมได้เอามาใช้หลัก ๆ ก็น่าจะเป็น Valuation Model กับเรื่อง TFRS ครับ เอาจริง ๆ เพื่อสร้างเนื้อหาในการตอบโจทย์การแข่งขันอย่างคุณภาพ ผมว่าวิชาที่ได้เรียนมาจากในห้องเรียนเป็นแกนหลักสำคัญในการประยุกต์ให้เข้ากับกรณีศึกษาในการแข่งขันครั้งนี้เลยครับ” นายทัศ ศรีสุนทร กล่าว

     นางสาวพัธ ศรีเมฆารัตน์ เผยว่า สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการแข่งขันครั้งนี้ คือ ความรู้ในการพัฒนาต่อยอดในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านของวิธีการบริหารเวลา การแบ่งหน้าที่ เนื้อหาที่แต่ละคนถนัดเฉพาะด้าน ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้เวลาที่จำกัดและด้วยสถานการณ์ สภาพแวดล้อมที่เข้มข้นรายล้อมไปด้วยการแข่งขันจากทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย สิ่งสำคัญที่สุดที่ขาดไม่ได้เลยคือเรื่องพลังของทีมเวิร์กค่ะ ถ้าไม่มีเพื่อนในทีม คงไม่ได้มาไกลขนาดนี้แน่นอนค่ะ

     “สุดท้ายขอขอบคุณทุกคนที่เป็นกำลังใจให้พวกเราในการแข่งขันครั้งนี้ ขอบคุณเพื่อนร่วมทีมที่ช่วยให้กำลังใจซึ่งกันและกันเวลาที่พบเจออุปสรรค ขอขอบคุณสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ที่จัดงานแข่งนี้ขึ้นมา ทำให้พวกเราได้มีโอกาสนำความรู้ในห้องเรียนมาปรับใช้กับสถานการณ์ที่กำหนด และพวกเราคงมาไม่ได้ขนาดนี้ถ้าไม่ได้ความช่วยเหลือจาก อาจารย์ ดร.วรพงษ์ จันยั่งยืน ที่มาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาให้กับทีม ขอขอบพระคุณมากค่ะ” นางสาวพิชญา อัศวก้องเกียรติ กล่าวทิ้งท้าย